รัฐสภาถก 26-27 ต.ค. หาทางออกประเทศ กมธ.ล้มขยายเวลาศึกษาญัตติรธน.

21 ต.ค. 2563 | 04:35 น.

ครม.ไฟเขียวเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ 26-27 ต.ค.นี้ เปิดทาง ส.ส.-ส.ว. เสนอทางออกลดขัดแย้งการเมือง ด้านกมธ.ศึกษาญัตติแก้รธน.ล้มขยายเวลา เร่งส่งประธานสภาฯ สัปดาห์หน้า 

 

ในที่สุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ก็มีมติเห็นชอบเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายหาทางออกปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ร่วมกัน ระหว่างวันที่ 26-27 ต.ค.นี้ 

 

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีประสานงานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรายงานต่อที่ประชุม ครม. ถึงการประชุมร่วมกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนฝ่ายค้าน และตัวแทนรัฐบาล พิจารณาการเปิดประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา เพื่อให้ทุกฝ่ายอภิปรายแสดงความคิดเห็นและชี้แจงข้อเท็จจริง สร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และลดปัญหาข้อขัดแย้ง ตามมาตรา 165 เปิดเผยว่า ครม.ได้เห็นชอบกำหนดเปิดประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา ในวันที่ 26-27 ต.ค.นี้

 

“บิ๊กตู่”ให้ช่วยกันอธิบาย

 

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดในที่ประชุม ครม.ขอให้ทุกพรรคช่วยกันอธิบายถึงสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการมา และขอให้รับฟังปัญหาของประชาชนให้ได้มากที่สุด รวมถึงข้อเรียกร้องต่างๆ เพราะหลายเรื่องที่ ผู้ชุมนุมเรียกร้อง รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่การตั้งคณะกรรมาธิการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีความจริงใจ 

 

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.ได้เห็นชอบตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา 2563 โดยเป็นการอภิปรายทั่วไป แบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 165 ส่วนการกำหนดวันนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เนื่องจากช่วงเวลามีความกระชั้น เพราะเหลือเพียงไม่กี่วันจะเปิดประชุมสภาสมัยสามัญในวันที่ 1 พ.ย. 2563 ดังนั้นรัฐบาลอยากดำเนินการให้เร็วที่สุด 

 

 

รัฐสภาถก 26-27 ต.ค. หาทางออกประเทศ กมธ.ล้มขยายเวลาศึกษาญัตติรธน.

 

 

ส่วนกระแสข่าวว่าจะเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 26-27 ต.ค.นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ก็เป็นกรอบช่วงเวลาที่เร็วที่สุด เนื่องจากวันที่ 21-22 ต.ค.เป็นวันทำการ ส่วน 23-25 ต.ค. เป็นวันหยุดราชการ ดังนั้น เร็วที่สุดคือวันที่ 26 ต.ค.นี้

 

นายวิษณุ ยังตอบข้อซักถามที่ว่าเรื่องที่จะหารือในที่ประชุมสภาจะเจาะจงเฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเรื่องเดียวหรือไม่ ว่าอยู่ที่รัฐบาลจะขอเปิดเรื่องใดบ้าง ส่วนจะมีประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตนไม่ทราบ เพราะไม่ทราบความคืบหน้าทั้งของกลุ่มไอลอร์ และคณะกรรมาธิการศึกษาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลก่อนรับหลักการว่าขณะนี้ดำเนินการถึงขั้นตอนไหนแล้ว

 

 

 

เร่งชงแก้รธน.เข้าสภา 

 

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับก่อนรับหลักการ รัฐสภา แถลงว่า คณะกมธ.จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติให้เสร็จภายในวันที่ 22 ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นการพิจารณาตามกำหนดเวลา 30 วัน คาดว่าจะส่งให้สภาได้ในวันที่ 26-27 ต.ค.นี้ เพื่อให้ประธานรัฐสภาบรรจุระเบียบวาระการประชุม และคาดว่าจะพิจารณาได้สัปดาห์หน้า หรือต้นเดือน พ.ย.นี้  

 

ส่วนความเห็นเรื่องการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ยังเป็น 2 แนวทาง คือ 1. สามารถทำได้โดยการตั้งส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 2. ยังทำไม่ได้ เพราะขัดต่อคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2555 ว่าการจะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องทำประชามติก่อนจะพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงต้องให้สมาชิกรัฐสภาตัดสินใจในวันที่พิจารณารับหลักการอีกครั้ง ส่วนญัตติอื่นๆ กมธ.ได้พิจารณาข้อดี ข้อเสีย และหาข้อสรุปเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาตัดสินใจต่อไป

 

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญต้องทำด้วยความรอบคอบ เพราะมีข้อจำกัดหลายเรื่อง ไม่ใช่ว่าเราอยากจะแก้ได้ทุกเรื่อง นอกจากจะพูดถึงมาตรา 256 ยังมีมาตรา  255 ที่เขียนไว้ชัดเจนว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยน แปลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐจะกระทำมิได้ ซึ่งการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเราต้องพิจารณามาตรา 255 ประกอบด้วย เราจึงเขียนในญัตติของฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ว่าเราจะไม่มีการแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 แต่ก็มีกระแสของบุคคลบางกลุ่มที่อยากให้แก้ทั้งฉบับ ซึ่งอาจจะขัดกับมาตรา 255 การดำเนินการต่างๆ จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ และสามารถทำได้ในทางกฎหมายด้วย” นายชัยวุฒิ ระบุ 

 

 

 

เมื่อถามว่าพิจารณาได้ทันในการประชุมสภาสมัยวิสามัญที่คาด ว่า จะเปิดในสัปดาห์หน้าหรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจ แต่ตามปกติก่อนจะนัดประชุมรัฐสภาต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ซึ่งหากเป็นช่วงต้นสัปดาห์ คิดว่าไม่ทัน แต่อาจจะเป็นปลายสัปดาห์ หรือต้นสัปดาห์ถัดไปอาจจะทัน ซึ่งการจะรอไปอีกสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ ไม่น่าจะทำให้บ้านเมืองเสียหาย เพราะกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาอยู่แล้ว ไม่ใช่วันสองวันจะเสร็จ เพราะเป็นกฎหมายสำคัญของประเทศ จึงอยากให้ประชาชนอดทน และยอมรับกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติ และใช้กันมาตั้งแต่ปี 2560

 

“สมาชิกรัฐสภาทุกคนเห็นพ้องกันว่ารัฐธรรมนูญอาจมีบางประเด็น บางมาตราที่ต้องแก้ไขและยินดีที่จะแก้ไข แต่ประเด็นที่มีความเป็นห่วงตอนนี้ คือเรื่องการตั้งส.ส.ร.เพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับทำได้หรือไม่ และขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นี่คือเรื่องใหญ่ที่ทำให้ถกเถียงกันนานเป็นพิเศษ” นายชัยวุฒิ กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปมปัญหาที่กำลังถกเถียงกันถึงการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับทำได้หรือไม่ และขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น น่าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และคาดว่าการยื่นน่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐสภารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว โดยเชื่อว่าน่าจะเป็น ส.ว.ที่จะเป็นผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะส.ส.มั่นใจว่าการตั้ง ส.ส.ร.มา ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ขัดกฎหมาย 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,620 หน้า 12 วันที่ 22 - 24 ตุลาคม 2563