“ส.พระปกเกล้า”ส่งโมเดลคกก.สมานฉันท์ถึงมือ“ชวน” 2 พ.ย.นี้

29 ตุลาคม 2563

“ส.พระปกเกล้า”ส่งโมเดลคกก.สมานฉันท์ถึงมือ“ชวน” 2 พ.ย.นี้ แย้มสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คู่ขัดแย้ง “รัฐบาล-กลุ่มผู้ชุมนุม” พูดคุยเพื่อตกลงหาทางออกร่วมกัน

หลังประธานสภาผู้แทนราษฎร มอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้า กำหนดโมเดล "คณะกรรมการสมานฉันท์" เพื่อหาทางออกประเทศ

 

นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยว่า คาดว่า สถาบันพระปกเกล้าจะส่งโครงสร้างคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ให้กับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ได้ภายในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ ตามที่มอบหมายให้พิจารณาทำโครงสร้างเสนอ 


อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังเปิดเผยไม่ได้ว่าโครงสร้างจะเป็นอย่างไร และต้องเสนอให้ประธานสภาฯ พิจารณาก่อน

 


ขณะที่ นายสติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ออกมาเปิดเผยว่า ในวันที่ 30 ต.ค.นี้  นายวุฒิสาร นัดหารือภายใน เพื่อพิจารณาประเด็นที่นายชวน มอบให้สถาบันพระปกเกล้าคิดรูปแบบคณะกรรมการสมานฉันท์ เบื้องต้นจะเตรียมความพร้อมและข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง 


“ส่วนตัวเห็นด้วยการตั้งกรรมการสมานฉันท์ รูปแบบไม่ควรซ้ำกรรมการชุดต่างๆ ที่ผ่านมา ที่มีหน้าที่ศึกษาเสนอแนะแนวทางออกไปยังรัฐบาล แต่ไม่เคยมีฝ่ายใดนำไปปฏิบัติ ดังนั้นแนวทางที่ทำได้คือ การทำหน้าที่คนกลาง สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คู่ขัดแย้งหลักคือ รัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุมพูดคุยเพื่อตกลงหาทางออกร่วมกัน รูปแบบคล้ายกับการพูดคุยสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ และเชิญแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) พูดคุย แต่รอบนั้นไม่ได้ข้อเสนอ เพราะเกิดการเผชิญหน้ากัน”


ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยปฏิเสธร่วมวงกรรมการสมานฉันท์ เพราะมองว่าซื้อเวลาให้รัฐบาลนั้น พรรคเพื่อไทยควรฟังและพิจารณารูปแบบการทำงานก่อนประกาศจุดยืน เพราะอาจตกขบวนได้ เนื่องจากพรรคฝ่ายค้าน อาทิ พรรคก้าวไกลสนับสนุนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย 


“การที่พรรคเพื่อไทยมองว่าซื้อเวลา เพราะที่ผ่านมากรรมการในลักษณะนี้เมื่อตั้งขึ้นมาเพื่อระดมความเห็นแล้ว แต่คนที่เกี่ยวข้องไม่นำไปปฏิบัติดังนั้นสิ่งที่สถาบันพระปกเกล้าต้องพิจารณาคือ การออกแบบการทำงานเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม”