ยื้อแก้ "รัฐธรรมนูญ" มติรัฐสภา 432 : 255 เสียงตั้ง "กรรมาธิการ" ศึกษา

24 ก.ย. 2563 | 13:35 น.

ด่วน! มติรัฐสภา 432 ต่อ 255 เสียง ตั้งกรรมาธิการศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ

 

เมื่อวันที่ 24 ก.ย.63 เวลา 20.17 น. ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบตั้งกมธ.ศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ ด้วยเสียง 432 เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ 255 เสียงไม่ลงคะแนน 1 เสียง สรุปไม่มีการลงมติในวันนี้ ให้ตั้งกมธ. 45 คน ศึกษา 1 เดือน


ทำให้ไม่มีการลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯ ในวันนี้  

                                                                      ยื้อแก้ "รัฐธรรมนูญ" มติรัฐสภา 432 : 255 เสียงตั้ง "กรรมาธิการ" ศึกษา

ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 18.40 น.บรรยากาศการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติ 6 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตึงเครียดมากขึ้น หลังจากนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล เสนอให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาญัตติร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ร่าง โดยอ้างว่าเพื่อความรอบคอบเพราะวันนี้ไม่รู้หาทางออกทางไหน เหมือนเป็นทางตัน หากเดินหน้าแล้วเกิดมีมติไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วจะทำอย่างไรนั้น

 

นายนิโรจน์ สุนทรเลขา ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ข้อบังคับที่ 121 วรรค 3 เป็นการยืดหยุ่นให้คุยกันถึงรายละเอียดของหลักการ ด้านนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส. พรรคก้าวไกล เห็นว่า 2 วันที่ผ่านมีการพูดคุยกันจนถี่ถ้วนแล้ว หลักการแค่ 2 บรรทัดจะต้องไปพิจารณากันถึงหนึ่งเดือน แล้วก็ไม่มีการรับประกันว่าจะรับหลักการ เหมือนหลอกต้มประชาชน ทั้งที่วันนี้มีประชาชนมีรออยู่ที่หน้ารัฐสภา วันนี้ทุกคนอยู่กันครบ พวกตนพร้อมทำหน้าที่ลงมติ และเชื่อว่าทุกคนในที่นี้มีวุฒิภาวะและสติปัญญาในการพิจารณาว่าจะเห็นด้วยหรือไม่

 

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ และประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า คำที่บอกว่าตกวันนี้ดีกว่าตกวันหน้า ไม่มีใครอยากให้ร่างตัวเองที่เสนอเข้ามาแล้วไม่ผ่านการพิจารณา แต่วันนี้เดินมาถึงทางตัน วันนี้เราหยุดรอแค่หนึ่งเดือน แล้วหลักประกันก็คือตนเอง ขอให้ทุกคนช่วยกันด้วย และถ้าไอลอว์เข้ามาเราก็ยินดี

 

นายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวว่า เรามีหน้าที่สำคัญไม่แพ้กันที่ต้องรักษาประโยชน์ชาติบ้านเมือง กว่ากฎหมายแต่ละฉบับที่จะผ่านสภาผู้แทนราษฎร หลายฉบับไม่ได้รวดเร็ว อย่าใจร้อน ยิ่งรัฐธรรมนูญยิ่งสำคัญมาก ส.ว. เห็นเอกสารแล้วจริง แต่เมื่อได้รับฟังก็มีความกังวลใจทั้งข้อกฎหมาย และกังวลว่าจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ บางญัตติเพิ่งส่งเข้ามา 8 วันแล้วจะพิจารณารัฐธรรมนูญกับเพียงเวลาเท่านี้หรือ ไม่ใช่ว่ามีม็อบมาแล้วจะรีบพิจารณา นอกจากนี้ตนอ่านทั้งหมดแล้ว อ่านรายงานของอนุกรรมาธิการ และตรวจสอบรายชื่อ ในกรรมาธิการพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่มี ส.ว. ร่วมอยู่ด้วย ส.ว. ยังไม่เห็นพ้องด้วย อย่ามัดมือชก ทางออกที่ นายไพบูลย์และนายวิรัช เสนอเป็นทางออกที่ไม่ใช่ทางตัน และในสมัยหน้า ส.ว. ก็เสนอร่างได้ คณะรัฐมนตรีก็เสนอได้เหมือนกัน ตนก็อยากจะแก้ไขบ้าง

 

ด้านนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ประท้วงนายสมชายว่าพูดเสมือนว่าเป็นตัวแทน ส.ว. ทุกคนให้เป็นคนเดียวกัน

