ชี้หากสถานการณ์การเมืองรุนแรงฉุดเศรษฐกิจติดลบมากกว่า 8%

25 ต.ค. 2563 | 14:00 น.

“อนุสรณ์”ชี้หากสถานการณ์การเมืองรุนแรงฉุดเศรษฐกิจติดลบมากกว่า 8% แนะให้หน่วยงานกลางจัดเวทีเจรจาระหว่างรัฐบาลกับผู้ชุมนุม

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง  และ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม. รังสิต เปิดเผยว่า หน่วยงานที่เป็นกลางและน่าเชื่อถือควรจัดเวทีให้ผู้แทนรัฐบาลและผู้แทนฝ่ายชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเจรจาหารือกันนอกเหนือจากการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อหาทางออก หากไม่เกิดความรุนแรงทางการเมืองในปีนี้ เศรษฐกิจจะหดตัวประมาณ 8% หากเกิดความรุนแรงทางการเมืองจะส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุน การบริโภคและการท่องเที่ยว เศรษฐกิจอาจจะติดลบมากกว่า 8%

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองไม่น่าจะกระทบต่อภาคส่งออกมากนัก โดยเฉพาะการส่งออกในธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารมีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก แต่กำลังการผลิตส่วนเกินยังมีอยู่จำนวนมากและอัตราการใช้กำลังการผลิตยังคงอยู่ในระดับต่ำการขยายตัวของการจ้างงานเพิ่มเติมจากการลงทุนใหม่ๆจึงยังไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของภาคส่งออกไทยยังช้ากว่าหลายประเทศในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีนและเวียดนาม เนื่องจากไทยผลิตเพื่อส่งออกสินค้าทางด้านไอทีหรือสินค้าเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำงานจากบ้าน หรือ Work from home น้อยกว่าประเทศเหล่านี้     

              สำหรับเศรษฐกิจภาคการลงทุนจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นหลักยกเลิกประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินร้ายแรง ประเมินเบื้องต้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเม็ดเงิน 8.1 หมื่นล้านบาทปลายปีมีประสิทธิภาพดีขึ้นหลังยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยจากความตึงเครียดทางการเมืองคลี่คลายลงและการชุมนุมทางการเมืองอย่างสงบไม่ใช่เหตุฉุกเฉินร้ายแรง

ชี้หากสถานการณ์การเมืองรุนแรงฉุดเศรษฐกิจติดลบมากกว่า 8%

            นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า มาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 2.1 หมื่นล้านบาทจะก่อให้เกิดตัวทวีคูณทางการเงินสูงสุดเมื่อเทียบกับมาตรการโครงการคนละครึ่งวงเงิน 30,000 บาทและมาตรการโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ให้ประชาชนนำเงินที่ใช้จ่ายในสินค้าและบริการมาหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้แต่ไม่เกิน 30,000 บาท

ขณะที่มาตรการส่งเสริมท่องเที่ยวภายในประเทศภายใต้โครงการไทยเที่ยวไทย “แพ็กเกจเราเที่ยวด้วยกัน” และ “แพ็กเกจกำลังใจ” ไม่มีผลมากนักในการกระตุ้นภาคท่องเที่ยวเพราะใช้สิทธิไม่ถึง 20% ณ เดือนตุลาคม ไม่ได้ส่งผลทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัว ต้องขยายมาตรการออกไปถึงเดือนเมษายนปี 64 โดยใช้งบประมาณก้อนเดิมก็จะทำให้เป็นผลดีต่อการท่องเที่ยวมากขึ้นและควรผ่อนปรนเงื่อนไขให้ง่ายขึ้นและสามารถใช้สิทธิท่องเที่ยวภูมิลำเนาของตัวเองได้ ขณะนี้ผู้ใช้สิทธิส่วนใหญ่จะท่องเที่ยวใกล้ๆเช่น ชลบุรี ชะอำ หัวหิน เป็นต้น เม็ดเงินไม่กระจายไปยังพื้นที่ท่องเที่ยวในภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

ส่วนการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่นำร่องเปิดประเทศล่าสุด ยังต้องรอผลการดำเนินการว่า สามารถควบคุมการแพร่ระบาดและบริหารความมั่นใจเรื่องการปลอดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ได้หรือไม่ หากมีการติดเชื้อจากการเปิดท่องเที่ยวจากต่างชาติที่นำร่องอยู่เวลานี้ อาจมีผลกระทบต่อ “โครงการไทยเที่ยวไทย” ทันที การต่อเวลาการพักหนี้ไปจนถึงสิ้นปีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะช่วยบรรเทาแรงกดดันต่อลูกหนี้เอ็นพีแอล (NPLs) ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้นตราบเท่าที่ยังไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างกิจการหรือเศรษฐกิจยังคงหดตัว

บริษัทหรือลูกหนี้ที่มีปัญหาสภาพคล่องจะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อย่างแน่นอน และการใช้มาตรการพักหนี้ยาวนานเกินไป อาจทำให้เกิดสภาวะด้านศีลธรรม (Moral Hazard) ขึ้นมาในระบบการเงินและการจงใจเบี้ยวหนี้ซึ่งจะทำให้ปัญหาในระบบสถาบันการเงินมีความซับซ้อนยุ่งยากมากขึ้นในอนาคต

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

“อนุสรณ์” หนุนเลิก “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” แนะเจรจาหาทางออกร่วมกัน

“อนุสรณ์” ชี้ Yield Curve Control-ดอกเบี้ย 0% จำเป็นมากขึ้น

“อนุสรณ์” แนะยกเลิกหนี้ครัวเรือนบางส่วน