สถาบันปรีดี พนมยงค์ ค้านการทำ “รัฐประหาร” ทุกรูปแบบ

20 ก.ย. 2563 | 12:05 น.

สถาบัน "ปรีดี พนมยงค์" แถลงจุดยืนต่อสถานการณ์บ้านเมือง ค้านการทำ "รัฐประหาร" ทุกรูปแบบ

นายอนุสรณ์  ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ และอดีตกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การยุติการชุมนุมเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงและการรัฐประหาร เป็นการแสดงให้ความเห็นอย่างชัดเจนว่า แกนนำของ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ยึดมั่นในแนวทางสันติวิธีอย่างเคร่งครัด ไม่เคลื่อนไหวสุ่มเสี่ยง และต้องการให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างจริงใจ ลูกหลานของเราได้ต่อสู้เพื่อประเทศนี้ เพื่ออนาคตของพวกเขาเอง

และต่อสู้ให้กับบรรดาผู้สูงวัยทั้งหลาย เราควรจะสำนึกในความเสียสละ กล้าหาญของเหล่าเยาวชนผู้ที่จะเติบโตเป็นหลักให้กับบ้านเมืองในอนาคต กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างมียุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ดีจะทำให้เส้นทางสู่ประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริงสงบสันติ มั่นคง ยั่งยืนและไม่ย้อนกลับไปสู่ระบอบอำนาจนิยมซ้ำแล้วซ้ำอีก

              ผู้มีอำนาจรัฐก็ได้พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการปะทะและความรุนแรงซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี นับเป็นพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นของผู้ปกครอง อย่างไรก็ตาม ผู้มีอำนาจรัฐต้องตระหนักและแยกแยะให้ออกระหว่าง “ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” “การล่วงละเมิดสถาบันกษัตริย์” หรือ “การล้มสถาบันกษัตริย์” ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน การยัดข้อหา “ล่วงละเมิดสถาบันกษัตริย์” และ “การล้มสถาบันกษัตริย์” เป็นสิ่งที่ต้องไม่กระทำเพราะจะทำให้เกิดความแตกแยกร้าวฉานในสังคมไทย นอกจากนี้ยังไม่เป็นผลดีต่อสถาบันหลักของชาติ รวมทั้งทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุขอ่อนแอลง

สถาบันปรีดี พนมยงค์ ค้านการทำ “รัฐประหาร” ทุกรูปแบบ

              การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา บางประเทศประสบความสำเร็จ บางประเทศไม่ราบรื่น บางประเทศล้มเหลว สถานการณ์การชุมนุมที่เริ่มขึ้นในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2563 ภายใต้คำขวัญ “ 19 กันยา ทวงคืนอำนาจราษฎร” จะเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อและจุดเปลี่ยนแปลงของอนาคตของประเทศไทย ทางสถานบันปรีดี พนมยงค์ได้เผยแพร่แถลงการณ์ฉบับที่ 1 ไปเมื่อวานนี้ เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนยึดมั่นแนวทางสันติวิธี ยอมรับความเห็นอันแตกต่างหลากหลาย เปิดโอกาสให้เสรีภาพและเจตจำนงอันแท้จริงของประชาชนได้ผลักดันให้เกิดการปฏิรูป ความเป็นธรรม ประชาธิปไตยและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ จึงขอแถลงจุดยืนต่อสถานการณ์บ้านเมืองที่จะเกิดขึ้น ดังนี้

1.ขอให้ทุกฝ่ายเคารพเจตจำนงและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนที่เรียกร้องให้สถาปนาระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอันเป็นรากฐานสำคัญของสังคม

              2.สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติเป็นสิทธิโดยชอบตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ในการให้หลักประกัน และคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุม รวมถึงจะต้องหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า การกระทำอันเป็นการยั่วยุ หรือการใช้มาตรการรุนแรงในทุกรูปแบบ

              3.สถาบันการศึกษาควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก

              4.ขอประณามการกระทำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดที่ประสงค์จะใช้การยั่วยุหรือใช้ความรุนแรง และเรียกร้องทุกฝ่ายให้ร่วมกันต่อต้านการก่อรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจรัฐ ซึ่งจะมีผลเหนี่ยวรั้งสังคมไทยให้ถอยหลังลงอีก ไม่ว่าจะโดยการนําของฝ่ายใดก็ตาม

              5.ขอให้ทุกฝ่ายพึงระลึกว่า ระบอบประชาธิปไตยจะมั่งคงอยู่ได้ต้องประกอบด้วยกฎหมายที่สนองตอบต่อเจตนารมณ์ของปวงชนชาวไทย พร้อมด้วยศีลธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต

              นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า สถาบันปรีดี พนมยงค์ เชื่อว่าการแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบที่มิใช่วิถีทางแห่งประชาธิปไตยจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกฝ่ายจะร่วมกันหาทางออกอย่างสันติวิธี ทั้งนี้ โดยผู้มีอำนาจจะต้องลดละการเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน และรับฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน อันนับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการแก้ไขปัญหาในระบอบการเมืองที่เป็นอยู่ และเราขอคัดค้านการรัฐประหารทุกรูปแบบและเราขอต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆอันเป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยและกฎหมายอันชอบธรรม

