ผ่าคดีดัง ยุค‘วงศ์สกุล’นั่งอสส. ไม่ฟ้อง-ไม่อุทธรณ์-รอสั่ง

12 ส.ค. 2563 | 04:15 น.

 

ทำเอาสะเทือนกันไปทั้ง สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ต่อกรณี เนตร นาคสุข อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง ขณะรักษาการรองอัยการสูงสุด (รองอสส.) มีคำสั่งไม่ฟ้องทุกข้อหา วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส อยู่วิทยา” ทายาทเจ้าสัวเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง กรณีขับรถหรูเฟอร์รารี่ ชนตำรวจ สน. ทองหล่อ เสียชีวิต เมื่อปี 2555

สำทับด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดย พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ได้ลงนามไม่แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” สร้างความเคลือบแคลงสงสัยต่อการทำหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุด และ สำนักตำรวจแห่งชาติ ว่า “มีนอกมีใน” กับคดีที่เกิดขึ้นหรือไม่ 

ลามไปสู่วิกฤติความน่าเชื่อถือต่อทั้ง 2 องค์กร 

แม้ทั้ง 2 องค์จะมีการตั้ง “คณะกรรมการ” ขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงของการสั่งคดี แต่ผลสอบที่ออกมาแล้วของสำนักงานอัยการสูงสุด ก็หาคลายความเคลือบแคลงสงสัยของสังคมแต่อย่างใดไม่ 

คงไม่ต้องพูดถึงของ “สตช.” ที่ตำรวจสอบตำรวจด้วยกันเอง ก็คงจะพอเดาผลการสอบได้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

“ฐานเศรษฐกิจ” จะพาไปสำรวจตรวจดูคดีความดังๆ ยุคที่มี “วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์” นั่งเป็นอัยการสูงสุด (อสส.) คนปัจจุบัน ว่ามีคดีสำคัญอะไรบ้างที่สั่งไม่ฟ้อง หรือ รอการสั่งคดีอยู่ 

“วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์” ปัจจุบันอายุ 65 ปี ผ่านการลงคะแนนไฟเขียวให้เป็น “อัยการสูงสุด” จากที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2562 ด้วยคะแนน 215 ต่อ 6 งดออกเสียง 9 เสียง

กระทั่ง มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด  ให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562

 

คดีสำคัญที่สั่งไม่ฟ้อง 

• 31 ต.ค.2562 สำนักงานอัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้อง คดี อนันต์ อัศวโภคิน เจ้าของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง ในคดีฐาน ร่วมกันสมคบฟอกเงินและฟอกเงิน ที่เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินพัวพันถึงวัดธรรมกาย แม้เมื่อ พ.ย. 2562
กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เจ้าของคดี จะแถลงว่า “มีความเห็นแตกต่างจากพนักงานอัยการ โดยเห็นว่าข้อเท็จจริงยังฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำความผิดตามที่ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องไปแล้ว จึงได้มีความเห็นแย้งความเห็นของพนักงานอัยการให้ฟ้อง อนันต์ ตามข้อกล่าวหาที่ส่งพนักงานอัยการแล้ว” แต่ในที่สุด อสส.ก็สั่งยุติไม่ฟ้องคดี

 

 

ผ่าคดีดัง  ยุค‘วงศ์สกุล’นั่งอสส. ไม่ฟ้อง-ไม่อุทธรณ์-รอสั่ง

 

 

 

• 28 พ.ค. 2563 ไม่ยื่นอุทธรณ์ คดี พานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ทักษิณ ชินวัตร ฐานร่วมกันฟอกเงินทุจริตเงินปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย จำนวน 10 ล้านบาท ในความความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และสมคบคบกันฟอกเงิน ตามพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ทำให้คดีถึงที่สุด 

โดยคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง พานทองแท้ อัยการเจ้าของสำนวนไม่ยื่นอุทธรณ์ส่งกลับดีเอสไอ ดีเอสไอมีความเห็นแย้งให้ยื่นอุทธรณ์ แต่ท้ายที่สุดสำนักงานอัยการสูงสุด ก็มีคำสั่งชี้ขาดไม่อุทธรณ์คดี

• 3 มิ.ย. 2563 มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ทายาทเจ้าสัวกระทิงแดงใน ทุกข้อหา กรณีขับรถเฟอร์รารี่ชนตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต ทั้งที่เวลาผ่านไปร่วม 8 ปี ทำให้คดีไปไม่ถึงศาล 

โดยทั้ง 2 คดีหลังนี้เป็นการใช้ดุลยพินิจสั่งคดีโดยคนเดียวกัน คือ เนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด 

ว่าด้วยการสั่งไม่ฟ้องคดี “บอส อยู่วิทยา” ได้นำไปสู่การวิพากษ์วิจาณ์ เคลือบแคลงสงสัย จนอัยการสูงสุดต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบการสั่งคดี และมีความเห็นให้ “ตำรวจ” สอบสวนทำคดีเพิ่มเติมกรณีพบสารโคเคนในร่างกายและเรื่องความเร็วรถ

 

 

 

รอสั่งคดีทุจริตฟุตซอล

อีกคดีดังที่อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนและประชาชน คือ คดีทุจริตการก่อสร้างสนามฟุตซอล สำนวนแรก ภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กับพวก รวม 24 คน กรณีทุจริตเงินจัดสรรงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอลโรงเรียนในพื้นที่เขตการศึกษา จ.นครราชสีมา โดยคดีนี้แบ่งเป็น 7 สำนวน

สำนวนแรก มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างฝ่ายอัยการ และฝ่าย ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ มีการประชุมนัดสุดท้าย เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2563 และได้ข้อสรุปว่า ข้อไม่สมบูรณ์ดังกล่าวดำเนินการได้เรียบร้อยดี มีความเห็นสั่งฟ้อง และได้เสนอ อสส.ให้พิจารณาสั่งคดีต่อไป

คดีนี้ ขณะนี้เวลาล่วงเลยมาแล้วกว่า 2 เดือน ก็ยังไม่มีความคืบหน้าออกมาจาก “อสส.” ว่าจะมีความเห็นไปในทิศทางใด 

โดยหาก “อัยการสูงสุด” มีความเห็นให้ยื่นฟ้อง วิรัช กับพวก ก็จะต้องทำสำนวนฟ้องและนัดตัวผู้ ถูกกล่าวหาทั้งหมดมาพบอัยการ เพื่อส่งตัวฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

แต่หากอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้อง ก็จะส่งเรื่องคืนมาที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งถ้าที่ประชุมใหญ่ป.ป.ช.มีมติยืนยันให้ยื่นฟ้อง ป.ป.ช.ก็สามารถฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ เองได้

นี่คือบางส่วนของคดีดังในยุคที่มี “วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์” นั่งเป็นอัยการสูงสุด 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,600 หน้า 12 วันที่ 13 - 15 สิงหาคม 2563