“กมธ.กฎหมาย"รับสอบปม"ปรเมษฐ์"ถูกย้ายไม่เป็นธรรม

22 เม.ย. 2564 | 10:28 น.

“ปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์"อดีตอธิบดีผู้พิพากษา ร้องกมธ.กฎหมาย สภาฯ หลังถูกย้ายปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นธรรม "สิระ"รับลูกตรวจสอบ บรรจุเข้ากมธ.ทันที

วันนี้ (22 เม.ย.64) นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ  (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร รับเรื่องจาก นายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 1 ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ กรณีที่ถูกคำสั่งของ นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยไม่มีความเป็นธรรม 

ทั้งนี้เรื่องที่ยื่นมีรายละเอียดสำคัญ คือ  นายปรเมษฐ์ ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าแทรกแซงการพิจารณาคดี หมายดำที่ อท. 84/2563 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ระหว่าง นายประหยัด พวงจำปา อดีตรองเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช., น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. และ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ทั้งที่เป็นเจ้าของสำนวนคดี และในคดีดังกล่าวนายปรเมษฐ์ พิจารณาสั่งยกคำร้อง

                                            “กมธ.กฎหมาย"รับสอบปม"ปรเมษฐ์"ถูกย้ายไม่เป็นธรรม

“จากคำร้องเรียนกล่าวหาว่าเข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงการพิจารณาคดีดังกล่าว และสำนักงานศาลยุติธรรม ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงตามหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนที่กำหนดไว้ โดยต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดวินัย ชี้แจงข้อเท็จจริง และนำพยานหลักฐานมาสืบแก้ในข้อที่เป็นผลร้ายต่อตนได้ 

แต่ก่อนที่ผลตรวจสอบจะออก ประธานศาลฎีกา สั่งให้ไปปฏิบัติงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ทั้งที่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงในคำกล่าวหา นายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ และบุคคลใดเป็นผู้กล่าวหา อีกทั้งยังไม่ได้เข้าชี้แจงประเด็นและข้อเท็จจริงใด ๆ รวมทั้งยังไม่มีโอกาสนำพยานหลักฐานเข้ามาสืบแก้ในข้อที่เป็นผลร้ายต่อตน ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคแรกที่บัญญัติว่า "รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม" ดังนั้น การปฏิบัติต่อ นายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ จึงยังไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรมใดๆ"  

ด้าน นายสิระ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า จะนำเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ของคณะกมธ. ด้วยความละเอียด รอบคอบ และจะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของคณะกมธ.ในครั้งถัดไป โดยจะเรียนเชิญคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง มาร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม อีกทั้งจะทำการศึกษาช่องว่างทางกฎหมายของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม เพื่อแก้ไขและปฏิรูปกฎหมายไม่ให้มีการแทรกแซงอำนาจตุลาการได้
                                         “กมธ.กฎหมาย"รับสอบปม"ปรเมษฐ์"ถูกย้ายไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ นายปรเมษฐ์ ได้แถลงรายละเอียดว่า วันนี้ตนมาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากตนเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 หมายเลขดำที่ อท.84/2563 ระหว่างนายประหยัด พวงจำปา โจทก์ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ จำที่ 1 น.ส.สุภา ปิยะจิตติ จำเลยที่ 2 และ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ จำเลยที่ 3  

โดยในวันที่ 23 มีนาคม น.ส.สุภา ยื่นคำร้องขอให้โอนสำนวนคดีดังกล่าว โดยขอให้ส่งคำร้องไปยังประธานศาลฎีกา เพื่อมีคำวินิจฉัยให้โอนคดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 หมายเลขดำที่ อท.84/2563 และคดีหมายเลขดำที่ อท.64/2563 ไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยตนซึ่งเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

“ผมถูกกล่าวหาว่าเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงในการพิจารณาคดี โดยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม สำนักงานศาลยุติธรรมได้มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงผม ซึ่งตามกฎหมายว่าด้วย ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 70 และ ประกาศของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ข้อ 4 ข้อ 6 และข้อ 9 เมื่อแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงก่อน 

แต่จนถึงปัจจุบัน ผมไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงใดที่ถูกร้องเรียน และไม่ทราบว่าถูกใครร้องเรียน เป็นการทราบแค่ภายในว่าไปทำคดี นอกจากนี้ยังถูกสำนักงานศาลยุติธรรมมีคำสั่งย้ายด่วนผม ให้ไปช่วยราชการในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งผมได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมส่งไปยังประธานศาลฎีกาและคณะกรรมการศาลยุติธรรม แต่ไม่ได้รับฟังความร้องของผมแต่อย่างไร และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงยังไม่ได้ให้โอกาสตนเข้าชี้แจง"

นายปรเมษฐ์ กล่าวพร้อมยืนยันว่า การปฏิบัติหน้าที่กว่า 30 ปี ได้ตั้งใจทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตระหนักถึงการทำหน้าที่ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมจะต้องมีความเป็นอิสระในการพิจารณาพยานหลักฐานตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนและคู่ความ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :