4 พรรค - คณะก้าวหน้า เปิดศึก ชิง‘นายก อบจ.’

11 ต.ค. 2563 | 00:05 น.

 

 

วันที่ 12 ต.ค. 2563 นี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเคาะอย่างเป็นทางการว่า จะให้มีการ “เลือกตั้งท้องถิ่น” รูปแบบแรก คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในวันใด ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 13 ธ.ค. หรือ 20 ธ.ค. 2563 

หลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยให้เลือก นายก อบจ. และ สามาชิก อบจ. ก่อน ภายใน 60 วัน 

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. บอกว่า เรื่องวันเลือกตั้งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกกต. จะเห็นว่าวันใดเหมาะสมระหว่างวันที่ 13 ธ.ค. หรือ 20 ธ.ค. แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นวันที่ 20 ธ.ค. เนื่องจากวันที่ 13 ธ.ค.เป็นช่วงวันหยุดยาว  

สำหรับสนามเลือกตั้ง “อบจ.” นั้น มีจังหวัดละ 1 แห่ง 76 แห่ง 76 จังหวัด ไม่นับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่วนจำนวนสมาชิกสภา อบจ. (ส.อบจ.) ของแต่ละจังหวัด จะคำนวณจากสัดส่วนจำนวนประชากร

เมื่อแยกรายจังหวัดจะพบว่า จังหวัดที่มี ส.อบจ. มากที่สุด คือ จ.นครราชสีมา มี ส.อบจ. ได้ถึง 48 คน 

ส่วนจังหวัดที่มี ส.อบจ. 42 คน มี 7 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช บุรีรัมย์ อุดรธานี และ อุบลราชธานี

ขณะที่จังหวัดที่มี ส.อบจ. 36 คน มี 12 จังหวัด,  ส.อบจ. 30 คน มี 33 จังหวัด และ ส.อบจ. 24 คน อีก 23 จังหวัด 

 

 

4 พรรค - คณะก้าวหน้า  เปิดศึก ชิง‘นายก อบจ.’

 

 

ในการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ ตำแหน่งสำคัญที่จะมีการแข่งขันแย่งชิงกันดุเดือดคือ “นายก อบจ.” ของแต่ละจังหวัด ซึ่ง “คณะก้าวหน้า” ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ออกตัวและเตรียมตัวมานานแล้วว่า จะส่งคนลงชิงเก้าอี้นายก อบจ.แน่นอน เบื้องต้นตั้งเป้าไว้ราว 40 จังหวัด 

ขณะที่ พรรคเพื่อไทย ของ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์, พรรคประชาธิปัตย์ ของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, พรรคภูมิใจไทย ของ อนุทิน ชาญวีรกูล, พรรคพลังประชารัฐ ของ พล.อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณ ต่างก็เตรียมส่งคนลงชิงชัยในเก้าอี้ นายก อบจ. เช่นกัน    

 

 

 

 

ทั้งนี้ เมื่อสำรวจตรวจแถว “นายก อบจ.” ของแต่ละพรรคการเมือง สายพรรคพลังประชารัฐ ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก อาทิ 

สุนทร รัตนากร นายก อบจ.กำแพงเพชร พี่ชายวราเทพ รัตนากร, อัครเดช ทองใจสด นายก อบจ.เพชรบูรณ์ ลูกชายเอี่ยม ทองใจสด ส.ส.เพชรบูรณ์, อนุสรณ์ นาคาศัย นายก อบจ.ชัยนาท น้องชายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ, กิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายก อบจ.ฉะเชิงเทรา บิดา ชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา   

ขณะที่พรรคเพื่อไทย ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคอีสาน อาทิ วิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี, มังกร ยนต์ตระกูล นายก อบจ.ร้อยเอ็ด, ยงยุทธ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์ 

ว่ากันว่า ของพรรคเพื่อไทย จะมีปัญหาตำแหน่งนายก อบจ.สายภาคเหนือตอนบน ที่ต้องแข่งขันกันเอง เช่น สนามเชียงราย และ สนามลำปาง

สายพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนใหญ่จะเป็นสนามภาคใต้ บางสนามต้องขับเขี้ยวกันเอง เช่น สนามเมืองตรัง มี กิจ หลีกภัย หัวหน้ากลุ่มกิจปวงชน เป็นนายก อบจ.ตรัง 4 สมัย และครั้งนี้ได้ประกาศวางมือ ส่งไม้ต่อให้ “บุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ” พี่ชาย สมชาย โล่สถาพรพิพิธ อดีต ส.ส.ตรัง เขต 3 ขณะที่ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง ก็อาจจัดทีมลงสู้กับกลุ่มกิจปวงชน ยุคบุ่นเล้ง เช่นกัน

 

 

 

 

ส่วนสนามสงขลา นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย, ถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม, เดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา เขต 5 และ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา เขต 8 เปิดตัวหนุน “ไพเจน มากสุวรรณ์” ลงชิงเก้าอี้นายก อบจ.

ไปดูที่ พรรคภูมิใจไทย ว่ากันว่า เนวิน ชิดชอบ ก็ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งท้องถิ่นเช่นกัน อย่างปี 2554 ไม่ประสบความสำเร็จในสนาม ส.ส. แต่ก็ยึดเก้าอี้นายก อบจ. ในอีสาน และภาคกลาง ได้อย่างน้อย 6-7 จังหวัด 

ครั้งนี้ค่ายสีนํ้าเงินเตรียมส่งผู้สมัครนายก อบจ. ทั้งภาคอีสาน ภาคกลาง และ ภาคใต้ เช่นกัน  

ศึกชิงเก้าอี้ “นายก อบจ.” ครั้งนี้ มีทั้ง พรรคการเมืองใหญ่ 4-5 พรรค เจ้า ของพื้นที่เดิม และมีน้องใหม่อย่าง คณะก้าวหน้า เครือข่ายพรรคก้าวไกล โดดร่วมวง …รับรองว่าการแข่งขันดุเดือดแน่

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,617 หน้า 12 วันที่ 11 - 14 ตุลาคม 2563