ถอดสลักตีความญัตติแก้รธน.‘ฝ่ายค้าน’ชักเข้า-ชักออก

20 ก.ย. 2563 | 00:35 น.

 

ดูเร่งรีบ ลุกลี้ลุกลน ชักเข้า-ชักออก อย่างไรไม่รู้ กับการเสนอญัตติ “แก้ไขรัฐธรรมนนูญ” ของ “ฝ่ายค้าน” 

 

เพราะหลังจากเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 หัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน จำนวน 6 พรรค นำโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ร่วมกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 4 ฉบับ ต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ไปแล้ว ประกอบด้วย

 

1. แก้ไขมาตรา 272 และ 159 ว่าด้วยการให้ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี

 

2. แก้มาตรา 270 และ 271 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ

 

3. แก้มาตรา 279 ว่าด้วยการรับรองคำสั่งและประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 

 

และ 4. แก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส.

 

ถัดมาไม่ถึงสัปดาห์ คือ เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้ยื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภาอีกครั้ง เพื่อขอถอนรายชื่อออกจากการเป็นผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. โดยเนื้อหาในหนังสือดังกล่าวระบุว่า 

 

ตามที่ข้าพเจ้า นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... หนังสือรับที่ 62/2563 ลงวันที่ 10 ก.ย. 2563 โดยมีผู้เสนอรวมทั้งสิ้นจำนวน 187 คน ต่อประธานรัฐสภาไปแล้วนั้น 

 

ในการนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ซึ่งได้ร่วมลงชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มีความประสงค์ขอถอนรายชื่อออกจากการเป็นผู้ร่วมเสนอ ปรากฎรายชื่อตามเอกสารแนบที่แนบมาด้วย 

 

ทั้งนี้ ในเอกสารแนบท้ายนั้น ปรากฏลายเซ็นของส.ส.พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ และพรรคก้าวไกล จำนวน 136 คน 

 

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย อธิบายถึงการขอถอนรายชื่อออกจากการเป็นผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวว่า เป็นเพียงแค่การปรับปรุง ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการทางกฎหมาย เนื่องจากร่างเดิมที่ยื่นไปนั้นมีบางท่อนที่อาจจะเขียนไม่ชัดเจนและสับสน จึงอาจจะมีผลทำให้เกิดคำถามในเรื่องของการตีความทางกฎหมายได้ เราจึงปรับปรุงให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งวิธีการนั้นก็มีหลายวิธี แต่เลือกที่จะถอนร่างเดิม และยื่นร่างใหม่ที่ปรับปรุงแล้วเข้าไปใหม่แทน เพราะเป็นวิธีที่สะดวกที่สุด แต่หลักการและเหตุผลยังเหมือนเดิม 

 

ส่วน นายสมคิด เชื้อคง ส.ส. อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ชี้แจงว่า เป็นการถอนร่างเดิมเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบออกมา เนื่องจากฝ่ายกฎหมายของสภาฯ ให้คำแนะนำว่า ร่างเดิมนั้นมีปัญหาในเรื่องของข้อกฎหมายหลายอย่าง ดังนั้นควรที่จะร่างใหม่ทั้งหมดดีกว่าเพื่อให้เกิดความถูกต้อง ซึ่งเราก็ได้ร่างรายละเอียดขึ้นใหม่และยื่นไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ก.ย.แล้วเช่นกัน ดังนั้น ขณะนี้ญัตติที่ยื่นไปจึงยังมีอยู่เท่าเดิม

 

 

 

 

ก่อนหน้านั้น วันที่ 16 ก.ย. เช่นเดียวกัน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย และประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา ผ่านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาฯ เพื่อเสนอญัตติด่วนให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตาม มาตรา 210 (2) ของรัฐธรรมนูญ กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา256 (1)

 

 

ถอดสลักตีความญัตติแก้รธน.‘ฝ่ายค้าน’ชักเข้า-ชักออก

 

 

นายไพบูลย์ ให้เหตุผลว่า จากการตรวจสอบการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้าน จำนวน 4 ฉบับ ที่ยื่นต่อประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่า รายชื่อ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านซ้ำกับการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 1 ฉบับ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ซึ่งประธานรัฐสภาได้สั่งบรรจุร่างฯ เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาแล้ว 

 

จึงมีปัญหาทางข้อกฎหมายเกี่ยวกับเจตนารมณ์ ว่าส.ส.มีอำนาจลงนามเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้คราวละ 1 ฉบับ หรือลงนามเสนอได้คราวละหลายฉบับ ดังนั้น การเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมอีก 4 ฉบับไม่ถูกต้อง เนื่องจากเคยมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 ฉบับลงวันที่ 29 ม.ค. 2563 จากกรณีที่มี ส.ส.77 คน ส่งเรื่องต่อประธานสภาฯ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตาม ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแก่รัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นประเด็นเดียวกันกับเรื่องพิจารณาที่ 3/2563 ซึ่งมีลายมือชื่อของ ส.ส.ผู้เสนอความเห็นซ้ำกับเรื่องดังกล่าว จำนวน 30 คน

 

กรณีการลงลายมือชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 4 ฉบับของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เสนอ มีการลงลายมือชื่อซ้ำกันทุกฉบับ จึงมีลักษณะเช่นเดียวกันกับที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 และกรณีดังกล่าวไม่ใช่กรณีเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุม ที่จะอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือ ประธานรัฐสภา ว่ามีญัตติมีหลักการซํ้ากันหรือไม่ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) จะให้อำนาจ ส.ส. และส.ว.ลงลายมือชื่อเสนอร่างได้คราวละฉบับ หรือลงลายมือชื่อเสนอได้หลายฉบับก็ได้ในคราวเดียวกัน

 

 

 

นอกจากนี้ ยังมีข้อโต้แย้งว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคร่วมฝ่ายค้านฉบับแรก เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมทั้งฉบับยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 ซึ่งมีผลร่างฯ ฉบับแรกให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทุกมาตราในหมวด 3 ถึงบทเฉพาะกาล ดังนั้น ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเดิมอีก 4 ฉบับ ให้แก้ไขมาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 279 มาตรา 159 และมาตรา 272 จึงซํ้ากับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับแรก 

 

นอกจากนี้ยังมีข้อโต้แย้งอีกคือ หากส.ส.มีอำนาจลงนามเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้คราวละหลายฉบับ จะสร้างปัญหาให้การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย ซึ่งสมาชิกรัฐสภามีจำนวน 750 คน จะต้องใช้เวลาเรียกชื่อและลงคะแนนญัตติละหลายชั่วโมง ซึ่งหากออกเสียงลงคะแนนหลายญัตติ อาจจะใช้เวลาทั้งวัน ดังนั้น ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะพิจารณาวินิจฉัย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อรักษาหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ

 

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ดังนั้น ตนจึงขอเสนอญัตติด่วนตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 31 ประกอบข้อ 15 วรรคสอง ขอให้ประธานรัฐสภาโปรดพิจารณาบรรจุระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาเป็นญัตติด่วน ให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 210 (2) ของรัฐธรรมนูญ กรณี มีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) 

 

ฝ่ายค้าน “ยื่น-ถอน” ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาปรับปรุงใหม่ จะมีผลให้การส่ง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตีความญัตติแก้รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ มีอันต้องยุติไปหรือไม่ ต้องติดตาม... 

 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,611 หน้า 10 วันที่ 20 - 23 กันยายน 2563