 

นายสมชาย กล่าวต่อว่า ตนแถลงในนามของวิปวุฒิสภา และถ้าศึกษาร่วมกัน ข้อเสนอของวุฒิสภาก็จะได้มาศึกษาด้วย การร่างใหม่ต้องพิจารณาว่าจะทำประชามติหรือไม่ และถ้ารับทั้ง 6 ร่างจะขัดหรือแย้งกันหรือไม่ ต้องไปศึกษาร่วมกันไม่ใช่ฟังจากสภาผู้แทนราษฎรอย่างเดียว เมื่อศึกษาอย่างรอบคอบรัดกุมก็พร้อมที่จะพิจารณาต่อไปได้


 

 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คำอ้างว่าหาทางออก ตนขอถามว่าทางออกให้ใคร ถ้าเป็นทางออกของเรากันเองแต่ไม่ใช่ทางออกให้ประชาชนมันควรหรือไม่ ถ้ามีทางออกจากเรื่องนี้ แต่จะไม่มีทางออกไปถนน และหลักการของไอลอว์ก็เหมือนกันร่างที่พรรคฝ่ายค้านเสนอ และหลักการไม่มีความซับซ้อนอะไร ท่านกำลังจะใช้ข้อกฎหมายปิดกั้รโอกาสพิจารณาของประชาชน การดึงจังหวะไม่รับหลักการวันนี้ออกไปเป็นการแก้ปัญหา เมื่ออาสาเข้ามาแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติ ทำไมต้องเอาตัวรอดการแก้ไขปัญหาในสภาพที่มีปัญหาคือการเติมปัญหา ถ้าดึงยืดออกไป 1 เดือนก็อยากให้เลือกตั้งกันใหม่ หรือไม่รัฐบาลชุดนี้ก็จะอายุสั้นมากขึ้น

 

ด้านนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าขั้นตอนคือการรับหลักการ ตั้งกรรมาธิการ แล้วให้ประชาชนลงประชามติ ค่าไฟฟ้า ค่าอาหาร ที่ให้ในสภา 2 วันนี้ แล้วมานั่งเล่นกลกันเป็นเรื่องน่าเสียใจ สาบานต่อหน้าพระสยามเทวาธิราชก็ได้ว่าการตั้งกรรมาธิการเป็นแนวคิดของตัวเอง แต่ตนเชื่อว่ามันเป็นใบสั่ง

 

ขณะที่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และวิปรัฐบาล กล่าวว่า ตนยอมรับว่าพวกตนตั้งตัวไม่ทันกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะการพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นจุดยืนของพรรคที่ได้ร่วมลงชื่อไปพร้อมกับคณพรรคร่วมรัฐบาลไปแล้วกว่า 200 คน เราให้ความสำคัญมากเนื่องจากเป็นการพิจารณาแก้ไขกฏหมายสูงสุดของประเทศ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญนี้แก้ไขยากมาก จึงต้องเสนอร่างแก้ไขมาตรา 256 โดยตั้งส.ส.ร.โดยเลือกโดยตรงจากประชาชนตามสัดส่วนประชาชน
 

ยื้อแก้ "รัฐธรรมนูญ" มติรัฐสภา 432 : 255 เสียงตั้ง "กรรมาธิการ" ศึกษา

 

"2 วันที่ผ่านมาเสนอตรงกันหมดคือ ตั้งส.ส.ร.ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และพึงพอใจว่ามีส่วนร่วม ประชาธิปไตยกินได้ และการประชุมพิจารณาวันนี้ก็เพียงแต่รับหลักการเท่านั้น ดังนั้นจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์คือ ไม่จำเป็นต้องตั้ง กมธ.เพื่อพิจารณาก่อนรับหลักการอีก เนื่องจากรับหลักการไปแล้วค่อยตั้งกมธ.ก็ได้ ผมไม่อยากให้อยู่ในกลุ่มที่ถูกต่อว่าถ่วงเวลาอีก จึงขอเสนอให้โหวตรับหลักการไปเลยเพื่อจะได่เดินหน้าพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป"นายชินวรณ์ กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังบรรยากาศส่อตึงเครียด ทำให้นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล เสนอให้นายชวน หลีกภัย ประธานที่ประชุม พักการประชุมเป็นเวลา 15 นาทีเพื่อคุยนอกรอบ แต่นายชวนให้เวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น ที่ประชุมจึงพักการประชุมเพื่อหาทางออกในเวลา 19.15 น.