“อนุชา” เตรียมเสนอพักหนี้ทั้งระบบกระตุ้นกำลังซื้อ

30 พ.ย. 2563 | 01:30 น.

“อนุชา”เตรียมเสนอ “พลังประชารัฐ” พักหนี้ทั้งระบบ หวังกระตุ้นกำลังซื้อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมเตรียมแนวทางเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

นายอนุชา  นาคาศัย  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อจัดทำข้อเสนอเรื่องการพักชำระหนี้ทั้งใน  และนอกระบบให้กับลูกหนี้ทุกกลุ่ม  ไม่ใช่เฉพาะแค่กลุ่มเกษตรกร  และเอสเอ็มอี (SMEs) เข้าสู่ที่ประชุมพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และทีมเศรษฐกิจ  เพื่อพิจารณาและแสดงความคิดเห็น  เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจนถึงแนวทางที่เหมาะสมมากที่สุด  ก็จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำหรับพิจารณาอนุมัติต่อไป

              ทั้งนี้  การดำเนินการดังกล่าวก็เพื่อให้เกิดเม็ดเงิน  หรือกำลังซื้อมาจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ  ซึ่งจะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจได้หมุนเวียนต่อได้  โดยคาดว่าหากมีความคิดเห็นที่ตรงกันมาตรการดังกล่าวน่าจะถูกผลักดันออกมาบังคับใช้ได้ในช่วงต้นปี 64 หรือหลังจากเทศกาลปีใหม่ผ่านไปแล้ว

              “หากถามว่าการหพักชำระหนี้ก็จะกระทบไปยังสถาบันการเงิน  และเรื่องของดอกเบี้ย  ก็คงต้องการให้มองว่าในระยะยาวสถาบันการเงินเองก็อาจจะไม่มีทางได้รับการชำระหนี้ได้  แต่มาตรการดังกล่าวจะเป็นการให้โอกาสกับลูกหนี้ได้กลับมาชำระหนี้ได้  ซึ่งคงต้องเอกดูว่าต้องการให้เกิดแบบใดมากกว่ากัน”

“อนุชา” เตรียมเสนอพักหนี้ทั้งระบบกระตุ้นกำลังซื้อ

              อย่างไรก็ดี  แม้จะมีการพักชำระหนี้  แต่ประเด็นที่สำคัญก็คือการทำให้เกิดรายได้  ถึงจะมีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจมากที่สุด  โดยกลุ่มที่จะสร้างให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้คือกลุ่มเกษตรกร  ดังนั้น  จึงต้องดำเนินการให้กลุ่มดังกล่าวมีรายได้ที่เพียงพอ  เพื่อให้เกดกำลังซื้อ  เพราะหากขาดกำลังซื้อไม่ว่ารัฐบาลจะพยายามส่งเสริมด้วยมาตรการใดก็ไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้

“เวลานี้ตนได้เตรียมการเรื่องการหาแนวทางสร้างรายได้ที่เพียงพอให้กับภาคเกษตรกรทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็น ข้าว  มันสำปะหลัง  ยางพารา  และอ้อย  โดยจะไม่ใช้วิธีการประกันรายได้เหมือนที่ผ่านมา  ซึ่งจะเป็นแนวทางของการพยุงสินค้าเกษตรไม่ให้ตกต่ำ  เพื่อให้เกิดความช่วยเหลือจากรัฐบาลให้น้อยที่สุด  โดยจะต้องทำให้ราคาพืชผลทางเกษตรมีราคาที่สูงขึ้น  ซึ่งเมื่อเกษตรกรมีรายได้ก็จะนำมาใช้จ่าย  เมื่อเกิดการค้าขายรัฐบาลก็จะประโยชน์จากภาษี  รัฐบาลก็จะมีรายได้”

              สำหรับจีดีพีภาคการเกษตรแม้ว่าจะอยู่ที่เพียง 6-8% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากนัก  แต่ต้องยอมรับว่าตัวเลขดังกล่าวคือผู้ที่ใช้เงินซึ่งมีผลต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวม  ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่จำเป็นต้องผลักดันจีดีพีภาคเกษตรให้สูงขึ้น  แต่จะต้องทำให้เกษตรมีกำไร  เพื่อให้เกิดกำลังซื้อ โดยเมื่อเกิดการซื้อขายก็จะเชื่อมโยงไปสู่การสั่งซื้อจาก เอสเอ็มอี  จากโรงงาน  ซึ่งจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ  โดยมีภาคเกษตรเป็นรากฐานที่สำคัญ

              “แต่ก่อนที่ราคาข้าว 15,000 บาทต่อเกวียน  เกษตรกรมีความสุข  มีเงินเหลือมาจับจ่อยใช้สอย  ก็ทำให้เศรษฐกิจคึกคักขึ้นมาได้ทันที  หากทำได้ทุกพืชผลทางการเกษตรก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก”