ผ่ามุมมอง ‘ม็อบ19 ก.ย.’ ไปต่อได้-ไม่ได้

24 ก.ย. 2563 | 04:40 น.

 

ประกาศ “ชัยชนะ” ยกแรกไปแล้ว สำหรับ “ม็อบนักศึกษา” ในนามกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” เมื่อวันที่ 19 ก.ย.-20 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา เมื่อสามารถฝ่าเข้ายึดสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สำเร็จ ก่อนย้ายพื้นที่การชุมนุมไปปักหลักชุมนุมข้างคืนที่ท้องสนามหลวง 

 

พอยํ่ารุ่งวันที่ 20 ก.ย.2563 แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม ได้ทำพิธีฝัง “หมุดคณะราษฎร 2563” ที่ท้องสนามหลวง

 

ก่อนที่แกนนำผู้ชุมนุมและมวลชนจะเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบองคมนตรี ที่อยู่ไม่ไกลจากท้องสนามหลวงมากนัก เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง ผ่าน พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 

 

ต่อมาแกนนำผู้ชุมนุมได้กลับมาประกาศบนเวทีที่ท้องสนามหลวงว่า เป็นชัยชนะของกลุ่มผู้ชุมนุมและได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่แล้ว ชัยชนะครั้งนี้ถือเป็นศึกแรก พร้อมนัดชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 24 ก.ย.นี้ ที่อาคารรัฐสภา เพื่อติดตามการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 14 ต.ค. 2563 เพื่อติดตามข้อเรียกร้อง ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะได้สลายตัวกลับบ้านใครบ้านมัน

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แสดงความเห็นถึงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่า สถานการณ์การชุมนุมที่ผ่านมาต้องขอแสดงความยินดีที่ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย บ้านเมืองกลับเข้าสู่ความสงบสุขและสันติอีกครั้งหนึ่ง 

 

“ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานอย่างเสียสละ อดทน และอดกลั้น จึงขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บ้านเมืองสงบสุขอย่างนี้ก็สามารถจะแก้ไขปัญหาได้หลายๆ อย่างไปด้วยกัน ขอฝากไปถึงประชาชนโดยรวมด้วย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นหลักสำคัญยิ่งของคนไทยทั้งประเทศ”

 

ม็อบต่อเวลาเรียกแขก 

 

ด้านความเห็นของนักวิชาการนั้น รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ และการเมือง วิเคราะห์ว่า แนว ทางดำเนินกลไกของแนวร่วมม็อบครั้งนี้ เป็นลักษณะค่อยๆ สร้าง แรงกดดันคล้ายในฮ่องกง เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า ม็อบครั้งนี้ไม่มีผู้ นำและมีความนิ่มนวลมากขึ้น

 

“กลุ่มผู้ชุมนุมต้องการที่จะสร้างโมเมนตัมและเปิดโอกาสสร้างมวลชนให้มาเข้าร่วมชุมนุมในวงกว้าง ดังนั้น การที่ประกาศนัดชุมนุมในวันที่ 24 ก.ย.นั้น เพื่อเชิญชวนคนให้มามากขึ้น ซึ่งต้องดูว่าจะเป็นอย่างไร” 

 

 

 

อย่างไรก็ตาม การเดินยุทธศาสตร์ดังกล่าวขึ้นอยู่กับว่า จะรักษาจำนวนคนได้เพิ่มขึ้นขนาดไหนและแรงกดดันขนาดไหน หรือจำนวนคนที่จะเข้าร่วมเพิ่มขึ้น อย่างไร แต่การประกาศสลายชุมนุมเป็นการเปิดโอกาสให้ม็อบมีเวลาสร้างโมเมนตัม หากสามารถสร้างโมเมนตัมได้แรง ต่อไปก็จะนำไปสู่การปรับแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

ทั้งนี้ การแก้รัฐธรรมนูญ อาจจะเป็น 2 แบบคือ 1. แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา และอาจจะปรับแก้ทั้งฉบับ  โดยผลจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 แนวทางอาจจะแบ่งเป็น 2 ปัจจัยคือ เกิดการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีและมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เข้ามาทำหน้าที่ หรือเปลี่ยนตัวนายกฯ โดยมีนายกฯ ชั่วคราวเข้ามาแทน และแนวทางที่ 3 ซึ่งไม่น่าจะเกิด เพราะม็อบเริ่มใช้กลไกก้าวล่วงเลยเถิดอาจเกิดแรงต้าน 

 

ผ่ามุมมอง  ‘ม็อบ19 ก.ย.’ ไปต่อได้-ไม่ได้

 

 

“ตอนนี้ม็อบหยุดก่อน เพื่อดูว่าจะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ รออีก 1-2 สัปดาห์ดูว่า รัฐบาลจะทำอะไรมั้ย ขณะที่เศรษฐกิจไม่ถูกกระทบ คือ เป็นผลทางเศรษฐกิจเชิงจิตวิทยาเท่านั้น เพราะเศรษฐกิจจะกระทบจากโควิดมากกว่า” รศ.ดร.สมชาย ระบุ

 

ม็อบไปต่อลำบาก

 

ส่วนมุมมองของสมาชิกวุฒิสภา อย่าง นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เห็นว่า ไม่ใช่การชุมนุมของนิสิต นักศึกษา แต่เป็นการชุมนุมของคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย เป็นลักษณะการชุมนุมโดยปกติของสังคมไทยที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และคนที่รับฟังอยู่ตามบ้านก็อยากเห็นการปราศรัยบนเวทีว่า ต้องการให้มีการขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือรัฐบาลมีจุดอ่อนอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคาดหวัง 

 

 

 

แต่กลุ่มผู้ชุมนุมมีการเปลี่ยนประเด็นที่ล่อแหลมเกี่ยวกับเรื่องสถาบัน ซึ่งเป็นความละเอียดอ่อน เชื่อว่าความละเอียดอ่อนนี้ทำให้ความเข้มแข็งและเจตนารมณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมอ่อนยวบลง ส่งผลให้การยอมรับตํ่าลง และทำให้เดินต่อไปไม่ได้ 

 

นายวัลลภ ชี้ว่า ตามปกติการเดินขบวนจะมีเจตนารมณ์ ชัดเจน 3 เรื่องคือ 1. ชุมนุมเพื่ออะไร 2. แกนนำคือใคร และ 3. การเคลื่อนตัวของผู้ชุมนุม ซึ่งปกติจะไม่มีการเคลื่อนขบวนง่ายๆ นอกจากจะมีเจตนาที่ชัดเจนว่าจะเคลื่อนไปจุดใด เรียกร้องอะไร และกับใครที่ไหน 

 

แต่การชุมนุมครั้งนี้มีข่าวลือสับสนอลหม่านมาก แกนนำเป็นใครก็ไม่ชัดเจน และข้อเรียกร้องคือ อะไรกันแน่ ทำให้เกิดความสับสน รวมทั้งขบวนการเคลื่อนตัวก็ไม่ชัดเจน 3 จุดนี้ เป็นสิ่งที่ผิดไปจากความคาดหมายทั้งสิ้น ทำให้เจตนารมณ์ผันแปรและนํ้าหนักน้อย ถ้ายึดเจตนารมณ์ 3 ข้อ เชื่อว่าจะเป็น 3 ข้อที่รัฐบาลต้องฟัง แต่เมื่อไหร่บิดออกไป 10 ประการ หรือทำอะไรที่ล่อแหลม ความเสื่อมมันเกิด โอกาสที่ได้รับการยอมรับจะตํ่าลง 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,612 หน้า 10 วันที่ 24 - 26 กันยายน 2563