กกต.แจงยิบ“การเมือง-ส.ส.-ส.ว.”หาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นผิดอาญา

04 พ.ย. 2563 | 08:18 น.

รองเลขาฯกกต. แจง “ขรก.การเมือง -ส.ส.- ส.ว.-จนท.อื่นของรัฐ” ช่วยหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นมีสิทธิเจออาญา  ซ้ำอาจเจอโทษวินัย-ผิดมติครม.วางตัวไม่เป็นกลาง  แนะเลี่ยงกดไลค์-กดแชร์ผู้สมัคร เหตุสุ่มเสี่ยงถูกร้อง

 

วันนี้ (4 พ.ย.63) นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวในระหว่างร่วมพบปะสื่อมวลชนในกิจกรรมประชุมชี้แจงการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)  ว่า การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ มีผู้สมัครค่อยข้างคึกคัก เนื่องจากว่างเว้นมาถึง 8 ปี  ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ยังเป็นการเลือกตั้งตามกฎหมายใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจัดการเลือกตั้ง กฎระเบียบต่างๆ  โดยหากไม่มีการร้องเรียน  กกต.ก็จะประกาศผลภายใน 30 วัน  แต่ถ้ามีเรื่องร้องเรียนก็จะประกาศภายใน  60 วัน โดยไม่ตัดสิทธิ กกต.ในการพิจารณาเรื่องทุจริตที่มีอยู่  

 
สำหรับผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจะต้องได้คะแนนโหวตสูงสุด และต้องได้คะแนนมากกว่าคะแนนของผู้ไม่ประสงค์เลือกผู้สมัครใด ทั้งนี้ในกรณีมีผู้สมีครน้อยกว่า หรือน้อยกว่าจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นที่พึ่งมี ผู้ชนะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และมากกว่าคะแนนเสียงไม่เลือกผู้ใด  

 

ส่วนการหาเสียง กกต.ได้มีมติห้าม ข้าราชการการเมือง  ส.ส. ส.ว. เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ  ไม่สามารถหาเสียงเลือกตั้งช่วยผู้สมัครได้ ถ้ามีผู้ฝ่าฝืน แม้มาตรา 34 พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น จะกำหนดให้ ผอ.กกต.เพียงสั่งระงับการกระทำนั้น แต่ กกต.เห็นว่าสามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญในการดำเนินการสืบสวนไต่สวน เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรมได้ ส่วนในทางคดีอาญาบทบัญญัติของมาตรา 34 กฎหมายท้องถิ่นถูกเขียนไว้ในระเบียบการหาเสียงท้องถิ่น ข้อ 18 ที่ออกตามมาตรา 66 ของพ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งผู้ฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษตามมาตรา 129  คือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน   


นายแสวง กล่าวอีกว่า ตำแหน่งเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ทาง กกต.จะยึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วางบรรทัดฐานไว้ ว่าต้อง 


1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 


2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือปฎิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด  และปฎิบัติงานประจำ 


3.อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ 


4.มีเงินเดือนข้าจ้าง ค่าตอบแทนตามกฎหมาย 


ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบครับทั้ง 4 ข้อ หากมีไม่ครบจะไม่ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ แต่อย่างผู้ช่วย ส.ส.เข้าองค์ประกอบทั้งหมด จึงไม่สามารถที่จะไปช่วงหาเสียงหรือลงสมัครได้


และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถ้าใช้เวลาราชการไปช่วยหาเสียงก็จะผิดฐานละทิ้ง หรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ หรือมีความผิดฐานไม่เป็นกลางทางการเมืองตามมติครม. ซึ่งทั้งสองอย่างถือเป็นความผิดทางวินัย หรือถ้าเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปช่วยก็จะผิดมาตรา 69 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น 


“อย่างนายอำเภอมีน้องชาย  ลงสมัครรับเลือกตั้ง  นายอำเภอเรียกประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน แล้วบอกให้กำนันผู้ใหญ่บ้านไปเลือกน้องชาย อย่างนี้ถือเป็นการมีใช้ตำแหน่งหน้าที่ เพราะเป็นคนที่มีอำนาจเรียกประชุม แต่ถ้านายอำเภอไปกินก๋วยเตี๋ยว แล้วเจอชาวบ้านก็บอกให้ไปเลือกน้องชาย  อย่างนี้ไม่ใช่เป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ แต่วางตัวไม่เป็นกลาง  ซึ่งเราคิดว่าผู้สมัคร  เคยสมัครกันมาหลายครั้งคงจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้พอสมควร แต่เมื่อกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงก็ควรศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจ  และปฎิบัติให้ถูกต้อง”


ส่วนพรรคการเมืองกฎหมายไม่ได้ห้ามสนับสนุนหรือส่งผู้สมัคร  โดยมาตรา  87 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง กำหนดให้พรรคสามารถใช้จ่ายเพื่อการหาเสียงเลือกตั้งของสมาชิกพรรคได้ ถ้าหากพรรคส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่น ก็สามารถที่จะออกเงินค่าใช้จ่ายให้ได้  รวมทั้งผู้สมัครสามารถใช้โลโก้พรรคหาเสียงได้  ซึ่งพรรคการเมืองหากจะสนับสนุนผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่นก็ต้องทำให้ถูกทั้งกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นและพ.ร.บ.พรรคการเมือง ส่วนผู้สมัครบางคนที่เคยเป็นอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรี สามารถนำตำแหน่งดังกล่าวไปหาเสียงได้        

