ข้อควรรู้เกี่ยวกับ "การเลือกตั้งท้องถิ่น" 20 ธ.ค.นี้

27 พ.ย. 2563 | 07:05 น.

เปิดตำราข้อควรรู้เกี่ยวกับ "การเลือกตั้งท้องถิ่น" วันที่ 20 ธันวาคมนี้ ใครบ้างมีสิทธิ-ใครไม่มีสิทธิ พร้อมเปิดวิธีการ "ตรวจสอบผู้มีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น"ออนไลน์แค่คลิก

หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้ประกาศเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยกำหนดให้วันที่  20 ธันวาคม 2563 เป็นวันเลือกตั้งตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 17.00 น. 


วันนี้ "ฐานเศรษฐกิจ"ได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ จาก กกต. มานำเสนอให้กับประชาชนผู้ที่ต้องการลงคะแนนเลือกตั้งในครั้งนี้ รวมไปถึงข้อควรรู้ในกรณีที่ไปเลือกตั้งไม่ได้ ประชาชนจะเสียสิทธิอะไรบ้าง 

 

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง


-มีสัญชาติไทย แต่ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี


-อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง


-มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้งและคุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

 

ส่วนบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง


-เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช


-อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่


-ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ขอบด้วยกฎหมาย


-วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ


มีลักษณะอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด


 
หลักฐานที่ใช้แสดงตนในการลงคะแนนเลือกตั้งมีอะไรบ้าง


-บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้) 


-บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน เช่นอบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ,ใบขับขี่ , หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)

การเลือกตั้งท้องถิ่น 20 ธ.ค.นี้
 

การเตรียมความพร้อมของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง


1. ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วันโดยตรวจสอบรายชื่อได้ที่ศาลากลางจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง


หรือตรวจสอบรายชื่อจากเอกสารที่แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งมายังเจ้าบ้านก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน

 

2. การเพิ่มชื่อ – ถอนชื่อ ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน   หากพบว่าตนเองหรือผู้มีชื่อยู่ในทะเบียนบ้านของตนไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านเห็นว่ามีชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตนโดยไม่ได้อาศัยอยู่จริงให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเพิ่มชื่อ – ถอนชื่อ พร้อมนำสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นใดที่ทางราชการออกให้ไปแสดงด้วย

 

นอกจากนั้นแล้วยังมีวิธีการตรวจสอบผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งท้องถิ่น ผ่านช่องทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ https://stat.bora.dopa.go.th/Election/enqelectloc/  โดยสามารถคลิกเข้าไปแล้วกรอกเลขบัตรประชาชน 13 หลักแล้วกดค้นหา หลังจากนั้นก็จะมีข้อมูลผลการตรวจสอบว่าสามารถเลือกตั้งที่ไหน ประเภทการเลือกตั้งย่อย วันที่ ชื่อ เขตเลือกตั้งไหน หน่วยอะไร สถานที่ที่ต้องไปใช้สิทธิเลือก พร้อมทั้งลำดับที่ในบัญชีรายชื่อ และมีสิทธิการเลือกตั้งทั้งสมาชิกหรือนายกฯ 
 

 ในกรณีที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้


ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใดที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เนื่องจากมีเหตุอันสมควร ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทำเป็นหนังสือซึ่งต้องระบุเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง สามารถแจ้งด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน

 

ส่วนสาเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

เช่น มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล ,เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ,เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ,เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ,มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง ,มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต. กำหนด

 

กรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แจ้งเหตุไว้แล้ว หากในวันเลือกตั้งเหตุดังกล่าวได้สิ้นสุดลง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งได้
 

หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิครั้งละ 2 ปี ประกอบไปด้วย


-สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือ ส.ถ. หรือ ผ.ถ. หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.


-สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน


-เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอน ส.ถ. หรือ ผ.ถ.


-ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง


-ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น 


-ดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น