แก้รัฐธรรมนูญ ทางออกของประเทศ

28 ต.ค. 2563 | 07:10 น.

 

การประชุมร่วมรัฐสภา เปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อหาทางออกประเทศ ระหว่างวันที่ 26-27 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา ประเด็นที่มีการพูดกันมากที่สุด คือ การเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากนายกรัฐมนตรี และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

 

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ประกาศเป็นสัญญาประชาคมในเวที่รัฐสภาถึงความชัดเจนในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

แก้รธน.เสร็จ ธ.ค. 63

 

พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงถึงขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จะมีการพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเดือน พ.ย. 2563 ซึ่งการพิจารณาวาระที่ 1-3 น่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน ธ.ค.นี้ แต่ยังประกาศใช้ไม่ได้ เพราะต้องมีการทำประชามติก่อน โดยรัฐบาลจะเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์หน้า และหลังจากร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวผ่านการพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วจึงจะมีการทำประชามติ 

 

“สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นแล้วว่า ผมให้การสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

 

ส่วนกรณีที่เรียกร้องให้นายกฯ ลาออกจากตำแหน่งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงว่า ได้ปรึกษาฝ่ายกฎหมายแล้ว ถ้านายกฯ ลาออก จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ได้รับคำตอบว่า ถ้านายกฯ ลาออก ครม.ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 (1) ซึ่งระบุว่า นายกฯ และครม.จะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม.ใหม่เข้ารับหน้าที่ และจะต้องมีการเลือกนายกฯ คนใหม่จากรัฐสภา โดยต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา จะอาศัยเสียงส.ส.ไม่ว่าจะพรรคข้างใดข้างหนึ่ง ก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ต้องมีเสียง ส.ว.ด้วย 

 

ส่วนการ “ยุบสภา” ก็จะทำ ให้สมาชิกภาพของ ส.ส.ทุกคนสิ้นสุดลง ตนจึงไม่แน่ใจว่าต้องการเช่นนี้กันหรือไม่

 

นายกฯออก-กติกาเดิม

 

เช่นเดียวกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อธิบายเพิ่มเติมว่า หากนายกฯ ลาออกจะต้องไปเลือกนายกฯใหม่ ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ซึ่งจะต้องใช้ชื่อนายกฯ ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ยกเว้นชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ กับชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  

 

 

แก้รัฐธรรมนูญ ทางออกของประเทศ

 

 

แต่ปัญหาก็คือจะต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 366 เสียง ซึ่งเฉพาะเสียง ส.ส.ฝ่ายค้านไม่พอแน่นอน จะต้องใช้เสียง ส.ว.ด้วย หรือหากเป็นไปได้ ฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลจะจับมือกันโหวตเลือกนายกฯ ตัวแทนจากฝ่ายค้านก็ดูเหมือนว่า พรรคพลังประชารัฐจะไม่เอาด้วย 

 

ฉะนั้น จากเหตุผลที่ได้อภิปรายกันในสภา ประเด็นแรก เรื่อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น สภาจะพิจารณาเฉพาะ 6 ญัตติเท่านั้น แต่ผู้ชุมนุมต้องการให้นำญัตติของประชาชนมาพิจารณา ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ยกร่างใหม่ และไม่ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ตรงนี้เห็นต่างกันระหว่างรัฐบาลกับผู้ชุมนุม 

 

 

 

ส่วนประเด็นนายกฯ ลาออก ก็ยังใช้กติกาเดิม ผู้ชุมนุมจะไม่ยอมรับแน่นอน สุดท้ายนายกฯ ได้ถามสภาว่า หากยุบสภา จะพร้อมหรือไม่ 

 

โดยประเด็นยุบสภาเป็นอีกทางออกแต่ไม่มีการรับประกันว่ายุบสภาแล้วยังไปเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญเดิม ผู้ชุมนุมจะยุติหรือไม่เพราะไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้อง 

 

หนุนกก.สมานฉันท์

 

ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นคือต้องเผชิญหน้ากับความจริง  ทุกการชุมนุมมักจะเกิดความโกรธเกรี้ยวความไม่พอใจจากการไม่ยอมรับในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จริงอยู่ที่แม้ชุดความคิดจะมีผลต่อการออกมาเคลื่อนไหว แต่เราก็ไม่ควรมองข้ามเรื่องอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

 

ทางออกของเรื่องนี้ คิดว่า 1. การแก้รัฐธรรมนูญ 2. การเสนอตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เสนอ 

 

ส.ว.ชงนิรโทษทุกสีเสื้อ

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายว่า การอภิปรายตั้งแต่ นายกรัฐมนตรี แถลงยอมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการชี้แจงของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ระบุรัฐบาลกำลังจะรีบเสนอกฎหมายที่เหมาะสม ทำให้บรรยากาศของสภาที่อึมครึมมาเป็นแรมเดือน ผ่อนคลายลงได้ทันที 

 

 

 

“นายกฯเป็นส่วนสำคัญในการคลี่คลายเรื่องนี้ แม้จะเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ เห็นได้ว่าท่านเป็นผู้นำต่อการแก้ไขปัญหาได้จริง ผมเป็นคนหนึ่ง ที่อภิปรายสนับสนุนแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามแนวทางที่นายกฯ เสนอ เพราะเชื่อว่าจะเป็นแนวทางที่จะออกจากปัญหา”

 

นายวันชัย กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้นายกฯ ได้ให้สัมภาษณ์อยู่ตอนหนึ่งว่า เราควรหันหน้ากลับมาปรองดองกัน เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สิ่งที่นายกฯ พูดนี้ หากเกิดได้จริงตามที่พูด เชื่อเหลือเกินว่าความสงบเรียบร้อย รวมไปถึงความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะความสามัคคีของคนไทยเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่หากคน ในประเทศแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ประเทศจะเกิดหายนะแน่นอน

 

“ผมอยากให้นายกรัฐมนตรีที่เป็นนักการเมืองที่มาจากนักการทหาร เร่งสร้างความปรองดอง ด้วยการล้างโทษของนักโทษทางการเมืองกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จะเป็นจุดหนึ่งที่จะสร้างเมตตาธรรม ช่วยทำให้ประเทศชาติเกิดความสงบขึ้น และความปรองดองได้ และบ้านเมืองก็จะเริ่มเดินหน้าได้” นายวันชัย ระบุ 

 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,622 หน้า 12 วันที่ 29 - 31 ตุลาคม 2563