 
นายแสวง ยังกล่าวอีกว่า ในเรื่องของการให้ทรัพย์สิน หรือเงินซองงานบุญต่างๆ กกต.ยึดหลักเพื่อการปฎิรูปทางการเมืองมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540   ว่าไม่ว่าจะให้กี่บาท แก่ตัวคน มูลนิธิ วัด หรือ ให้ตามประเพณีปกตินิยม ถือว่ามีความผิด  และส่งศาลดำเนินคดีทุกราย และยังคงยึดมาตรฐานนี้ ไม่ว่าศาลจะพิจารณาอย่างไรก็ตาม 

 

ด้าน ร.ต.อ.มนูญ วิเชียรนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนงานสืบสวนสอบสวน สำนักงาน ชี้แจงถึงการคัดค้านการเลือกตั้งอบจ.ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 2 คน หรือผู้สมัคร ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอในเขตเลือกตั้งนั้น มีสิทธิยื่นคัดค้านต่อ กกต.ได้ในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งการยื่นคำร้องคัดค้านฯยื่นที่สำนักงานกกต.จังหวัดดีที่สุด เพราะหากยื่นที่ กกต.ส่วนกลางก็จะต้องส่งให้ กกต.จังหวัดเหมือนเดิม โดยระยะเวลาในการยื่นคัดค้านได้ตั้งแต่วันที่ประกาศให้มีการเลือกตั้ง 26 ต.ค. จนถึง 30 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง 


ส่วนการคัดค้านเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง จะมีเวลาตั้งแต่วันเลือกตั้ง จนถึง 180 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง ส่วนการคัดค้านเกี่ยวกับการนับคะแนนให้คัดค้านระหว่างเวลาที่ยังนับคะแนนไม่แล้วเสร็จ หรือในกรณีคัดค้านการรวมคะแนน ให้คัดค้านก่อนประกาศผลการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง ไม่ใช่ประกาศผลเลือกตั้งแล้ว ผู้สมัครพบว่ามีคะแนนสูสีกัน แล้วจึงมาร้องคัดค้าน โดยที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ทั้งนี้เมื่อ กกต.ได้รับคำคัดค้านการเลือกตั้งแล้ว ก็จะดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวน เพื่อหาข้อเท็จจริง และพิจารณาดำเนินการต่อไป


เมื่อถามว่ากรณีข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ กดไลค์กดแชร์โพสต์หาเสียงของผู้สมัครเลือกตั้ง จะถือเป็นกรณีตามมาตรา 34 พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 หรือไม่ ร.ต.อ.มนูญ กล่าวว่า การแชร์ถือเป็นการหาเสียงให้ผู้สมัครอยู่แล้ว ซึ่งการกดไลค์กดแชร์ไม่ควรกระทำ เพราะเป็นเหตุให้ถูกร้องได้ ดังนั้นจึงไม่ควรเสี่ยงที่จะกระทำ ส่วนผู้ที่จะชี้ว่าผิดหรือถูกคือ กกต.
 

ด้าน นายปกรณ์ มหรรณพ  และนายฐิติเชฏฐ์  นุชนาฏ กรรมการการเลือกตั้ง  ร่วมพบปะสื่อมวลชนในกิจกรรมประชุมชี้แจงการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด  (อบจ.) พร้อมด้วย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.และ นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. เป็นวิทยากรให้ความรู้กับสื่อมวลชน เพื่อความเข้าใจในการทำข่าวการเลือกตั้งท้องถิ่น   

 

นายปกรณ์  กล่าวว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้ถือเป็นภาระหนักมากของ กกต.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง   เนื่องจากกฎหมายและระเบียบต่างๆ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก  รวมทั้งข้อความที่เพิ่มมาก็ทำให้เกิดปัญหาในการตีความ ทำให้ กกต.ต้องประชุมวินิจฉัยเมื่อวันที่ 3 พ.ย.ว่า ข้าราชการการเมือง  ส.ส. ส.ว. เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ  ไม่สามารถช่วยผู้สมัครท้องถิ่นหาเสียงเลือกตั้งได้   โดยกกต.ได้กำชับไปยังผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัด ให้สอดส่องให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ  รวมทั้งการสืบสวนสอบสวน  ไต่สวน ให้รีบดำเนินการให้เป็นรูปธรรมด้วยความเสมอภาค  ระวังการได้เปรียบเสียเปรียบ  ไม่ให้เกิดข้อครหาหรือการร้องเรียนจากเรื่องนี้   ส่วนผู้สมัครและผู้ช่วยหาเสียงขอให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด 

 

นายปกรณ์  กล่าวการเลือกตั้งท้องถิ่น กกต.เป็นผู้ควบคุมการเลือกตั้ง  ภาระหน้าที่หลัก 3 เรื่องคือ การแบ่งเขต และพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.ดำเนินการเรียบร้อย หลังจากนี้ อปท.จะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยมี กกต.จังหวัดและ กกต.กลางเป็นพี่เลี้ยง   ส่วนเรื่องการสืบสวน ไต่สวนกรณีมีการร้องเรียน หรือความปรากฏซึ่งเป็นภารกิจหนักของกกต.หลังการเลือกตั้ง

 

“ผมอยากให้ข้อมูลเพื่อความเป็นธรรม  เพราะกฎหมายในส่วนนี้มีปัญหา   เนื่องจากกฎหมายให้เพียง กกต. ผอ.กต. และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสั่งระงับให้หยุดการกระทำ ถ้าเกิดเหตุ  ให้อำนาจเพียงแค่นี้   เพราะฉะนั้นท่านต้องไปศึกษาดูให้ดี  เพราะกฎหมายกำหนดไว้เพียงแค่นี้  เราอยากให้ข้อมูลเพื่อความเป็นธรรมกับทุกท่าน ท่านต้องไปศึกษา อย่าสุ่มเสี่ยง ทำผิดช่วยผู้สมัคร ซึ่งเรื่องนี้เป็นมติของกกต.แล้ว”