เลือกตั้งท้องถิ่น “องอาจ” แนะ รัฐบาลจับเข่าคุย กกต.

12 ส.ค. 2563 | 03:20 น.

“องอาจ” แนะ รัฐบาลจับเข่าคุย กกต. กำหนดเลือกตั้งท้องถิ่น ชี้ รัฐบาลควรแสดงความจริงใจเพื่อให้ ปชช.ใช้สิทธิ์ใช้เสียงกำหนดการบริหารจัดการท้องถิ่นด้วยตนเอง ไม่ปล่อยให้อำนาจการบริหารจัดการปกครองท้องถิ่นอยู่ในมือของคนเพียงกลุ่มเดียวที่ได้รับการต่ออายุมานานกว่า 6 ปีแล้ว

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.อนุพงษ์ จินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ยังไม่พร้อมเลือกตั้งท้องถิ่น เนื่องจากต้องรอ กกต. ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ขณะที่ กกต. ยืนยันว่ามีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รมว. มหาดไทย มักบอกว่า ยังไม่พร้อมเลือกตั้งท้องถิ่น โดยอ้างว่า กกต. ยังไม่พร้อม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

2กกต.เดือดอัด“มท.1”ยันพร้อม“เลือกตั้งท้องถิ่น”

“เลือกตั้งท้องถิ่น” กกต.แบ่งเขต อบจ. ครบ 77 จังหวัดแล้ว

นิพนธ์ ย้ำ“เลือกตั้งท้องถิ่น”ปีนี้แน่รอถก กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง

ประธานกกต.เชิญชวนใช้สิทธิ์เลือกตั้งซ่อมส.ส.สมุทรปราการ

 

แต่เมื่อวานนี้ กกต. ยืนยันว่า พร้อมเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งยังย้ำว่า มีความพร้อมมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 รัฐบาล และ รมว.มหาดไทย จึงไม่ควรมีข้ออ้างอะไรอีกที่จะเหนี่ยวรั้งเตะถ่วงการเลือกตั้งท้องถิ่นออกไปแบบไม่มีกำหนด

กฎหมายกำหนดไว้แล้วว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นทั้ง 4 แบบ คือ อบจ. อบต. เทศบาล และองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 2 แห่ง คือ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 142 ว่าด้วยการเลือกตั้งครั้งแรกเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่จะกำหนด เมื่อกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนแบบนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยกับ กกต. ควรจับเข่าคุยกัน กำหนดการเลือกตั้งท้องถิ่นให้ชัดเจนได้แล้ว

 

ขณะนี้บ้านเมืองก็ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐบาลควรแสดงความจริงใจสนับสนุนการเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองใช้สิทธิ์ใช้เสียงผ่านการเลือกตั้ง กำหนดการบริหารจัดการท้องถิ่นด้วยตนเอง ไม่ใช่ปล่อยให้อำนาจการบริหารจัดการปกครองท้องถิ่นอยู่ในมือของคนเพียงกลุ่มเดียวที่ได้รับการต่ออายุมาเรื่อยๆ นานกว่า 6 ปีแล้ว โดยประชาชนไม่ได้ตัดสินใจเลือกตั้งมาแต่อย่างใด

ขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะเลือกตั้ง แบ่งเป็น อบจ. 76 แห่ง อบต. 5,320 แห่ง เทศบาล 2,454 แห่ง (เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 187 แห่ง เทศบาลตำบล 2,237 แห่ง) กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา 2 แห่ง รวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะต้องเลือกตั้งทั้งหมด 7,852 แห่ง

 

ขอเรียกร้องให้ รมว. มหาดไทย จัดการปัญหาทั้งหมดให้ลุล่วงไปโดยเร็ว ไม่ควรเอาปัญหาอะไรมาอ้างเพื่อเลื่อนเลือกตั้งท้องถิ่นออกไปอีก และรีบประสานส่งเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อให้รัฐบาลใช้อำนาจประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป