เปิด 9 ข้อเสนอ ปรองดอง-นิรโทษกรรม ฉบับกมธ.กฎหมายฯ

15 ส.ค. 2563 | 02:55 น.

 

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน ได้พิจารณารายงานศึกษาเรื่อง แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน ได้พิจารณาเสร็จแล้ว

 

โดยรายงานดังกล่าวมีการเสนอแนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ ซึ่งมีเนื้อหาและสาระสำคัญเป็นข้อเสนอแนะ 9 ข้อ ซึ่งมีข้อเสนอให้ออกกฎหมาย “นิรโทษกรรม” รวมอยู่ด้วย 

 

สำหรับสาระสำคัญข้อเสนอแนะ 9 ข้อ ประกอบด้วย

 

1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คือกติกาที่ทำให้เกิดความเห็นต่าง เป็นกลไกสืบทอดอำนาจ นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทันที โดยนายกรัฐมนตรี ต้องระบุรายละเอียดให้ชัดเจนต่อกรอบเวลาของกระบวน การแก้ไข ไม่เตะถ่วงการแก้ไข เพราะหากใช้เวลานานจะทำให้ความขัดแย้งแก้ไขได้ยาก ส่วนกระบวนการแก้ไขต้องยึดหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด และไม่มีเจตนาแอบแฝงหรือทำประโยชน์เพื่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล

 

รับฟังความเห็นของประชาชนทุกกลุ่ม และเมื่อแก้ไขแล้วเสร็จ ขอให้รัฐบาลเสียสละ ยุบสภาทันที และจัดการเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่ ทั้งนี้ เสนอให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากประชาชนยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

 

2. นิรโทษกรรม แบ่งเป็น นิรโทษกรรมคดีการเมืองและคดีอาญาที่มี เหตุจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน ยกเว้นคดีทุจริตและประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

 

โดยการนิรโทษกรรมเพื่อสร้างความปรองดอง ต้องทำเป็นกระบวนการหลายระดับ ให้ความสำคัญกับการแสวงหาข้อตกลงระหว่างคู่ขัดแย้ง ระดับแกนนำ ผู้ชุมนุม และสร้างความเข้าใจของขอบเขตนิรโทษกรรม

 

การนิรโทษกรรมต้องมีเงื่อนไข คือ เฉพาะคดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง ที่แยกเป็น 2 กลุ่มคือ คดีที่รัฐกระทำต่อบุคคล และ คดีที่บุคคลละเมิดต่อบุคคล โดยการใช้กฎหมายพิเศษ เป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.)

 

3. ต้องเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อ รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทุกฝ่าย โดยไม่จำกัดการเยียวยาเป็นตัวเงินเท่านั้น

 

4. การชุมนุมและสิทธิผู้ชุมนุม รัฐต้องรับรองและประกันเสรีภาพการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ ไม่แทรก แซงหรือก่อกวน หรือประทุษร้ายจากบุคคลที่สาม ขณะเดียวกันการชุมนุมต้องมีขอบเขตจำกัดตามรัฐธรรมนูญกำหนด กองทัพต้องไม่รัฐประหาร

 

5. ให้ผู้นำทุกฝ่าย โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ที่บริหารประเทศขณะเกิดเหตุการณ์รุนแรง และนายกรัฐมนตรี​ ที่บริหารประเทศปัจจุบัน แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์รุนแรงด้วยการขอโทษ

 

เปิด  9  ข้อเสนอ ปรองดอง-นิรโทษกรรม ฉบับกมธ.กฎหมายฯ

 

 

6. ใช้กระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายที่ยุติธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะกระบวนยุติธรรมขององค์กรอิสระ และ ศาล

 

7. รัฐบาล ผู้นำฝ่ายค้าน พรรคการเมือง กลุ่มการเมืองทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวกับความขัดแย้งต้องรักษาบรรยากาศของความปรองดอง สมานฉันท์ และร่วมบริหารประเทศภายใต้กรอบ เคารพความเห็นต่าง

 

 

 

8. ข้อสังเกตเกี่ยวกับสื่อมวลชน ต้องยึดการทำงานภายใต้กรอบความรับผิดชอบตามจริยธรรมและหลักวิชาชีพ ไม่บิดเบือน และให้ข้อมูลที่ ถูกต้อง ครบถ้วนและรอบด้าน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม รวมถึงไม่นำเสนอข้อมูลหรือถ้อยคำที่ทำให้เกิดการยั่วยุ เกลียดชัง

 

9. ข้อสังเกตเกี่ยวกับกองทัพ เสนอเพิ่มคำถวายสัตย์ปฏิญาณของเหล่าทัพ ว่า “จะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะไม่ทำการปฏิวัติรัฐประหาร” 

 

เพราะการแทรกแซงการเมืองของกองทัพผ่านการรัฐประหาร ทำให้สังคมขาดการเรียนรู้ต่อการจัดการวิกฤติการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยและสร้างความไม่พอใจจากบุคคลที่ถูกคุกคาม และทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองซับซ้อนและบานปลาย

 

นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรม อภิปรายว่า การเสนอแนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ในเวลานี้ถือว่าถูกจังหวะ ก่อนที่ความขัดแย้งใหม่จะเกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดความขัดแย้งใหญ่ๆ ขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติและชีวิตของคนในประเทศ รวมถึงระบบเศรษฐกิจมหาศาล 

 

 

 

ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ก็เกิดความแตกแยกทางความคิดของคนในสังคมมาอย่างยาวนาน แม้สถาน การณ์ภายนอกอาจจะดูทุเลาลง แต่ยังมีความซึมลึกอยู่ในความคิด มีการ แบ่งแยกของคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง อย่างชัดเจน

 

นพ.ระวีกล่าวว่า ในสถานการณ์ตอนนั้นได้มีการพูดคุยของแกนนำทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งตนก็อยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย ทุกฝ่ายเห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรมคดีทางการเมือง เพราะจะสามารถสร้างความสมานฉันท์ในบ้านเมืองได้ แต่มีข้อยกเว้นอยู่ 3 ข้อ คือ 

 

1. ยกเว้นคดีตามมาตรา 112 

 

2. ยกเว้นคดีอาญาโดยเนื้อแท้ เช่น การยิงประชาชน, ทหาร, ตำรวจ เสียชีวิต 

 

และ 3. ไม่นิรโทษกรรมคดีคอร์รัปชัน 

 

“ผมขอเสนอการนิรโทษกรรมในชื่อ พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ซึ่งเชื่อว่าการนิรโทษกรรมจะเป็นทางเดียวจะเป็นการแก้ไขความขัดแย้งในอดีตได้ดีที่สุด ส่วนความขัดแย้งในปัจจุบัน ทุกฝ่ายควรนำเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตมาศึกษาความขัดแย้ง ความเสียหายให้ดี อย่าให้เกิดเหตุการณ์ซํ้ารูปแบบเดิมอีก” นพ.ระวี เสนอแนะ 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,601 หน้า 10 วันที่ 16 - 19 สิงหาคม 2563