กกต.เตือนผู้สมัคร“อบจ.”เช็คคุณสมบัติให้ดี

29 ต.ค. 2563 | 12:26 น.

กกต.เตือนผู้สมัครสมาชิก-นายกอบจ.เช็คคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้ามให้ดีก่อนยื่นสมัคร 2-6 พ.ย. ยันหากพบไม่มีคุณสมบัติต้องถูกดำเนินคดีอาญาทุกราย  

 

วันนี้ (29 ต.ค.63)  นายฐิติเชฎฐ์ นุชนาฏ กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานได้ประชุมผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์  พูดคุย กับสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดทั่วประเทศ ที่จะมีการเปิดสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในวันที่ 2-6 พ.ย.นี้ และเลือกตั้งในวันที่ 20 ธ.ค. เพื่อมอบนโยบายการประชาสัมพันธ์ ตามกิจกรรม  “อัตลักษณ์ท้องถิ่นไทย สร้างนวัตกรรมใหม่ พร้อมใจไปเลือกตั้ง”  ซึ่งแต่ละจังหวัดจะผลิตสื่อโดยใช้อัตลักษณ์ท้องถิ่นไทยของแต่ละจังหวัดในการประชาสัมพันธ์ ให้เข้าถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งและประชาชน   เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้ง กระตุ้นให้คนออกมาใช้สิทธิ   


นายฐิติเชฏฐ์  เน้นย้ำให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่จะลงสมัครไม่ต้องรีบเร่งมาสมัคร โดยให้ตรวจสอบว่าตัวเองมีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรา 49 และไม่มีลักษณะต้องห้าม 26 ลักษณะตามมาตรา 50 ของ พรบ.เลือกตั้งท้องถิ่นก่อน โดยเฉพาะผู้สมัครที่อยู่ระหว่างการถูกระงับสิทธิสมัครชั่วคราว การต้องห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562 แล้วไม่ได้แจ้งเหตุ กลุ่มคนเหล่านี้จะถูกจำกัดสิทธิให้ไม่สามารถลงสมัครได้ 



 

 

“กกต.ห่วงมากว่าหากมายื่นใบสมัครแล้ว กกต.ตรวจพบในภายหลังว่าไม่มีคุณสมบัติ ก็จะถือว่าเป็นผู้ที่รู้อยู่แล้วเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครแต่ ยังลงสมัคร ผิดมาตรา 120 ซึ่ง กกต.ไม่สามารถเลี่ยงที่จะไม่ดำเนินคดีอาญาได้ โดยจะมีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000  บาท  และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี ซึ่งเมื่อยื่นสมัครแล้วจะมาถอนก็ไม่ได้เพราะความผิดเกิดขึ้นแล้ว ฉะนั้นอย่ารีบเร่งมาสมัคร ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน  ซึ่งในการเลือกตั้งส.ส.ที่ผ่านมาเมื่อกกต.ตรวจพบว่าไม่มีคุณสมบัติแล้วมาลงสมัครก็ดำเนินคดีอาญาทุกราย หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะจะเข้าข่ายกกต.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มีความผิดเช่นกัน”


นายฐิติเชษฐ์ กล่าวอีกว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ แม้ กกต.ไม่ได้เป็นผู้จัดโดยตรง แต่ก็มีหน้าที่ควบคุมให้การเลือกตั้ง สุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย จึงอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันตรวจสอบ สอดส่อง ไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้น โดย กกต.ก็ระดมภาคีเครือข่ายทั้งหมดในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน ให้ผู้มาใช้สิทธิออกมาใช้สิทธิให้มาก ลดบัตรเสีย และได้การเลือกตั้งที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง ซึ่งจากการที่เราไม่ได้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นมานาน คิดว่าประชาชนจะตื่นตัวออกมาใช้สิทธิกันมาก คาดว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิไม่ต่ำกว่า 75% 

 

 

ก่อนหน้านี้ นายอิทธิพร บุญประคอง  ประธานกรรมการการเลือกตั้ง เป็นประธานจับสลากแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด สำหรับปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกตั้ง สมาชิกและนายกฯ อบจ. ซึ่งการจับสลากดังกล่าว เป็นไปตามระเบียบ กกต.ที่นำรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งในแต่ละเขต มาจับสลากเพื่อแต่งตั้งให้ปฎิบัติหน้าที่ จังหวัดละ 5 – 8 คน ใน 76 จังหวัด  ขึ้นอยู่กับจำนวนเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นๆ โดยใน 1 จังหวัดจะมีผู้ตรวจฯ ที่เป็นคนในพื้นที่ 2 คน ส่วนที่เหลือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ข้ามจังหวัด  ซึ่งใช้บัญชีผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่สมัครตั้งแต่การเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งเมื่อจะมีการเลือกตั้งระดับใด จะต้องมีการจับสลากใหม่  เพื่อให้ได้ผู้ตรวจการมาปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละคราวไป