เตรียม 17 กองร้อย รับมือ "ม็อบ 24 มิ.ย." ชุมนุมวันนี้

24 มิ.ย. 2564 | 01:15 น.

ตำรวจนครบาล เตรียม 17 กองร้อย รับมือม็อบ 24 มิ.ย.ชุมนุมวันนี้ เน้นรักษาความสงบ ควบคุมโควิดฯ ย้ำกรุงเทพฯเป็นพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามชุมนุม


“ม็อบ 24 มิ.ย.” หรือการนัดชุมนุมของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหลากหลายกลุ่ม วันนี้ 24 มิถุนายน 2564  พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. กล่าวว่า เบื้องต้นเตรียมกำลังกองร้อยควบคุมฝูงชน ไว้จำนวน 17 กองร้อย โดยมอบหมาย พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปชัย รอง ผบช.น. เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติในภาพรวม

พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวต่อว่า วัตถุประสงค์ในการชี้แจง เพื่อแจ้งให้ประชาชนรับทราบว่า การจัดการชุมนุม การจัดกิจกรรมในช่วงเวลาและสถานที่ต่างๆ อาจกระทบต่อการสัญจรไปมาหรือการใช้ชีวิตโดยปกติ ประชาชนจะได้สามารถหลีกเลี่ยงเส้นทาง ที่มีการชุมนุมการจัดกิจกรรมต่างๆได้ 
เพื่อให้ทุกฝ่ายทราบว่า การชุมนุม การจัดกิจกรรมต่างๆเหล่านี้ ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กรุงเทพมหานครได้มีการออกประกาศ ฉบับที่ 33 ควบคุมการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ดังนั้นการทำกิจกรรมต่างๆ อาจฝ่าฝืนกฎหมาย คำสั่ง หรือประกาศที่เกี่ยวข้องได้ 

และเพื่อชี้แจงแนวทางการปฏิบัติของตำรวจ จะเน้นการรักษาความสงบเรียบร้อย การปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค สำหรับการตั้งเครื่องกีดขวาง จะไม่มีการตั้งหากไม่จำเป็น เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน ยกเว้นการชุมนุมนั้นอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน หรือสถานที่สำคัญ

การชุมนุมหรือการทำกิจกรรมต่างๆ หากพบว่ามีการกระทำผิด จะต้องมีการดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกราย สำหรับแกนนำหรือผู้จัดกิจกรรม ที่อยู่ระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราวของศาล โดยมีเงื่อนไขก็ขอให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด หากพบว่าบุคคลใดไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล ตำรวจมีความจำเป็นทำรายงานเสนอต่อศาล เพื่อให้ศาลได้พิจารณาตามกระบวนการต่อไป 
 


ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น.ในฐานะโฆษก ย้ำเตือนการชุมนุมในครั้งนี้ เนื่องจากกรุงเทพฯเป็นพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้จัดการชุมนุม ผู้เข้าร่วมชุมนุมจะเป็นความผิดข้อกำหนดตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิ.ย.64 ประกอบกับหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 5 มี.ค.64 ประกอบประกาศกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 33) ลงวันที่ 20 มิ.ย.64 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง 
 

นอกจากนี้ ยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ปี 58 มาตรา 34 อนุ 6 และมาตรา 51 ผู้ฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย กรณีผู้ชักชวนให้มีการรวมตัวกันไม่ว่าทางโซเชียล หรือทางหนึ่งทางใดก็ตาม ถือว่าเป็นผู้กระทำผิดตามกฎหมาย ผู้จัดเวที รถเครื่องเสียง รถสุขา ผู้สนับสนุนอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดในการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ถือว่าเป็นผู้ร่วมกระทำผิดตามกฎหมายด้วย อาจได้รับโทษตามกฎหมาย

ส่วนแกนนำที่จะมาร่วมการชุมนุม หรือผู้เชิญชวนชักชวนให้มาร่วมการชุมนุมยังเป็นจำเลย หรือเป็นผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงอยู่ระหว่างการประกันตัว โดยมีเงื่อนไขของการปล่อยตัวชั่วคราว สำหรับผู้ที่ได้รับการประกันตัว และศาลได้กำหนดเงื่อนไขไว้ เช่น ห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหา ห้ามเข้าร่วมชุมนุมในลักษณะที่เป็นการก่อความวุ่นวาย ความไม่สงบในบ้านเมือง ห้ามพกพาอาวุธเข้าไปร่วมชุมนุมทางการเมือง หรือใช้กำลังประทุษร้ายต่อเจ้าหน้าที่ จึงแจ้งเตือนผู้ที่อยู่ในระหว่างประกันตัว ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืน บช.น.จะทำการร้องขอต่อศาล พิจารณาให้ถอนการให้ประกันตัว
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง