คาใจนักนิติวิทยาศาสตร์ สับสน คดีบอส

12 ส.ค. 2563 | 10:45 น.

อัดยับ คดีบอส อยู่วิทยา "อำนวย นิ่มมะโน" คาใจเป็นนักนิติวิทยาศาสตร์ อ้างเหตุ "สับสน" ขอกลับความเห็นเรื่องความเร็วคดีบอสกระทิงแดง ยิ่งตอกย้ำถึงเวลาต้องปฏิรูปตำรวจ-ปฏิรูปการสอบสวนแล้ว

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า เป็นนักนิติวิทยาศาสตร์ ตอบได้ไง?  "สับสน"  ขอกลับความเห็นเรื่องความเร็ว ใครสั่ง? ใครใช้? ใครกดดัน? หรือมีเทพองค์ใด? มีมารตนใด?  หรือมีปัจจัยอะไรจูงใจ.........
     -------------------------

"การปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม"   รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติ  ให้นำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ มาใช้ในการสืบสวนสอบสวน อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยจะต้องให้มีหน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์ มากกว่าหนึ่งหน่วยงาน(เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก) 

     --------------------------

อันว่า พยานความเห็น พยานผู้เชี่ยวชาญ / พยานผู้มีความรู้เชี่ยวชาญ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๔๓ บัญญัติรองรับมานานแล้ว  โดยให้รับฟังพยานหลักฐานประเภทนี้ประกอบ การสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาคดี กำหนดให้ผู้เชี่ยวชาญทำความเห็นเป็นหนังสือฯ  

 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน่วยงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนมาก แบ่งเป็น
         >  ด้านพิสูจน์หลักฐาน(พฐ.) ตรวจที่เกิดเหตุ พิสูจน์วิถีกระสุน ทิศทาง ระยะทาง ความเร็วรถ อัตลักษณ์บุคคล ฯลฯ   บุคลากร จึงประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ทั้งนักฟิสิกส์ เคมี ชีวะ  วิศวะ
      > ด้านนิติเวช  เป็นงานด้านพิสูจน์สาเหตุการตาย บาดแผล เวลาตาย  บุคคลากรจะเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านนิติเวช

 

งานทั้งสองเป็นงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่มีผู้เชี่ยวชาญ ที่จะร่วมตรวจสถานที่เกิดเหตุ และศพ เพื่อสรุปความเห็นตามอำนาจหน้าที่ส่งให้พนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐานประกอบคดี(ตามมาตรา ๒๔๓ )  ดังนั้นงานทั้งสองด้านจึงเสมือนผู้ช่วยพนักงานสอบสวนในการที่จะทำความเห็นเพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำความผิด และพิสูจน์ถึงตัวผู้กระทำความผิด


ความเห็นของนักนิติวิทยาศาสตร์(นักวิทยาศาสตร์และแพทย์นิติเวช) จึงเป็นพยานความเห็นที่มีความถูกต้อง ชัดเจน เพราะเป็นเรื่องการพิสูจน์ ทดลอง ตามทฤษฎี ในทางวิทยาศาสตร์ หรือ ทางการแพทย์   1 +  1 = 2    กรดทำปฏิกิริยากับด่าง ต้อง ได้เกลือกับน้ำ  ไม่มีทางที่จะได้ก้อนหิน ไปได้........

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

รอคำตอบจากมโนสำนึกของ "คณะกรรมการอัยการ"

อสส. สั่งสอบ "เนตร นาคสุข" ปมสั่งไม่ฟ้องคดี"บอส อยู่วิทยา"

ยุติธรรมอำพราง “คดีบอส” ฟ้าผ่าใส่ “สำนักงานอัยการ”

พลตำรวจโทอำนวย นิ่มมะโน จัดหนักสตช.คดีทายาทกระทิงแดง ถึงเวลาปฏิรูปแล้วหรือยัง?

 

ความจำเป็น สำคัญประการหนึ่งของการทำความเห็นในงานนิติวิทยาศาสตร์ก็คือ  การต้องไปร่วมตรวจสถานที่เกิดเหตุ การร่วมตรวจชันสูตรพลิกศพด้วยตนเอง  ไม่ใช่ดูจากภาพถ่าย ไม่ใช่ดูจากคลิป  ฟังเขาเล่า แล้วเอามาคิดคำนวณทำความเห็น  ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะละม้ายใกล้เคียงกับหมอดูมากกว่า 
   ---------------------------
   

คดี "บอส กระทิงแดง" เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน พ.ต.อ.ธนสิทธิ์  แตงจั่น กับพวกจากกองพิสูจน์หลักฐาน ได้ไปร่วมตรวจสถานที่เกิดเหตุ สองประเด็นสำคัญที่ต้องทำความเห็น คือ ความเร็วของรถเฟอรารี่ของเจ้าบอสขณะที่ชน  กับลักษณะการชน (ชนท้ายหรือชนข้าง) และกระผมจำได้ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ทำ MOU กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มาเป็นที่ปรึกษาทางด้านคดีจราจรกันมานานแล้ว(ก่อนกระผมเกษียณอายุราชการเสียด้วยซ้ำ)  

 

คดีนี้ รศ.ดร.สธน  วิจารณ์วรรณลักษณ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  จึงมาร่วมตรวจและทำความเห็น และก็ได้ผลตรงกันที่ 177 กม./ชม. ซึ่งก็แปลว่า รศ.ดร.สธนฯ ในฐานะที่ปรึกษาต้องทำความเห็นมาให้ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ฯ กับพวกนำมาประกอบความเห็นเข้าสู่สำนวนมาตั้งแต่แรกแล้วและคงไม่ต้องใส่ความเห็นของ รศ.ดร.สธนฯ โดยตรงเข้าไว้ในสำนวน(ซึ่งก็มิใช่เรื่องผิดปกติ)เพราะท่านอยู่ในฐานะที่ปรึกษาจึงไม่น่าที่จะนำมาอ้างว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ได้

 

หลายปีต่อมา ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม ก็อุบัติขึ้น ใช้การตรวจพิสูจน์ความเร็วรถเจ้าบอส  โดยอาศัย "หลักของผมเอง"(ตอบคำถามสื่อ)  โดยดูจากคลิปบันทึกภาพเหตุการณ์(ไม่ได้ตรวจสถานที่เกิดเหตุ) แล้วออกความเร็วมา 76 กม./ชม.  และขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ เปลี่ยนความเห็นใหม่จากเดิม 177 กม./ชม.  เหลือ 79.23 กม./ชม.( แค่ 79 เศษ ไม่ถึง 80 จึงไม่เกินที่กฎหมายกำหนด และมีจุด 23 ดูดีน่าเชื่อถือ..) ใครจะเชื่อก็เชิญ.....

 

ต่อมาเมื่อเรื่องมันแดง มันแรง มันร้อน ถูกสังคมตรวจสอบ  เจ้าตัวออกมาตอบขอกลับความเห็นไปใช้ความเร็ว 177 กม./ชม. ตามความเห็นเดิม โดยให้เหตุผลว่า "สับสน" มันจะง่ายเกินไปละมั้ง!!  ถ้าจะตอบว่า "สับสน"  แล้วจบ แค่นี้.......

 

ใคร? ทำอะไร? ที่ไหน? เมื่อไหร่? อย่างไร?  มีเทพองค์ใด ?  มีมารตนไหน?  มีปัจจัยอะไร? ที่ทำให้หลักการทางวิทยาศาสตร์ถึงกับ "สับสน"  จากที่กรดทำปฏิกิริยากับด่าง ได้เกลือ กับ น้ำ  กลับกลายเป็นได้ "ยาชูกำลัง"  ไปเสียชิบ!!!

 

แล้วความน่าเชื่อมันจะเหลืออยู่อีกหรือ? (ทั้งความน่าเชื่อถือในตัวคน ในคดี  และในหน่วยงานทั้ง พฐ.และ ตร.) ขอตั้งคำถามกับบ้านหลังเดิมของกระผมว่าจะดำเนินการปัดกวาดสิ่งโสโครก ในบ้านหลังนี้อย่างไร?  หรือปล่อยให้มันจบไปด้วยคำแก้ตัวสองพยางค์ นั้น  

 

อีกประเด็นหนึ่ง คือชนท้าย หรือชนข้าง ประเด็นนี้ก็ถือว่าสำคัญมากและผู้ชำนาญการก็ได้ให้ความเห็น มีการจำลองเหตุการณ์ วัดขนาด เทียบเคียงแผล(ความเสียหายของรถ)  ชนท้ายก็คือ ชนท้าย แม้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. ก็เป็นฝ่ายประมาทเพราะกฎหมายจราจร บัญญัติให้รถคันหลังเว้นระยะห่างจากคันหน้าในระยะที่ปลอดภัย(รถคันหลังต้องระวังคันหน้า) เลยเกิดพยานกลับชาติมาเกิด 2 ปาก มายืนยันว่านายดาบขี่รถปาดหน้าซะงั้น!!!    รายงานการตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐานยืนยันไว้ชัดว่าชนท้ายหายไปไหน?  ทำไมไม่พูดถึงประเด็นนี้กัน
    ------------------------

 

จากที่พยานหลักฐานด้านนิติวิทยาศาสตร์ เป็นพยานที่ไม่รู้จัก ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับคู่กรณีฝ่ายใดมาก่อน  ยืนยันความเห็นตามหลักวิทยาศาสตร์  และการแพทย์ ย่อมมีน้ำหนักในการรับฟัง  แล้วยังจะปล่อยให้เกิดการทำลายความน่าเชื่อถือ....เพียงแค่พยักหน้าอืออือ  แล้วจบกันแค่นี้หรือ  สมควรหรือไม่ที่จะลากตัวไอ้โม่ง  ออกมา กระชากหน้ากากตัวละครออกมาให้สังคมรับรู้ ลงโทษให้สาสม เพื่อเรียกความเลื่อมใสศรัทธากลับมาสู่องค์กรตำรวจของเรา.........
  --------------------------------    
 

กระผมเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งจะมีโทษที่จะลงได้ ทั้งปรับ/ห้ามลงเล่น/ห้ามลงเล่นตลอดชีวิต คล้ายๆโทษทางอาญา (ปรับ/จำคุก/ประหารชีวิต) ขณะเขียนบทความอยู่นี้มีข่าวว่า รองอัยการสูงสุดท่านที่สั่งไม่ฟ้อง คดีบอสกระทิงแดง ได้ยื่นหนังสือลาออกจากราชการจะเป็นการลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ  หรือหลบหนีการที่จะถูกตั้งกรรมการทางวินัยที่คาดว่าจะตามมาเร็วนี้ (พูดง่ายๆ ฟังง่ายๆ ว่าเพื่อหนีความผิด)    หรือจะโดยเหตุผลกลใดก็ช่างเถอะ!!!!

 

แต่มันคงไม่ใช่การแก้ปัญหา และคงไม่ใช่คำตอบที่สังคมต้องการ  เปรียบเทียบกับเพียงแค่นักมวย นักฟุตบอล ที่ล้มมวย ล้มบอล จะถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 ซึ่งมีโทษถึงจำคุก  แค่นั้นยังไม่พอยังจะถูกห้ามชก ห้ามเล่น ไปตลอดชีวิต.... เรียกว่าสูญพืชสูญพันธุ์กันไปเลย  สำหรับบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมละ แค่ไหนจึงจะเหมาะสม แค่ไหนจึงจะสาสมคงไม่ใช่เพียงเก็บเสื่อเก็บหมอนกลับบ้านไปแล้วจบกัน .........

 

ขอตั้งคำถามอีกทีเถอะ !!!

ถึงเวลา "ปฏิรูปตำรวจ" "ปฏิรูปการสอบสวน" "ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม" แล้วหรือยังครับ  ถ้าเห็นว่า "สมควร"  ถามต่ออีกนิดว่า จะรออะไรอยู่ในเมื่อร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปการสอบสวน และแผนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม  ทำเสร็จตั้งนานสองนานจนจะถือเป็นของเก่าอยู่แล้วครับท่าน

 

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน                              

กรรมการปฎิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม

๑๒  สิงหาคม ๒๕๖๓