ป.ป.ช.เปิด “ความโปร่งใสปี 63” หน่วยงานรัฐได้แค่เกรด C

28 ก.ย. 2563 | 09:28 น.

ป.ป.ช.เปิดผลประเมินคุณธรรมความโปร่งใสหน่วยงานภาครัฐ ปี 63 ได้ 67.90 คะแนน อยู่เกรด C ชี้ผู้นำอาจตกใจ แต่การมีส่วนร่วมของประชาชนดีขึ้น เตรียมประเดิมจ่ายเงินผู้แจ้งเบาะแสทุจริต องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแนะหน่วยงานรัฐเปิดข้อมูลให้ประชาชนร่วมตรวจสอบให้มากขึ้น

 

วันนี้ (28 ก.ย.63)  สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จัดงาน “ITA DAY 2020 - Talks and Result Announcement”  ภายในงานมีการจัดเวทีสนทนาและประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA)  ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 

 

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. บรรยายในหัวข้อ "การประกาศผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563: ข้อค้นพบเกี่ยวกับคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐในสายตาของคนไทยทั่วประเทศ"  ว่า คะแนนเฉลี่ยปี 2563 อยู่ที่ 67.90 คะแนน หรือระดับ c  โดยหน่วยงานที่ได้คะแนนสูงสุดคือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้คะแนน 99.60  ส่วน อบต.สะอาด จ.ร้อยเอ็ด ได้ 28.16 คะแนน คะแนนต่ำสุด  ซึ่งมีหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์หรือได้คะแนน 80 คะแนนขึ้นไป เพียงร้อยละ 13.19 

 

ทั้งนี้ผลการประเมินเมื่อจำแนกตามประเภทหน่วยงาน  พบว่า ประเภทองค์กรศาลได้ 91.41 คะแนน ระดับ A  ประเภทองค์กรอัยการ ได้ 71.30 คะแนน ระดับ C ประเภทองค์กรอิสระ ได้ 89.44 คะแนน ระดับ A ประเภทหน่วยงานในสังกัดรัฐสภา ได้ 93.06 คะแนน ระดับ A  ประเภทกรมหรือเทียบเท่า 85.59 คะแนน  ระดับ A  ประเภทรัฐวิสาหกิจ ได้ 85.60 คะแนน ระดับ A ประเภทองค์กรมหาชน ได้ 85.02 คะแนน ระดับ B  ประเภทหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ได้ 83.47 คะแนน ระดับ B  ประเภทกองทุน ได้ 83.42 คะแนน ระดับ B และประเภทสถาบันอุดมศึกษา ได้ 87.46 คะแนน ระดับ A  ผลลัพธ์จากการประเมิน ITA เป็นสัญญาณที่ดีของการมีส่วนร่วมต่อต้านการทุจริต  ซึ่งมีคนร่วมประเมิน 1,301,665 คน  มากขึ้นกว่าปี 2562

 

 ส่วนเรื่องการบรรลุเป้าหมายที่กำหนดให้ในปี 2565 ต้องมีหน่วยงานได้คะแนนจากการประเมิน 85 คะแนน  ร้อยละ 80 ของทุกหน่วยงาน   ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ยากและท้าทาย   นอกจากนั้นยังพบว่ามี 499 หน่วยงานได้คะแนนระดับต่ำ หรือเป็นค่า F  ขณะที่หน่วยงานส่วนกลางค่าประเมินจะอยู่ในระดับกลางไประดับสูง 

 

สำหรับหน่วยงานส่วนภูมิภาคและหน่วยงานท้องถิ่นจะอยู่ในระดับกลางไปต่ำ  และยังพบว่าหน่วยงานภาครัฐยังมีจุดอ่อนเรื่องการเปิดเผยข้อมูล  รวมทั้งการพัฒนาเรื่อง e-service  ซึ่งมีหน่วยงานที่พัฒนาได้เพียง 1,522 หน่วยงานเท่านั้น  ขณะที่หน่วยงานส่วนใหญ่ยังให้บริการแบบ e-service ได้  ส่วนข้อค้นพบคุณธรรมความโปร่งใสของหน่วยงายรัฐในสายตาคนไทย พบว่า พฤติกรรมการรับสินบนมีแนวโน้มลดลง  หน่วยงานภาครัฐเคร่งครัดต่อการเบิกจ่ายงบประมาณที่ถูกต้อง  

 