ทางคณะกรรมการสถาบันจะจัดตั้ง “คณะทำงานเพื่อช่วยเหลือทางคดีแก่ผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย” และ จะออกแถลงการณ์เป็นระยะๆเพื่อมีส่วนในการช่วยทำให้สถานการณ์ไม่ถลำลึกสู่วิกฤตการณ์รุนแรง และ นำไปสู่การเจรจาหารือ สานเสวนาเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศและประชาชนได้

              นายอนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า 14 ปีที่ผ่านมา มีการไล่ล่าผู้เห็นต่างด้วยวิธีการต่างๆทั้งอุ้มหาย ยัดข้อหายัดคดี ใช้เครื่องมือทางกฎหมายกลั่นแกล้งด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งยุบเลิกหน่วยงานหลายหน่วยงานที่ได้ปฏิบัติภารกิจเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพียงแต่เห็นว่า หน่วยงานเหล่านั้น จัดตั้งขึ้นมาด้วยรัฐบาลฝ่ายตรงข้ามจัดตั้ง โดยไม่ใส่ใจว่าก่อให้เกิดต้นทุนและสร้างความเสียหายให้กับประเทศ

              บทเรียนที่เราได้รับจากการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เนื่องในโอกาสครบรอบ 14 ปีของการรัฐประหาร และ นำมาสู่การรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2557 มีมากมายและเราไม่ควรย้ำรอยความผิดผลาดและวิฤกติซ้ำซากอย่างในปัจจุบันและในอดีตอีก บทเรียนมีดังต่อไปนี้

              1.ความเป็นเอกภาพและร่วมแรงร่วมใจของคนในชาติ เราจึงฝ่าวิกฤตการณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ วิกฤติทางการเมือง วิกฤติจากผลกระทบของโรคระบาด Covid-19 หรือ ปัญหาผลกระทบรุนแรงจากภัยธรรมชาติ จึงต้องเปิดให้มีการเจรจาหารือ สานเสวนาเพื่อหาทางออกร่วมกัน กลุ่มผู้นำรัฐบาล กลุ่มผู้นำรัฐสภา ควรเปิดเวทีเจรจากับ แกนนำการชุมนุม หาก รัฐบาล ไม่สะดวกใจที่จะดำเนินการ ทาง สถาบันปรีดี พนมยงค์ ขออาสาเปิดเวทีเพื่อให้มีการปรึกษาหารือเพื่อหาทางออกให้บ้านเมือง ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามไปมากกว่านี้

              2.ความกล้าหาญและเสียสละของประชาชน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ การเสียสละของผู้นำและกลุ่มผู้นำสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ และผู้นำต้องลาออกหากการลาออกทำให้สถานการณ์วิกฤตการณ์ดีขึ้น

3.การยึดถือหลักการประชาธิปไตย หลักความเป็นธรรม และใช้กลไกรัฐสภาหาทางออกให้ประเทศมีความสำคัญ ผู้มีอำนาจรัฐทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจึงต้องเร่งรัดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแล้ว ควรคืนอำนาจให้ประชาชนด้วยการจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ทำให้กระบวนการเข้าสู่อำนาจโปร่งใส ยุติธรรมและสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

              4.ต้องลดเงื่อนไขหรือสภาวะเพื่อที่นำไปสู่ความขัดแย้งอันต้นทางของสงครามกลางเมือง และ ยึดในแนวทางสันติ ต้องไม่ให้เกิดความรุนแรงใดๆ หรือ มีผู้สูญเสียชีวิต เพราะหากเกิดสถานการณ์เช่นนั้นแล้วจะทำให้สถานการณ์มีความยุ่งยากลุกลามไปสู่ความรุนแรงเพิ่มขึ้นติดตามมา

              5.การมียุทธศาสตร์ กุศโลบาย กลยุทธที่ดีและมุ่งผลประโยชน์สาธารณะของผู้นำและกลุ่มชนชั้นนำจะทำให้ประเทศชาติมีทางออกที่ดีจากวิกฤตการณ์ต่างๆ บทบาทของชนชั้นนำ รัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ ตั้งใจและมุ่งมั่นจริงใจในการวางรากฐานระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุขให้มั่นคงนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสันติสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน

6.ขบวนการความเคลื่อนไหวขนาดใหญ่เกิดขึ้นได้เมื่อ ประชาชนตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน และ เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และ ไม่มีใครเอาชนะพลังของประชาชนผู้มุ่งมั่นได้ การผนึกกำลังกันของฝ่ายประชาชนและฝ่ายค้านจึงมีความสำคัญมากต่อการเปลี่ยนแปลง

7.รัฐประหารสองครั้ง (2549, 2557) การฉีกรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ วิกฤตการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ทำให้ประชาชนทุกฝ่ายเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมในรอบ 14 ปี จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก หากมีการก่อรัฐประหารขึ้นอีก การรัฐประหารครั้งนี้จะนำไปสู่เส้นทางหายนะของประเทศ และจะสร้างความแตกแยกมากยิ่งกว่า รัฐประหารสองครั้งก่อนหน้านี้ ผู้นำทหาร ผู้นำตุลาการ ผู้นำภาคธุรกิจ ต้องสนับสนุนประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข ต้องไม่สนับสนุนระบอบเผด็จการหรือระบอบสืบทอดอำนาจ หากผู้นำกองทัพ ผู้นำศาล ผู้นำภาคธุรกิจ ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่มีทางมั่นคงได้

8.ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องมีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการวางรากฐานประชาธิปไตยให้มั่นคง ปฏิรูปรัฐธรรมนูญและทำให้กระบวนการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญจะต้องประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ความยุติธรรม ประโยชน์ส่วนรวมและศีลธรรมจักบังเกิดขึ้นในสังคมไทยเมื่อประชาชนมีเสรีภาพอย่างแท้จริงโดยปราศจากความกลัวจากการคุกคามโดยอำนาจรัฐและการกลั่นแกล้งจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ยังคงมีความเสี่ยงที่จะถลำลึกสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงได้อยู่แม้นการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายนจะจบลงโดยดีก็ตาม โครงสร้างอันไม่เป็นธรรมยังคงดำรงอยู่และเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งต่อไป ผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย รักสันติ จึงต้องสามารถเอาชนะต่อขบวนการต่อต้านประชาธิปไตยและกระหายความรุนแรงให้ได้ด้วยการรณรงค์ให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริงภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

จำเป็นต้องเอาชนะวาทะกรรม “ชังชาติ” และ “ล้มเจ้า” ที่ใส่ร้ายป้ายสีให้ได้ เอาชนะด้วยความอดทน หมั่นชี้แจงด้วยเหตุผล ด้วยข้อเท็จจริง นำไปสู่การตื่นรู้ของประชาชนส่วนใหญ่ นำไปสู่การอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายอย่างมีสันติสุข เสมอภาคเป็นธรรม และช่วยกันทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมี “กษัตริย์” เป็นประมุขมีความมั่นคงยั่งยืนต่อไป ไม่สร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่การซ้ำเติมความยากลำบากทางเศรษฐกิจของประชาชน หรือ แก้ไขปัญหานอกวิถีทางของกฎหมายและประชาธิปไตย

อย่างไรก็ดี ต้องชื่นชมในการความกล้าหาญและเสียสละในการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตยและผลักดันการปฏิรูปประเทศ ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมทั้งปกป้องผู้ถูกคุกคามจากความเห็นต่างในทางการเมืองของผู้ชุมนุมในวันที่ 19-20 กันยายน อย่างไรก็ตาม ขอฝากถึงบรรดาเยาวชนคนหนุ่มสาวผู้เป็นอนาคตของชาติว่าให้ดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ดีขึ้น เพื่อประชาธิปไตยและเพื่ออนาคตของทุกคน ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง รัดกุม เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่ประสงค์ดีต่อระบอบประชาธิปไตย และ ผู้ที่จ้องหาโอกาสในการเข้าสู่อำนาจอันไม่เป็นไปตามวิถีทางแห่งกฎหมายและประชาธิปไตย อันหมายรวมถึงกลุ่มทหารที่จะฉวยโอกาสทำรัฐประหารด้วย

“น้องๆนิสิตนักศึกษาต้องตระหนักและเตรียมรับมือกับการโต้กลับของเครือข่าย “ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย” ด้วยความรู้เท่าทัน อดทน และ ยึดถือแนวทางสันติวิธีและหลักของเหตุผล ขณะเดียวกัน ท่านต้องไม่หลงอยู่ในห้วงวังวนของมหาสมุทรแห่งความหลอกลวงและความหวาดกลัว จงมีความหวัง เอาความจริงและความกล้าหาญทางจริยธรรมเข้าสู้ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสันติธรรมไม่ใช่การต่อสู้วันเดียว อาทิตย์เดียว เดือนเดียว หรือ ปีเดียวจบ มันเป็นสงครามยืดเยื้อที่เราต้องต่อสู้กับพวกเผด็จการ”

และพวกกระหายความรุนแรงและการกดขี่ การต่อสู้อาจต้องใช้เวลาชั่วชีวิต อาจต้องสืบทอดให้ลูกหลาน อย่าหวาดกลัวในการแสดงจุดยืนและความเห็นที่ถูกต้องเพื่อพิทักษ์สันติธรรมและเสรีภาพ และ เราต้องยอมเข้าสู่ความยากลำบากที่จำเป็น แต่เป็นความยากลำบากที่พิสูจน์การกระทำอันยิ่งใหญ่ เป็นอมตะ เช่นเดียวกับวีรชนทั้งหลายที่ได้สละชีวิต เลือดเนื้อ ความสุขสบาย เกียรติยศชื่อเสียงและทรัพย์สมบัติ เพื่อให้ประเทศนี้เป็นประเทศของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง