5 คดีนักการเมือง เข้าคิว‘ศาลรธน.’ ชี้ชะตา!

15 เม.ย. 2564 | 05:35 น.

5 คดีนักการเมือง เข้าคิว‘ศาลรธน.’ ชี้ชะตา! : รายงานหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,670 หน้า 12 วันที่ 15 - 17 เมษายน 2564

คดีดังของ “นักการเมือง” ที่อยู่ในมือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” หลายคดี ขณะนี้ได้เวลาที่ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” จะทยอยวินิจฉัยชี้ชะตาแล้ว 

ไปดู คดีแรก เป็นคดีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

ศาลรัฐธรรมนูญ นัดลงมติและอ่านคำวินิจฉัยสมาชิกภาพผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ว่าจะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในวันพุธที่ 5 พ.ค.นี้ เวลา 15.00 น.

คดีนี้เป็นคดีที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของ ส.ส. 51 คน ขอให้วินิจฉัย สืบเนื่อง จากกรณี ร.อ.ธรรมนัส เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายอันถึงที่สุดว่า ได้กระทำความผิดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้าซึ่งยาเสพติด ที่แม้จะเป็นคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ (ศาลออสเตรเลีย) ทำให้มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

โดยศาลฯ เห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้ว

กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ ร.อ.ธรรมนัส ถูกพรรคฝ่ายค้านกล่าวหาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ศาลออสเตรเลียได้มีคำพิพากษา เมื่อ มี.ค. 2537 ว่า ร.อ.ธรรมนัส มีความผิดฐานนำเข้าและค้ายาเสพติดสั่งจำคุก 6 ปี แต่จำคุก 4 ปี ก่อนถูกเนรเทศกลับประเทศไทย จึงมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง ส.ส.และรัฐมนตรี 

คดีที่ 2 เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องของ น.ส.จินตนันท์ ชญาต์รศุภมิตร และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่ชาติ (สนช.) สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่า การที่คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  วินิจฉัยตัดสิทธิในการเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพราะมีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2560 มาตรา 10 (18) กรณีเคย สนช. ถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ขัดต่อหลักความเสมอภาค ซึ่งขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 หรือไม่ 

รวมทั้งขอให้สั่งเพิกถอนมติที่วินิจฉัยตัดสิทธิบุคคลทั้งสอง พร้อมคืนสิทธิให้เป็นผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กสม.ด้วย 

ศาลเห็นว่าคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน และกำหนดนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 12 พ.ค.นี้ เวลา 15.00 น.

 

คดีที่ 3 กรณีเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องไว้พิจารณา กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย พร้อมคณะ 145 คน ขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรค 1 ว่าการที่ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงปทุมวัน เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2538 ว่ามีความผิดอาญาฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 จำคุก 4 เดือน 

และให้ นายสิระ คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย และริบสัญญาจะซื้อจะขาย เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(10) เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) หรือไม่  

คดีนี้ อีกไม่นาน “ศาลรัฐธรรมนูญ” ก็คงจะได้ประชุมปรึกษาหารือกัน และนัดวันลงมติวินิจฉัยต่อไปในเร็ววันนี้

 

5 คดีนักการเมือง เข้าคิว‘ศาลรธน.’ ชี้ชะตา!

 

ส่วนคดีที่ 4 เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาคำร้องกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของส.ส.จำนวน 60 คน ขอให้วินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพส.ส.ของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง ( 5) หรือไม่

กรณี นายไพบูลย์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป และเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคดังกล่าว ไปสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ หลังจากพรรคประชาชนปฏิรูป สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 91 วรรคหนึ่ง ( 7) โดยที่ นายไพบูลย์ ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปอยู่จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ

และไม่ได้เป็นผู้มีชื่อใน บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง ไว้พิจารณาวินิจฉัย 

คดีนี้ นับแต่วันที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ได้รับคำร้องไว้วินิจฉัย ก็ล่วงเลยมาร่วม 4 เดือนแล้ว เชื่อว่าเร็วๆ นี้ ศาลน่าจะนัดวินิจฉัยได้

ไปที่คดีสุดท้าย คดีที่ 5 กรณีเมื่อวัน 7 เม.ย. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับคำร้องกรณี กกต.ขอให้วินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสี่ ว่า สมาชิกภาพส.ส.ของ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ, นายถาวร เสนเนียม ส.ส.เขต 6 สงขลา, นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายชุมพล จุลใส ส.ส.เขต 1 ชุมพร สิ้นสุดลง จากเหตุต้องคำพิพากษาศาลอาญาจำคุกในคดีชุมนุม กปปส. ปี 2557 ไว้พิจารณาวินิจฉัย และแจ้งให้กกต.ทราบ พร้อมส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องทั้ง 5 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน  

นอกจากนี้ยังมีคำสั่งให้บุคคลทั้ง 5 คนหยุดปฎิบัติหน้าที่ส.ส. เนื่องจากปรากฏว่า ศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุกบุคคลทั้ง 5 คน และบุคคลทั้ง 5 ถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายชุมพล นายอิสระ และ นายณัฏฐพล มีกำหนด 5 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา กรณีจึงปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า มีกรณีตามที่ถูกร้องแล้ว 

5 คดีในศาลรัฐธรรมนูญ มี “นักการเมือง” รอให้ชี้ชะตา 10 คน ใครจะ “ร่วง” หรือ ใครจะได้ “ไปต่อ” ไม่นานเกินรอได้รู้กัน...