ส่วนการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแผนการใช้จ่ายงบประมาณและสร้างการรับรู้ด้านการใช้จ่ายงบประมาณยังไม่มากพอ  หากเปิดเผยข้อมูลการรั่วไหลจะลดลง  ขณะที่กลไกการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้งบประมาณภายในหน่วยงานรัฐยังไม่มากเพียงพอ  ขณะที่พฤติกรรมของผู้บังคับบัญชาหรือผู้บริหารสั่งการให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องนั้นมีทิศทางที่ลดลง  การบริหารงานภาครัฐมีธรรมาภิบาลมากขึ้น  พฤติกรรมการเอาทรัพย์สินของราชการ ไปเป็นของส่วนตัวมีแนวโน้มลดลง  แต่เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่มั่นใจในการจัดการเรื่องร้องเรียนการทุจริตในหน่วยงาน ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นปัญหาอยู่  แม้ ป.ป.ช.จะมีมาตรการการกันพยาน หรือมาตรการการจ่ายเงินให้ผู้แจ้งเบาะแสการทุจริต  ซึ่งศาลปกครองได้มีคำวินิจฉัยว่า ป.ป.ช.สามารถจ่ายเงินให้ผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตได้แล้ว  จากก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ไม่กล้าจ่าย เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ ดังนั้นหวังว่ามาตรการต่างๆ จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีความเชื่อมั่นมากขึ้นได้

 

พล.ต.อ.วัชรพล ยังกล่าวว่า หลังจากนี้จะเสนอผลการประเมินให้คณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป ซึ่งคิดว่าผู้นำประเทศคงสนใจ และอาจจะตกใจเหมือนกันที่คะแนนยังอยู่ระดับต่ำ  และจะนำผลการประเมิน ITA ไปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ  เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือ เพื่อยกระดับการประเมิน  รวมทั้งเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการเปิดเผยข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ

 

ด้านนายวันฉัตร สุวรรณกิตติ  ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  บรรยายในหัวข้อ "การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ: ความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศและการเสริมสร้างความโปร่งใส"   ว่า ITA สำคัญมาก เป็นเป้าหมายหนึ่งของแผนแม่บทในยุทธศาสตร์ชาติ หากหน่วยงานใช้ ITA เป็นเครื่องมือในการทำงาน จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

 

ทั้งนี้ ITA ไม่ใช่เครื่องมือจับผิด   ไม่ใช่เครื่องมือจับโกง   แต่จะเป็นเหมือนเครื่องเตือนให้เห็นว่าหน่วยงานเราอยู่ตรงไหนและควรพัฒนาต่อไปอย่างไร   จึงขอฝากหน่วยงานกว่า 8 พันหน่วยงาน   ทำงานโดยใช้ ITA เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการทำงานให้ไปถึงมาตรฐาน ส่วนการเปิดเผยข้อมูลวันนี้เราเร่งเปิดมากขึ้นแล้ว หลายข้อมูลเข้าถึงได้  และอยู่ในรูปแบบข้อมูลดิจิตอลทั้งหมด   ดังนั้นหากทุกหน่วยงานช่วยกันเปิดเผยข้อมูล ก็จะทำให้นำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐได้   เพื่อให้ประชาชนได้นำข้อมูลไปใช้  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน

 

นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)  บรรยายในหัวข้อ "ไขปริศนา คอร์รัปชัน" ว่า ระหว่างปี 58-61 เรามีมาตรการและคำสั่งเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชั่น กว่า 159 มาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่น แต่ที่ผ่านมาการคอร์รัปชั่นยังไม่หมดไป  การเปิดเผยข้อมูลจะเป็นประโยชน์กับประชาชน เพราะการแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องของทุกคน  อย่าหวังให้รัฐบาลทำฝ่ายเดียว ด้วยการเปิดเผยข้อมูลโดยอาศัยเทคโนโลยีในปัจจุบันจะทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และจะนำไปสู่ผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนทุกคน

 

 

 

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ  หรือ “ไอติม” บรรยายหัวข้อ "องครักษ์พิทักษ์ประชาธิปไตย : การติดอาวุธเยาวชน ในการติดตามและตรวจสอบการเลือกตั้ง" ว่า การเป็นประชาธิปไตยกับการปรับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน  มีความสัมพันธ์กัน ประเทศใดที่มีประชาธิปไตยสูงจะทำให้ภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นดีขึ้น 

 

ดังนั้น การส่งเสริมประชาธิปไตยและการลดการทุจริตต้องทำควบคู่กัน  ทั้งนี้อยากบอกภาครัฐอย่ามองว่าการตรวจสอบภาคประชาชนเป็นศัตรู  เพราะการตรวจสอบภาคประชาชนจะเป็นการเสริมการตรวจสอบภาครัฐ  ดังนั้นควรสนับสนุนและอำนายความสะดวกการตรวจสอบของประชาชนทุกมิติ  นอกจากนั้นภาครัฐจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่าย และมีช่องทางชัดเจนในการแจ้งเหตุเพื่อป้องกันการทุจริต