ดร.ไตรรงค์ : ใครจับประเทศไทยเป็นตัวประกัน

26 กุมภาพันธ์ 2564

“ดร.ไตรรงค์” โพสต์ “ใครจับประเทศไทยเป็นตัวประกัน” เปรียบกรณีแกนนำ กปปส.ยินดีติดคุก แต่คนชั่วอยู่สบายด้วยการหนี

ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว ด้วยหัวข้อ “ใครจับประเทศไทยเป็นตัวประกัน” ระบุว่า

(1) ขนาดผู้นำ กปปส. ติดคุกเพราะประกันไม่ทันไป 2 คืน เหล่าสมาชิกของมวลมหาประชาชนที่เคยร่วมมือร่วมใจกับ กปปส. ในการต่อสู้ขับไล่รัฐบาลกังฉิน ต่างก็ร้องไห้น้ำตานองหน้าและคร่ำครวญกันว่า “ทำไมคนชั่วๆ อยู่สบายด้วยการหนี แต่คนดีๆ ต้องติดคุกอย่างทุกข์ทรมาน” 

แต่ถ้าเรามาตั้งสติกันให้ดีก็จะเห็นว่า “อันโจรเกิดขึ้นได้เพราะเขาชั่วไม่เคารพทั้งกฎหมายและศีลธรรม” 

“นักการเมืองเลวที่โกงบ้านโกงเมืองไป ก็เพราะเขาเป็นคนชั่ว ไม่เคารพกฎหมายและศีลธรรมเช่นเดียวกัน”

“โจรติดคุกเพราะมันไม่มีเงินพอที่จะหนีไปอยู่ต่างประเทศ ส่วน กปปส. ยินดีติดคุกเพราะพวกเขาเป็นคนดี เคารพกฎหมายและศีลธรรม” 

หลายคนในกลุ่ม กปปส. เหล่านั้นจะหนีไปต่างประเทศก็สามารถจะทำได้ เพราะมีเงินบริสุทธิ์จากมรดกบ้าง จากการทำมาหากินที่สุจริตบ้างแต่ทำไมไม่คิดจะหนี ก็เพราะพวกเขาเป็นคนดี ต้องการทำเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ประชาชนเห็นว่า “ต้องเคารพกฎหมายและศีลธรรม” 

การขับไล่กังฉินเพื่อรักษาชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เอาไว้นั้น ถ้าเกิดทำผิดกฎหมายใดๆ ขึ้นมาก็ต้องยินดีรับโทษตามหลักนิติธรรม บ้านเมืองจึงจะเป็น “นิติรัฐ”ได้ (แต่ในต่างประเทศรวมทั้งสหรัฐ ศาลจะดูเจตนาการชุมนุมจะลงโทษสถานเบาถ้าไม่เกี่ยวกับการทำลายสมบัติชาติ การทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐและเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ) 

ส่วนนักการเมืองอีกบางคนบางพวกที่อยากขับไล่กังฉินเช่นกัน แต่ไม่กล้าออกมาสู้ ไม่ใช่เขาไม่ดี เขาเพียงแต่ขี้ขลาดหรือไม่ก็เห็นแก่ตัว สู้รอเสวยผลที่เกิดจากการต่อสู้ของวีรชนที่กล้าหาญจะมิดีกว่าหรือ (อย่าไปด่าเขาผ่านมาทางผมเลยครับ) นักการเมืองรุ่นใหม่ที่มีสันดานอย่างนี้ก็ยังพอหาดูได้ในสังคมปัจจุบัน

(2) การเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยยังอ่อนแออยู่มาก ก็เพราะทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ไม่ว่าระดับชาติ (เช่น เลือก ส.ส.) หรือระดับการเมืองท้องถิ่น ล้วนแล้วแต่ตกอยู่ภายใต้การทำผิดกฎหมายเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะจะมีการซื้อสิทธิขายเสียงที่ลื่นไหลอยู่ได้เพราะได้รับการบริหารการซื้อเสียงจากหัวคะแนนที่มีอิทธิพลสามารถควบคุมผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นส่วนใหญ่ได้ เนื่องจากอยู่กันด้วยอาศัยระบบอุปถัมภ์มาเป็นเวลาช้านาน ทั้งได้เงินและได้น้ำใจใครบ้างจะไม่เอา  

กกต. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคยังไม่แข็งแรง (ขาดทั้งเงินทั้งคนที่มีคุณภาพโดยเฉพาะถ้ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และตำรวจไม่ให้ร่วมมือ จึงไม่สามารถจะต่อต้านระบบการซื้อเสียงที่ชั่วร้ายนี้ได้ นอกเหนือจากการลูบหน้าปะจมูกโดยตั้งใจ) ไม่มีวันจะป้องกันได้ถึง 70% เพราะสู้เครือข่ายที่แข็งแรงกว่าของขบวนการที่มีนักการเมืองชั่วตัวใหญ่ที่คอยแอบสั่งการและจ่ายเงินอยู่เบื้องหลังฉาก เงินย่อมมีอำนาจเหนือกว่ากฎหมายและศีลธรรม 

นักการเมืองชั่วจึงกล้าวางแผนโกงบ้านกินเมืองเพียงเพื่อหาเงินสกปรกเอาไว้ให้มากกว่าที่ลงทุนออกไป เก็บสะสมกำไรไว้เป็นทุนสามานย์ เพื่อเลี้ยงลูกสมุนท้องแห้ง และเพื่อให้ลูกสมุนเหล่านั้นใช้ซื้อเสียงในช่วงการเลือกตั้งระดับต่างๆ ในครั้งต่อๆ ไปด้วย 

