“ธนกร”ยันรัฐบาล ไม่ปิดกั้นเอกชนซื้อวัคซีน

08 เม.ย. 2564 | 07:44 น.

“ธนกร”ป้อง”บิ๊กตู่”บริหารโควิด-19ด้วยสมองและหัวใจ ยันรัฐไม่ปิดกั้นเอกชนซื้อวัคซีน แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามระเบียบ

วันที่ 8 เม.ย. 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แก้ปัญหาโควิด-19ไม่ได้ก็ลาออกไป พร้อมทั้งระบุว่า วัคซีนป้องกันหยุดเชื้อไม่ได้ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 รัฐบาลบริหารจัดการอย่างเต็มที่ ขอให้เชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขของไทย พล.อ.ประยุทธ์ บริหารจัดการโควิด-19ด้วยสมองและหัวใจ 

ไม่เหมือน นพ.ชลน่าน ที่เป็นหมอเสียเปล่า การเรียกร้องให้นายกฯ ลาออกก็เพื่อหวังผลทางการเมืองเท่านั้น ถือว่าเป็นนักการเมืองสายพันธุ์เพื่อไทยขนานแท้ น่าเสียดายความรู้ความสามารถ การแก้ปัญหาโควิด-19 ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย และต้องคำนึงถึงทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

นายกฯ ไม่ได้คิดคนเดียว แต่มีทีมที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ทุกอย่างผ่านศบค. ที่ผ่านมานายกฯ ทำงานอย่างทุ่มเทจนได้รับการชื่นชมจากทั่วโลก แต่ฝ่ายการเมืองออกมาโจมตีแทบทุกวัน ยังดีที่พี่น้องประชาชนยังให้กำลังท่าน อยากให้ทุกฝ่ายมองด้วยใจเป็นธรรม ลองนึกภาพ 7 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีทุกด้าน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม คุณภาพชีวิตของประชาชน ภาคเกษตร ฯลฯ แต่เรามาเจอโควิด-19 ทุกอย่างก็กระทบ ซึ่งเป็นเหมือนกันทั่วโลก แต่ท่านนายกฯ ก็บริหารจัดการได้ดี ขอความเป็นธรรมให้ท่านด้วย 
 

ส่วนกรณีที่ นพ.ชลน่านระบุว่า ฉีดวัคซีนป้องกันไปแล้วหยุดเชื้อไม่ได้นั้น ไม่เป็นความจริง ถ้าฉีดครบโดสก็มีภูมิคุ้มกัน แต่เราต้องป้องกันปฏิบัติตามแนวทางของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดด้วย วัคซีนมีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน ทั่วโลกก็ใช้ ส่วนการนำเข้าวัคซีนของภาคเอกชนนั้น รัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นตามที่ นพ.ชลน่านกล่าวหา ทุกอย่างมีขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบทาง นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ออกมายืนยันหลายครั้งแล้วว่า

 1.วัคซีนต้องมีการขออนุญาตขึ้นทะเบียนวัคซีนก่อนการใช้ หมายความว่าต้องผู้ขออนุญาตเป็นผู้ถือทะเบียน และรับผิดชอบการจำหน่ายวัคซีนในประเทศ  บางบริษัทมีผู้แทนในไทย ก็จะดำเนินการโดยบริษัทนั้น เช่น ไฟเซอร์ แอสตร้า JJ ถ้าบรรดาบริษัทลูกในไทยไม่นำวัคซีนมาขึ้นทะเบียน ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ไม่มีคนอื่นมาทำให้ได้ ข้อนี้ไม่ได้เป็นข้อจำกัดภาครัฐแต่อย่างใด 2.ผู้ผลิตอื่นที่ไม่มีบริษัทลูกในไทย ผู้ผลิตรายนั้นต้องตั้ง Authorized Representative ขึ้นมา และให้ยื่นเอกสาร (ซึ่งเป็น Highly Confidential Document) เพื่อขอขึ้นทะเบียน เช่น กรณี Sinovac ได้มอบให้ องค์การเภสัช Moderna ได้มอบให้ซิลลิคฟาร์ม่า เป็นผู้แทน ดังนั้น เอกชนที่จะขอนำเข้าวัคซีนอื่นนอกจากนี้มาขึ้นทะเบียน ต้องไปติดต่อกับผู้ผลิตเอง และไม่ได้ปิดกั้นอีกนั่นแหละ 


นายธนกร กล่าวด้วยว่า 3.หลายบริษัทผู้ผลิตมีนโยบายขายให้แก่ภาครัฐเท่านั้น เช่น Pfizer Astra JJ แต่ถ้าจะเปลี่ยนนโยบายทีหลังก็ค่อยมาดำเนินการไป เป็นเรื่องของแต่ละบริษัทเอง รัฐไม่ได้บังคับ เหตุผลหนึ่งที่เอกชนจะขายให้เฉพาะรัฐ เพราะเป็นวัคซีนใหม่ในช่วงการระบาด ผู้ผลิตวัคซีนทุกรายให้รัฐยอมรับเงื่อนไข No Fault Compensation คือห้ามไม่ให้ผู้รับวัคซีนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ผลิตวัคซีนกรณีเกิดผลข้างเคียงรุนแรง 4.วัคซีนที่มีในเวลานี้มีจำนวนจำกัด ทุกเจ้าที่เราได้ยินชื่อ กำหนดส่งมอบวัคซีนได้เร็วที่สุดคือไตรมาสสามของปีนี้ และจำนวนไม่มากทยอยส่ง ยกเว้น Sinovac ที่สัญญาให้ได้ตั้งแต่กุมภาพันธ์แต่ทยอยมอบมาทีละนิด แอสตร้าเซนเนนก้ากำหนดการส่งมอบได้มิถุนายน
 

และ 5.กลุ่ม รพ.เอกชน ที่จะมารวมตัวเรียกร้องให้เปิด ได้เชิญมาอธิบายแล้วว่าไม่ได้ปิดกั้น อธิบายข้างต้นจนเข้าใจ แต่ไม่ออกมาพูดว่าตัวเองเข้าใจผิดคิดว่าจะหาซื้อได้โดยทั่วไป แต่รัฐปิดกั้น คำพูดนี้ ความเห็นแบบนี้จึงยังมีอยู่ตลอด และเอกชนที่โฆษณาให้จองวัคซีนโดยที่ไม่มีวัคซีนในมือ ถือว่าผิดกฏหมายการโฆษณายา พอโดนปรับ ยอมรับผิด แต่ก็ไม่ออกมาแถลงว่าตัวเองทำผิด ปล่อยให้กลายเป็นความเข้าใจผิดว่ารัฐปิดกั้น ตนหวังว่านพ.ชลน่านจะหลงเหลือจิตวิญญาณของความเป็นหมออยู่บ้างไม่มากก็น้อย