แถลงการณ์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ต่อสถานการณ์ชุมนุม 19 กันยา  ฉบับที่ 1

19 ก.ย. 2563 | 09:33 น.

สถาบันปรีดี พนมยงค์ ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 ต่อสถานการณ์ชุมนุม 19 กันยา แสดงจุดยืน 5 ข้อ พร้อมขอให้ผู้มีอำนาจรับฟังเสียงเรียกร้องประชาชน จุดเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาในระบอบการเมือง 

19 กันยายน 2563 สถาบันปรีดี พนมยงค์ ออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์ชุมนุม ฉบับที่ 1 ระบุว่า ตามที่จะมีการชุมนุมใหญ่ของประชาชนภายใต้การนําของกลุ่มเยาวชนและนักศึกษา เพื่อทวงคืนอํานาจการปกครองให้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย ในวันที่ 19 กันยายน 2563 นี้ สถาบันปรีดี พนมยงค์ มีความกังวลต่อสถานการณ์อันอาจนําไปสู่การเผชิญหน้ากัน เนื่องจากรัฐบาลไม่มีท่าทีที่ชัดเจนในการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของประชาชน ในขณะเดียวกันกลับมีการใช้ท่าทีคุกคามประชาชน เยาวชน และนักศึกษา ผู้เห็นต่างทางการเมืองมากขึ้น

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าความมุ่งประสงค์ที่จะทําลายล้างพลังนักศึกษาและประชาชนผู้ใฝ่เสรีภาพนั้นมีปรากฏอยู่ตลอดมา โดยผู้ที่ไม่ปรารถนาจะเห็นระบอบประชาธิปไตยหยั่งรากเติบใหญ่ในประเทศไทย กลุ่มและบุคคลเหล่านี้ได้พยายามมาโดยตลอดในอันที่จะทําลายล้างพลังต่าง ๆ ที่เห็นว่าเป็นปฏิปักษ์แก่ผลประโยชน์แห่งตน ทั้งนี้ ด้วยวิธีต่าง ๆ จนนําไปสู่สภาพความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น

สถาบันปรีดี พนมยงค์ จึงขอแถลงจุดยืนต่อสถานการณ์บ้านเมืองที่จะเกิดขึ้น ดังนี้

 

1. ขอให้ทุกฝ่ายเคารพเจตจำนงและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนที่เรียกร้องให้สถาปนาระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอันเป็นรากฐานสำคัญของสังคม

 

2. สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติเป็นสิทธิโดยชอบตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ในการให้หลักประกัน และคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุม รวมถึงจะต้องหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า การกระทำอันเป็นการยั่วยุ หรือการใช้มาตรการรุนแรงในทุกรูปแบบ

 

3. สถาบันการศึกษาควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก

 

4. ขอประณามการกระทำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดที่ประสงค์จะใช้การยั่วยุหรือใช้ความรุนแรง และเรียกร้องทุกฝ่ายให้ร่วมกันต่อต้านการก่อรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจรัฐ ซึ่งจะมีผลเหนี่ยวรั้งสังคมไทยให้ถอยหลังลงอีก ไม่ว่าจะโดยการนําของฝ่ายใดก็ตาม

 

5. ขอให้ทุกฝ่ายพึงระลึกว่า ระบอบประชาธิปไตยจะมั่งคงอยู่ได้ต้องประกอบด้วยกฎหมายที่สนองตอบต่อเจตนารมณ์ของปวงชนชาวไทย พร้อมด้วยศีลธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต

 

สถาบันปรีดี พนมยงค์ เชื่อว่าการแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบที่มิใช่วิถีทางแห่งประชาธิปไตยจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกฝ่ายจะร่วมกันหาทางออกอย่างสันติวิธี ทั้งนี้ โดยผู้มีอำนาจจะต้องลดละการเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน และรับฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน อันนับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการแก้ไขปัญหาในระบอบการเมืองที่เป็นอยู่

ที่มา: แถลงการณ์ต่อสถานการณ์ชุมนุม ฉบับที่ 1

สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดตั้งโดย มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ มีคณะกรรมการดังนี้

  • นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ    ประธานกรรมการ
  • นายรุธิร์ พนมยงค์    รองประธานกรรมการ
  • นายอนุสรณ์ ธรรมใจ    รองประธานกรรมการ
  • นายกษิดิศ อนันทนาธร    กรรมการกลาง
  • นายชรินทร์ หาญสืบสาย    กรรมการกลาง
  • นางสาวนิธินันท์ วิศเวศวร    กรรมการกลาง
  • นายปกป้อง จันวิทย์    กรรมการกลาง
  • นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล    กรรมการกลาง
  • นายปริวรรต กนิษฐะเสน    กรรมการกลาง
  • นายปรีดิวิชญ์ พนมยงค์    กรรมการกลาง
  • นายรุจิระ บุนนาค    กรรมการกลาง
  • นายสันติสุข โสภณสิริ    กรรมการกลาง
  • นายอริยะ พนมยงค์    กรรมการกลาง
  • นายพรชัย กิตติปัญญางาม    กรรมการกลางและเหรัญญิก
  • นางอิสริยา นิติทัณฑ์ประภาส บุญญะสิริ    กรรมการกลางและเลขานุการ