พวกเขาหวังอะไร? พวกเขาหวังว่าสักวันหนึ่งจะสามารถยึดเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนฯ ให้ได้ เมื่อนั้น พ.ร.บ. นิรโทษกรรมสุดซอยก็จะได้ประสบความสำเร็จเสียที เผด็จการรัฐสภาก็จะได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ได้

เมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ยอมนิรโทษกรรมให้ก็ต้องใช้วิธีบังคับโดยการบั่นทอนความมั่นคงให้ได้ทั้งในสภาฯ และนอกสภาฯ อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ คงมิใช่เป็นการบังเอิญกระมัง

(3) คนทั่วไปที่ยังรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยังเคารพกฎหมายและศีลธรรม ยังคงเต็มไปด้วยความหวาดกลัวว่าสิ่งที่เพิ่งพูดในข้อ (2) อาจจะเกิดเป็นความจริงมาได้ ถ้าคนส่วนใหญ่ยังอยู่ในความประมาท ความหวาดกลัวนี้จะสะท้อนออกมาหลายทาง รวมทั้งความคิดในการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งก็เพื่อไว้ถ่วงดุลมิให้เกิดสิ่งที่หวาดกลัวดังกล่าวในข้อ (2)

(4) ประเทศอังกฤษนั้นได้มีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งมาหลายร้อยปีติดต่อกัน คนอังกฤษไม่เคยเดือดร้อนกับมัน เพราะเขาจะมองทุกอย่างให้เหมาะสมกับเหตุและปัจจัยที่เรียกว่าบริบทของสังคม ครั้งแรกๆ วุฒิสมาชิกมีอำนาจมากกว่า ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เมื่อ ส.ส. ส่วนใหญ่มีคุณภาพมากขึ้น สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่ดี ไม่ชั่ว ไม่โกง 

ในที่สุดเมื่อเห็นว่าไว้วางใจได้ว่าน่าจะปลอดภัยแล้วสำหรับประเทศ จึงได้มีการปรึกษาหารือให้ ส.ส. เสนอกฎหมายเพื่อลดอำนาจ ส.ว. ลงมาด้วยความสมัครใจของ ส.ว. ซึ่งเป็นสมาชิกที่มี “วุฒิ” ทั้งความรู้และ ประสบการณ์มากกว่า ส.ส. กฎหมายลดอำนาจ ส.ว.ได้ออกมาอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไปในระหว่าง ค.ศ. 1911 - 1949  จนปัจจุบัน ส.ว. เป็นเพียงที่ปรึกษาของสภาผู้แทนเพราะมี “วุฒิ” เหนือกว่า 

และเขาระวังไม่แต่งตั้งบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจทางการเมือง แต่อาจเป็นผู้เคยดำรงตำแหน่งสูงทางการเมืองที่ปลดเกษียณตัวเองไปแล้ว หรือเป็นอดีตอาจารย์หรือข้าราชการผู้ใหญ่โดยเฉพาะทางศาลและพวกขุนนางที่ใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่สำคัญคือทุกคนไม่มีเงินเดือน

(5) สรุปได้ว่า ประเทศอังกฤษเริ่มต้นด้วยการไม่ยอมให้มีประชาธิปไตยเต็มใบ โดยใช้อำนาจของวุฒิสภา (House of Lords) ที่มาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ให้เป็นตัวถ่วงดุลอำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งก็เพิ่ง 70 ปีมานี้เองที่วุฒิสภายอมยกเลิกอำนาจทั้งหมดดังกล่าว คงเป็นเพียงที่ปรึกษาของสภาผู้แทนฯ (House of Commons) เพียงเท่านั้น

(6) สำหรับประเทศไทย ตราบใดที่ยังมีทุนสามานย์ก้อนใหญ่มากอันได้ไปจากการฉ้อราษฎร์บังหลวง ยังจ้องจะฮุบประเทศด้วยการซื้อเสียงอย่างแยบคายผ่านลูกสมุนทั้งหัวหงอกและหัวดำ และระบบ กกต. ยังอ่อนแอไม่ทันเกม คนดีๆ ที่ยังรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ก็ยังคงรู้สึกว่า อนาคตของประเทศคงจะยังไม่ปลอดภัย เพราะเสมือนประเทศยังถูกจับเป็นตัวประกัน ที่เขาจับเอาไว้เพื่อรอค่าไถ่ ซึ่งก็คือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบสุดซอย นั่นเอง

ตราบใดที่ยังมีความรู้สึกเช่นนี้คลุมประเทศอยู่ ตราบนั้น อย่าหวังว่าคนส่วนใหญ่จะสบายใจถ้ายอมให้ไม่มีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ส่วนอำนาจของวุฒิสภาจะมีมากน้อยแค่ไหน ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยที่นักการเมืองจากการเลือกตั้งจะปฏิรูปตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน กฎทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าตัวละครทั้งผู้สมัคร ส.ส. และผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

 ดูประเทศอังกฤษเป็นตัวอย่างก็แล้วกัน แต่ถ้าไม่เอาอย่างเขา เอาอย่างอื่นตามใจตัวและพวกพ้อง แล้วเกิดความเสียหายกับประเทศขึ้นมาอีก มวลมหาประชาชนกับ กปปส. ก็เตรียมพร้อมไว้รับใช้ชาติอีกก็แล้วกัน