ศาลปกครองสั่งกทม.ระงับเวนคืนที่สร้างถนนเลียบคลองประปา

16 ก.ย. 2563 | 04:21 น.

ศาลปกครอง สั่ง กทม.ระงับเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อก่อสร้างถนนเลียบคลองประปาฝั่งตะวันออก ที่เชื่อมระหว่าง ถนนแจ้งวัฒนะ-ถนนสรงประภา เหตุ ต้องปฏิบัติตาม กม.เวนคืนฉบับใหม่ ไม่ใช่ใช้วิธีปรองดองตกลงซื้อขายตามมติ ครม. 9 ตุลาคม 2500

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (16 กันยายน 2563) ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาสั่งให้กรุงเทพมหานครระงับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อก่อสร้างถนนเลียบคลองประปาฝั่งตะวันออกเชื่อมระหว่างถนนแจ้งวัฒนะกับถนนสรงประภาไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

 

ทั้งนี้ คดีนี้นายศักดิ์ณรงค์ ทยาเศรษฐ์ กับพวกรวม 6 คน ซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในแนวเขตที่ดินเวนคืนดังกล่าว ได้ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2  ว่าขณะออกประกาศรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในโครงการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อก่อสร้างถนนเลียบคลองประปาฝั่งตะวันออกเชื่อมระหว่างถนนแจ้งวัฒนะกับถนนสรงประภา มีการใช้บังคับรัฐธรรมนูญ 60 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 แล้ว                       

การที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มิได้เสนอคณะรัฐมนตรีออกพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการเข้าไปสำรวจทรัพย์สินและตกลงซื้อขายกับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนด แต่กลับตกลงซื้อขายกับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์โดยใช้วิธีปรองดองตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ต.ค.2500  ซึ่งเป็นเพียงแนวทางปฏิบัติแก่หน่วยงานราชการ ทำให้อาจมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ศาลปกครองกลาง เพิกถอนคำสั่ง ก.ล.ต.กรณีลงโทษ"ชญานี โปขันเงิน"

ศาลเพิกถอนคำสั่งก.ล.ต.คดีลงโทษ"ชยันต์ อัคราทิตย์"ชี้ไม่ชอบด้วยก.ม.

"ศาลปกครอง"ไม่รับคำฟ้องถูกตัดสิทธิ์ขอรับเงินเยียวยา"เราไม่ทิ้งกัน"

ประกาศศาลปกครอง ห้ามเดินทางไป11ประเทศ

 

ดังนั้น หากปล่อยให้มีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามโครงการฯ โดยใช้วิธีปรองดองตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  9 ต.ค. 2500 ต่อไป ย่อมทำให้นายศักดิ์ณรงค์ กับพวก ได้รับความเดือดร้อนเสียหายในระหว่างพิจารณาคดีของศาลและยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังจึงมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่ศาลจะนำมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษามาใช้  

 

อีกทั้งเห็นว่า การมีคำสั่งให้กรุงเทพมหานครระงับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ โดยการใช้วิธีปรองดองตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ต.ค.2500 ในโครงการฯ ไว้ก่อน ย่อมทำให้กรุงเทพมหานคร ได้มีโอกาสพิจารณาปรับปรุงแผนการดำเนินงานตามโครงการฯ รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อเป็นเงินค่าทดแทนที่จะต้องนำไปจ่ายให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด  ซึ่งจะเป็นผลดีแก่การบริหารราชการของกรุงเทพมหานคร  จึงมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาสั่งกรุงเทพมหานครระงับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไว้ก่อน