“อานันท์”หนุนแก้รธน.ปิดสวิตซ์ส.ว.-เลิกโหวตนายกฯ

29 ตุลาคม 2563

อดีตนายกฯ “อานันท์” แนะเปิดเวทีฝ่าวิกฤติชาติ ต้องไม่บังคับ หนุนแก้รธน.ปิดสวิชต์ส.ว. เลิกอำนาจโหวตนายกฯ ชี้เริ่มต้นผิดมา 7 ปีแล้ว  

 

นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านเวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 13 “จากรุ่นแอนะล็อกสู่ยุคดิจิทัล เราจะลดช่องว่างการสื่อสารด้วยความจริงใจและความงามได้อย่างไร” จัดโดยภาคีโคแฟค ประเทศไทย (Cofac) สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น มูลนิธิฟรีดิช เนามัน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงสถานการณ์การเมืองขณะนี้ตอนหนึ่งว่า

 

ปัจจุบันปัญหาของเมืองไทย เป็นปัญหาที่เรียกว่าเป็นการเมืองเหมือนที่เคยมีมาในอดีต การเมืองทำไปทำมาสู้รบกันเสร็จก็มีการรัฐประหาร จากนั้นก็เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ พอเขียนเสร็จก็เลือกตั้งและตั้งรัฐบาล ต่อมาอีก 7-8 ปี ก็วนเวียนกลับมา ส่วนตัวมองว่าสิ่งที่เราทำมาในอดีต 88 ปี ไม่ว่าจะเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญ การตั้งรัฐบาลหรือมีนโยบายต่างๆ ก็ดี เป็นเรื่องของการมองผลในระยะสั้นเท่านั้น ไม่ได้มองประเด็นถึงแก่นรากของประเด็น 


ความสงบที่แท้จริงต้องเป็นความสงบที่ไม่ได้เกิดจากการบังคับ ไม่ได้มาจากเบื้องบนและไม่ได้มาจากเบื้องล่าง แต่เป็นความสงบที่ทุกฝ่ายพูดคุยกันแล้วยอมรับ ต้องมองว่าความสงบที่แท้จริงรากอยู่ที่ไหน ตนคิดว่าตราบใดที่สังคมไม่มีความยุติธรรม ไม่มีความเสมอภาค มันไม่มีความสงบ อย่างน้อยหากจับเหตุของปัญหาที่ถูกต้องโอกาสที่เราจะไปสู่สังคมที่มีความยุติธรรมมากขึ้น 


“ผมคิดว่าความวุ่นวายในปัจจุบัน ผมจะไม่พูดถึงข้อเรียกร้องของเขา ความวุ่นวายในปัจจุบันมันอ่อนดีกรีมากกว่าในอดีต ไม่ว่าจะเป็น 14 ต.ค. 16 หรือ 6 ต.ค.19 ซึ่งเป็นข้อพิพาททางด้านการเมือง ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์จบด้วยการปะทะกัน การใช้อินเตอร์เน็ตแพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจเกิดขึ้น ไม่เหมือนพูดคุยกันต่อหน้า จึงต้องเปิดกว้างและรับฟังกันให้มาก”

 

นายอานันท์ กล่าวอีกว่า  ทั้งนี้การใช้อินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจเกิดขึ้น ไม่เหมือนพูดคุยกันต่อหน้า จึงต้องเปิดกว้างและรับฟังกันให้มาก สรุปแล้วตนคิดว่าปัญหาของทุกประเทศเป็นเรื่องที่น่าวิตกในเรื่องการสื่อสารสมัยใหม่ จึงเกิดเฟคนิวส์ต่างๆ ขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องระวังว่าเราจะอ่านหรือจะฟังอะไร เราอย่าไปเพิ่งมีข้อยุติเร็วนักว่าเป็นเพราะเหตุนั้นเหตุนี้  ต้องฟังและพิจารณาอย่างเที่ยงธรรมด้วย  และความรุนแรงทางวาจาหรือเฮทสปีช จะทำให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพทันที

