ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่2จังหวัด ลุยแหล่งน้ำ/จัดการขยะมูลฝอย

23 พ.ค. 2559 | 07:00 น.
เมื่อเร็วๆ นี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ร่วมเกาะติดการแก้ปัญหาให้กับประชาชนของ ผู้ตรวจการแผ่นดิน นำทีมโดย ศ.ศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมคณะ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบและร่วมหาทางออกใน 2 จังหวัด คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี
+ขีดเส้น กรมน้ำบาดาล เร่งแก้ไขใน 30 วัน

จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ บริเวณสถานีสูบน้ำบาดาล บ่อที่ W02 บ้านยางใหญ่ หมู่ 6 ตำบลท่าขึ้น อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่า ประชาชนได้ความเดือดร้อนไม่สามารถใช้น้ำ จากการดำเนินโครงการนำร่องการจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมกับน้ำผิวดินของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งได้ดำเนินโครงการจัดทำแผนบูรณาการน้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดินทั่วประเทศ วงเงินรวมกว่า 82 ล้านบาท โดยพื้นที่ตำบลท่าขึ้น อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องการจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดินในพื้นที่ที่ 4 พื้นที่ภาคใต้

บริเวณดังกล่าว กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนศึกษาโครงการฯ พร้อมดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาล รวมทั้งสิ้น 15 บ่อ เป้าหมายพื้นที่ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 1,200ไร่ ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2552 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2554 ใช้งบประมาณกว่า 22 ล้านบาท ซึ่งได้เบิกจ่ายงวดสุดท้ายไปแล้ว แต่ปัจจุบันชาวบ้านยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้

นายอำนวย ยุติธรรม รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าขึ้น ผู้แทนประชาชนตำบลท่าขึ้น อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรณีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมีบริษัทเอกชนรายหนึ่งเข้ามาเป็นคู่สัญญากับ อบต.ท่าขึ้น ซึ่งเจ้าของพื้นที่ยังไม่ได้รับมอบแต่อย่างใด ทั้งนี้ หากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลแก้ไขแล้วเสร็จ และมอบให้อบต.เป็นผู้รับผิดชอบก็ยินดี เพราะจะได้แก้ปัญหาได้ทันที

ศ.ศรีราชา ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยืนยันว่า จะเร่งให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลไปดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยให้ผู้รับเหมามาซ่อมแซมท่อน้ำที่ชำรุดและจั๊มไฟให้เครื่องสูบน้ำทำงานได้ทั้ง 15 จุด หากไม่แล้วเสร็จภายในวันที่ 13 มิถุนายนนี้จะแจ้งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบ รวมถึงนำประเด็นเรื่องการจ่ายเงินให้ผู้รับเหมาจนหมดแล้ว แต่โครงการยังไม่แล้วเสร็จจะดำเนินการแจ้งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเข้ามาตรวจสอบด้วย

จ่อทำประชาคม 23 พ.ค. สางปัญหาขยะ

ส่วนการลงพื้นที่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ติดตามปัญหาการบริหารจัดการระบบกำจัดขยะ บนพื้นที่เกาะสมุยของโรงเผาขยะที่ ต.มะเร็ด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เนื่องจากเตาเผาขยะดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้ ส่งผลให้มีขยะสะสมจำนวนมาก ส่งกลิ่นกระทบกับชาวบ้านกว่า 4,000 คน ใน 4 หมู่บ้าน

ทั้งนี้ เตาเผาขยะดังกล่าว กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2542 กระทั่งเกิดชำรุดเสียหายไม่สามารถใช้งานได้ตั้งแต่ปี 2555 โดยนายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีเกาะสมุย ให้ข้อมูลว่า เตาเผาขยะไม่สามารถใช้การได้ เนื่องจากผนังเตาแตกเพราะไม่มีการคัดแยกขยะ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ทางเทศบาลเกาะสมุยได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทเอกชน เพื่อดำเนินการก่อสร้างบ่อฝังกลบขยะมูลฝอย แต่ก็ยังมีขยะตกค้างอยู่ถึง 200,000-300,000 ตัน ขณะที่มีขยะใหม่เพิ่มเข้ามาอีกวันละ 150-200 ตันจึงส่งผลเรื่องกลิ่น เบื้องต้นเทศบาลได้ใช้น้ำอีเอ็มฉีดพ่นเพื่อลดกลิ่นประมาณ 4,000 ลิตร/วัน

