"สภาพัฒน์" ผงะรายจ่ายประจำพุ่ง 80% แนะ รัฐลดขนาดข้าราชการ

25 ก.ย. 2563 | 08:28 น.

“สภาพัฒน์” แนะ ลดขนาดข้าราชการ หลังพบรายจ่ายประจำพุ่งถึง 80%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (25 กันยายน 2563) นายดนุชา  พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ปิดเพดานหนี้ฐานราก ปรับโครงสร้างหนี้ประเทศ" ในงานสัมมนา ทางเลือก ทางรอด ฝ่าวิกฤติหนี้ว่า จากข้อมูลหนี้สาธารณะของไทยในเดือน ก.ค. 2563 อยู่ที่ 47% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจากต้นปีที่ 41% ต่อจีดีพี

 

เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศไม่ปกติ จำเป็นต้องมีการกู้เงินเพื่อเยียวยาประชาชนในหลายส่วน แต่ภาพรวมหนี้สาธารณะของประเทศยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี ซึ่งยังบริหารจัดการได้ โดยมีการประเมินว่าแม้จะมีการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท สุดท้ายสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศจะอยู่ที่ 57% ต่อจีดีพี สะท้อนว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยไม่ได้พุ่งสูงขึ้นมากนัก เมื่อเทียบกับหลายประเทศ 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

จับตา "สภาพัฒน์" ถกข้อเสนอเอกชนสู้โควิด ก่อนดันชงเข้าครม.

ด่วน!สภาพัฒน์ฯปรับเป้าเศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบ 5.5%

สภาพัฒน์เสนอครม.รื้อใหญ่โครงสร้างเศรษฐกิจไทย 

สภาพัฒน์ นัดเอกชนถกมาตรการปรับตัว-ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 

 

โดยหากดูจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าในช่วงก่อนหน้า รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนส่งผลให้เครื่องมือเศรษฐกิจอื่น ๆ ทำงานได้ลำบาก จึงเหลือเพียงการใช้จ่ายภาครัฐอย่างเดียวที่รับหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นในระยะ 1-2 ปีนี้ รัฐบาลจึงต้องเป็นกลไกในการลงทุนต่าง ๆ ไปก่อน นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องปรับลดงบรายจ่ายประจำลง 

 

ทั้งนี้ มองว่า รัฐบาลต้องพยายามจัดทำงบประมาณแบบสมดุลให้ได้อย่างน้อยภายใน 5-6 ปีข้างหน้า เพราะว่าการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลเหมือนปัจจุบันต่อไปคงไม่ได้ แม้ว่าที่ผ่านมาการขาดดุลงบประมาณจะเกิดจากการกู้เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญต่าง ๆ ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 3-5 แสนล้านบาท โดยหนี้ส่วนนี้ไม่มีความน่ากังวล เพราะท้ายที่สุดโครงการจะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกลับมาด้วย

 

แต่หนี้ที่เกิดจากการทำนโยบายกึ่งการคลัง เพื่อช่วยเหลือประชาชนผ่านกลไกของรัฐ อาทิ ธนาคารรัฐ โดยเป็นการช่วยไปก่อนแล้วรัฐบาลตั้งงบชดเชยภายหลัง โครงการพีพีพี เป็นต้น มองว่านโยบายกึ่งการคลังนี้ทำได้แค่บางช่วงเวลา และบางโครงการเท่านั้น ทำมากไม่ได้ เพราะจะกระทบกับฐานะการคลัง จนอาจทำให้งบลงทุนตามกรอบงบประมาณลดลง

 

“หากต้องการลดการขาดดุลงบประมาณ และเดินหน้าเข้าสู่งบสมดุลนั้น รัฐบาลต้องเริ่มจากปรับโครงสร้างระบบราชการ เพราะเป็นระบบใหญ่ ตามงบประมาณ มีงบรายจ่ายประจำถึง 80% ถือว่าสูงมาก สูงเกินไป วันนี้เรามีเทคโนโลยีนำมาใช้ทำงานได้ รัฐบาลจึงต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ปรับโครงสร้างระบบราชการ เพื่อลดงบส่วนนี้ ให้มีงบลงทุนมากขึ้น ก็จะช่วยลดการขาดดุลลงได้ พร้อมทั้งต้องจัดเก็บรายได้เพิ่ม” นายดนุชา กล่าว 

 

นายดนุชา กล่าวอีกว่า หนี้อีกส่วนที่สำคัญกับระบบเศรษฐกิจ คือ “หนี้ภาคธุรกิจ” จากข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สินเชื่อธุรกิจใหญ่ขยายตัว 36.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการบางอย่าง เช่น อัตราดอกเบี้ย ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลับเข้าถึงสินเชื่อลดลง ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะมีการออกมาตรการด้านสินเชื่อต่างๆ

 

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการจัดทำโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) วงเงิน 5 แสนล้านบาท แต่มีการอนุมัติไปเพียง 1 แสนล้านบาทเท่านั้น เรื่องนี้ สศช. กระทรวงการคลัง และ ธปท. อยู่ระหว่างการหารือเพื่อปรับปรุงเงื่อนไขเพื่อให้การปล่อยสินเชื่อคล่องตัวขึ้น การชำระหนี้ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

นอกจากนี้ ยังมี “หนี้ครัวเรือน” ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ระดับ 80% ต่อจีดีพี โดยโครงสร้างหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว อาทิ หนี้บ้าน เพียง 33-34% เท่านั้น

 

ส่วนอีก 27% เป็นหนี้ส่วนบุคคล หนี้อุปโภคบริโภค ซึ่งเทียบกับหลายประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวมากกว่า ทำให้ไทยจำเป็นต้องให้ความสนใจเรื่องหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างใกล้ชิด เพราะหนี้ส่วนนี้อาจจะทำให้เกิดปัญหากับระบบเศรษฐกิจในอนาคตได้ โดยเมื่อลงไปดูในรายละเอียด พบว่าส่วนใหญ่คนเป็นหนี้เร็วขึ้น จบปริญญาตรี อายุ 22-40 ปี มีหนี้ระดับสูง ดังนั้นอาจต้องกลับมาดูว่า สถานการณ์การเป็นหนี้ที่เกิดขึ้น เกิดจากตัวบุคคล หรือจากระบบ 

 

“ผลกระทบจากปัญหาหนี้สาธารณะ คือ เมื่อหนี้ของประเทศสูงขึ้น การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศจะลดลง แม้ว่าจะมีความพยายามรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ถ้าหนี้เกินลิมิตที่ประเทศจะจัดการได้ ก็จะทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจลดลงอย่างหนีไม่พ้น แต่หนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ เศรษฐกิจจึงยังพอขับเคลื่อนไปได้” นายดนุชา กล่าว