ทั้งนี้นายอานันท์ ได้ตอบคำถามผู้ร่วมสัมมนาถึงประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญว่า  การเขียนรัฐธรรมนูญต้องเขียนหลักการสำคัญ แต่ของเรามีปัญหาคือเริ่มต้นจากนักกฎหมายก่อน โดยไม่ได้เน้นที่ประชาชน หมกมุ่นอยู่กับแบบฉบับหรือวิธีการเลือกตั้ง เขียนยาวละเอียดมากเกินไป และมีการหมกเม็ดในเรื่องต่างๆ มีผลใช้เมื่อมีกฎหมายลูก โดยให้นักการเมืองเขียน ถ้าผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนกฎหมายลูกเองมันจะสอดคล้องกันได้อย่างไร

 

การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือปรับปรุงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เราต้องวางหลักเกณฑ์ว่าควรให้สั้น ไม่ลงรายละเอียดมากเกินไป และต้องดูมาตราที่สร้างปัญหา ที่มีปัญหาแน่นอนคือการแต่งตั้ง 250 ส.ว. และให้อำนาจตั้งนายกฯ อันนี้ต้องออกไปแน่ๆ เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการเดินขบวนเป็นสิ่งที่เยาวชนรุ่นใหม่ และเยาวชนรุ่นเก่าอย่างตนอยากที่จะเห็นว่าไม่มีมาตรานี้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป

 

รวมทั้งมาตรา 112  คุณจะเขียนอย่างไรก็ได้ แต่จะต้องไม่เป็นคดีอาญา คือไม่มีการลงโทษ และเป็นคดีแพ่ง มีค่าปรับเท่านั้น และไม่ใช่ปรับในอัตราที่สูงเกินไป ต้องวางหลักเกณฑ์แน่นอนว่าอยากเห็นอะไร อีกหลายมาตราก็ต้องปรับปรุงกันไป

 

“อีกเรื่องที่จะเป็นปัญหา ผมไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะพูดว่าจะทำหรือไม่ทำ เด็กยืนยันว่านายกฯ เป็นตัวปัญหา คนรุ่นใหม่มองว่านายกฯ เป็นคนเดียวที่ปลดล็อกได้ จะปลดล็อกด้วยวิธีลาออกหรือไม่ผมไม่รู้ ถ้าไม่ลาออกผมก็ไม่ว่าอะไร เพราะเป็นสิทธิของท่าน แต่ต้องรู้ว่าเขาเรียกร้องอย่างนั้น ท่านฟังหรือได้ยินหรือไม่ผมก็ไม่รู้ แต่ถ้าเกิดจะเถียงกับเด็กรุ่นใหม่โดยอ้างกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มันไม่ไปไม่ถึงไหน เพราะเริ่มต้นมันผิดมาตลอดแล้ว มันผิดมา 7 ปีแล้ว คุณอาจจะไม่เห็นด้วย ผมก็ไม่ได้เห็นด้วยทุกอย่างแต่พยายามเข้าใจสถานะของท่านนายกฯ สถานะของรัฐบาลเหมือนกัน ถ้าไม่เข้าใจซึ่งกันและกันก็ต้องคุยกัน

 

ผมไม่สนใจที่จะเข้าไปร่วมด้วยทั้ง 2 ฝ่าย เพราะเริ่มต้นก็ผิดแล้วเด็กมันเริ่มต้นมาตั้ง 7 ปีแล้ว ท่านนายกฯ ถามว่า ผมทำอะไรผิด เป็นการพูดคนละภาษา เด็กพูดภาษาดิจิทัลแต่รัฐบาลยังพูดภาษาอนาล็อก สงครามการต่อสู้ก็คนละสนาม เด็กเล่นสนามนี้ผู้มีอำนาจเล่นอีกสนามหนึ่ง ไม่เคยเจอกันและพูดกันคนละประเด็น  ผมเห็นว่าสังคมโลกเขาพูดกันว่า คุณจะมีสันติภาพไม่ได้ถ้าไม่มีความยุติธรรม และคุณจะไม่มีความยุติธรรมถ้าคุณไม่มีความจริงใจระหว่างกัน” นายอานันท์ กล่าว