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ เตรียมจัดให้มีการทำประชาคม เพื่อสอบถามความเห็น และหาข้อสรุป เลือกแนวทางในการจำกัดขยะที่เหมาะสม ซึ่งเบื้องต้นมี 2 วิธี คือ 1.ให้เอกชนบริหารจัดการขยะโดยนำไปกำจัดในพื้นที่อื่น และ2.กำจัดขยะโดยให้เทศบาลนครเกาะสมุยเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด

"วันนั้นจะให้ประชาชนตัดสินใจเลือกได้อย่างเต็มที่ และเป็นอิสระ แต่เท่าที่รับฟังความเห็นของประชาชนมีความต้องการให้นำขยะออกนอกพื้นที่ ซึ่งยอมรับว่า การบริหารจัดการขยะในพื้นที่นั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากติดขัดที่ข้อกฎหมาย ทำให้การออกกฎระเบียบในระดับท้องถิ่นนั้นทำได้ยาก"

ด้าน ศ.ศรีราชา กล่าวย้ำว่า จะเร่งช่วยประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีที่ดูแลเพื่อแก้ไขกฎหมาย อาทิ พ.ร.บ.สาธารณสุข เพื่อดำเนินการเชิงป้องกัน ตั้งแต่ต้นทาง เช่น การจัดเก็บภาษีสำหรับผู้ประกอบการ การเพิ่มเพดานค่ากำจัดขยะ หรือมีมาตรการคัดแยกขยะ เป็นต้น

ขณะที่ชาวบ้านรายหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้เคียงโรงเผาขยะ กล่าวว่า ได้รับผลกระทบทั้งเรื่องของกลิ่น และแหล่งน้ำที่ไปรวมกับแม่น้ำสายใหญ่ซึ่งชาวบ้านต้องใช้ ก่อนหน้านี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารับฟังความคิดเห็นในการก่อสร้างโรงงานเผาขยะดังกล่าว ซึ่งเห็นว่า เป็นโครงการที่ดีมากจึงไม่คัดค้าน แต่ภายหลังพบว่า ไม่มีการคัดแยกขยะ ทำให้เตาเผาพัง เมื่อเกิดปัญหาขึ้นฝ่ายที่ควรแก้ไขไม่ดำเนินการใดๆ

"เชื่อว่า ถ้าจ้างบริษัทที่ดีมีคุณภาพมาจัดการโรงเผาขยะ น่าจะแก้ไขปัญหาได้ โดยส่วนตัว ไม่เห็นด้วยกับการนำขยะที่มีอยู่ไปไว้ที่อื่น เพราะทำให้คนอื่นเดือดร้อน หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งใจทำจริงคงจะแก้ไขได้นานแล้ว แต่ที่เกิดความล้าช่า อาจเป็นเพราะมีผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่จึงส่งผลทำให้ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้"

แนะทำประชามติทุกกลุ่ม

ด้านนายอานนท์ วาทยานนท์ กรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" โดยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องนี้ยังมีอยู่ระหว่างท้องถิ่นกับภาคประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาภาคประชาชนได้ทำข้อเสนอ เปรียบเทียบผลดี ผลเสีย รายได้ ความยั่งยืน รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

พร้อมตั้งข้อสังเกตกรณีที่จะเปิดให้มีการจัดทำประชามติในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ว่า มีการเชิญเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งไม่เห็นด้วย เพราะการบริการจัดการขยะนั้นกระทบกับชาวบ้านที่อยู่อาศัยทั้งเกาะสมุย เพราะหากบริหารจัดการไม่ดีแล้วผลกระทบก็จะเกิดขึ้นตามมาอีก ไม่เฉพาะคนที่อยู่ในบริเวณนี้เท่านั้น ดังนั้น การทำประชามติครั้งนี้จึงต้องทำภาพรวมทั้งหมด กล่าวคือ กระทบทั้งเรื่องของการท่องเที่ยว ภาคประชาสังคมอื่นๆ ทั้งนอกเกาะและในเกาะที่ควรจะมีส่วนร่วม ทั้งนี้ หลังจากนี้คงต้องรอดูผลของการทำประชามติในครั้งนี้ว่าจะออกมาอย่างไร อย่างไรก็ดี ระหว่างนี้คณะทำงานจะเร่งจัดส่งข้อเสนอการจัดการขยะเกาะสมุยให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาอีกครั้ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,159 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559