ส่องผลงาน "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" ว่าที่รมว.คลังคนใหม่

27 ก.ย. 2563 | 07:57 น.

ส่องผลงาน "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" ในช่วงดำรงตำแหน่งรมว.คมนาคม  ก่อนหวนคืนรัฐบาล "ลุงตู่ 2" นั่งเก้าอี้รมว.คลังคนใหม่

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือ "รมว.คลัง" คนใหม่ แทนนายปรีดี ดาวฉาย ที่ลาออกหลังเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 27 วัน คือ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่ 1

 

หากย้อนกลับไปดูผลงานของนายอาคม ในยุครัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์. จันทร์โอชา 1 พบว่าตั้งแต่ปี 2558 ที่นายอาคม ได้ก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะพบว่าเขาได้สร้างผลงานไว้หลายด้าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หนุน "อาคม" ว่าที่รมว.คลังคนใหม่ ดันเมกะโปรเจคต์

“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” จ่อผงาดรัฐมนตรีคลังคนใหม่

"ประสงค์ พูนธเนศ " ปัดเตรียมรับตำแหน่งรมว.คลัง

 

ผลงานแรกที่สำคัญคือการแก้ไขปัญหาด้านการบินพลเรือน ปลดธงแดง องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(International Civil Aviation Organization: ICAO) โดยได้ดำเนินการปฏิรูปกฎหมายด้านการบินที่ล้าสมัยด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2597 ในประเด็นที่เป็นข้อบกพร่อง

นอกจากนี้ยังได้ผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการ อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า  รวมทั้งยังผลักดันโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย เช่น ส่วนต่อสายสีน้ำเงินช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4  ,สายสีแดงช่วงหัวลำโพง-มหาชัย  และสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงคูคต-ลำลูกกา 

 

ขณะเดียวกันได้เดินหน้าการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑลตามแผนแม่บทการขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล (M-MAP) ที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2553  โดยริเริ่มดำเนินการ 10 เส้นทางหลักตามแผนในรัฐบาลคณะรักษาาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าหมายเปิดครบทั้ง 10 เส้นทางในปี 2568

 

นอกจากนี้ยังได้ผลักดันการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่  8 เส้นทาง และมาตราการป้องกันฝุ่นพิษ PM2.5  การจัดทำระบบตั๋วร่วม และแผนฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ฯลฯ

 

เมื่อปี 2562 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ได้ประเมินผลงานด้านคมนาคมของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลประยุทธ์ในการพัฒนาระบบคมนาคม โดยรัฐบาลพยายามขับเคลื่อนโครงการตามแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ  (พ.ศ. 2558–2565) วงเงิน 3 ล้านล้านบาท  โดยนำโครงการใน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มาปรับปรุงเพิ่มเติม

 

ความสำเร็จสำคัญของรัฐบาลประยุทธ์คือ สามารถอนุมัติโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆ ได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนระบบราง ซึ่งเป็นผลมาจากเสถียรภาพของรัฐบาล  โดยโครงการที่เกิดขึ้นรวมถึง

  • โครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งได้อนุมัติให้เริ่มก่อสร้างไปแล้ว 5 เส้นทาง เพิ่มเติมจากเส้นทางเดิมที่มีการก่อสร้างอยู่แล้ว ซึ่งจะมีผลให้มีการเปิดรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ อย่างน้อยปีละหนึ่งเส้นทาง ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปต่อเนื่องไปหลายปี
  • โครงการรถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งได้อนุมัติให้เริ่มก่อสร้างไปแล้วหลายช่วง ซึ่งจะทำให้ระบบรถไฟระหว่างเมืองซึ่งเดิมเป็นทางเดี่ยว มีความจุและมีคุณภาพของบริการที่ดีมากขึ้นในอนาคต และคาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนในการก่อสร้างและงานระบบกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ต่อเนื่องไปตลอด 3-4 ปีข้างหน้า

 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีผลงานอื่นๆ ในด้านการขนส่งดังต่อไปนี้

  • การจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะ ซึ่งสามารถย้ายจุดจอดรถตู้โดยสารระหว่างจังหวัดไปยังสถานีขนส่ง ซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด แม้จะทำให้เกิดความไม่สะดวกของผู้ใช้บริการบางส่วน
  • การจำกัดอายุรถตู้โดยสารสาธารณะไว้ที่ 10 ปี และติดตั้ง GPS กับรถโดยสารประจำทางเพื่อกำกับดูแลด้านความเร็ว ซึ่งช่วยลดอุบัติเหตุร้ายแรงได้บางส่วน
  • การจัดระเบียบรถแท็กซี่ในโครงการ Taxi OK โดยติดตั้ง GPS และระบบด้านความปลอดภัยอื่นๆ ซึ่งช่วยให้สามารถดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารได้ดีขึ้น   

นายอาคม  เคยกล่าวไว้ว่า วันแรกที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมก็รู้สึกตกใจและภูมิใจที่ได้รับความไว้วางใจเพื่อขับเคลื่อนโครงการของประเทศ ซึ่งตลอด 1,775 วันในการทำงานนั้น มีหลายโครงการที่มีการขับเคลื่อนไปมาก บางโครงการได้มีการเริ่มต้น ถึงแม้จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ 100% แต่ถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จ

โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ที่มีความคืบหน้าหลายโครงการ ส่วนใหญ่จะสามารถเปิดให้บริการได้อย่างสมบูรณ์ในปี 2563-2564