รศ.ดร.สมชาย แนะรมต.ศก.ใหม่ เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ-ชะลอตกงาน

07 ส.ค. 2563 | 09:21 น.

“รศ.ดร.สมชาย”แนะรัฐมนตรีศก.“ประยุทธ์ 2/2" เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนผู้ประกอบการเจ๊ง พร้อมชะลอตกงาน ชี้หลังคลายล็อคดาวน์คนตกงานจะเพิ่มขึ้น

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

 

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ให้ความเห็นหลังราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ในรัฐบาล “ประยุทธ์ 2/2” ว่า  โจทย์ใหญ่สุดรัฐบาลตอนนี้ คือการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเพื่อชะลอการเจ๊งของธุรกิจ รวมทั้งชะลอเรื่องคนตกงานที่จะมีปัญหาใหญ่มากขึ้น ที่เป็นอย่างนี้ เพราะหลังจากที่ไทยคลายการล็อคดาวน์จำนวนของธุรกิจและคนที่จะตกงานแทนที่จะน้อยลง กำลังจะมีมากขึ้น  เพราะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก จะปิดตัวลง เห็นได้ชัดจากประเทศสเปน หลังคลายล็อคดาวส์ธุรกิจร้านอาหารเปิดไม่ได้ประมาณ 70 %   อีก 30 % ปรากฏว่าต้องลดคนอีกไม่ต่ำกกว่า 70 %  

 

ดังนั้นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในเมืองไทย คิดว่าจะเจอปัญหานี้ เพราะจำนวนคนว่างงาน และจำนวนกิจการปิดตัวมากขึ้น
ภารกิจของรัฐบาลต้องเร่งมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการอื่นเพื่อลดปัญหาต่างๆที่จะตามมา  ซึ่งมี 3 ประเภท คือ กลุ่มแรกรัฐบาลช่วยอย่างไรกิจการก็ไม่รอด  กลุ่มที่สองพอจะเปิดกิจการได้แต่พอไปถึงจุดหนึ่งก็เจอปัญหา และกลุ่มที่สาม ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว ก็จะเอาตัวรอดได้ 


 

 

รศ.ดร.สมชาย  กล่าวอีกว่า ทั้งสามกลุ่มดังกล่าวรัฐบาลจะเยียวยาอย่างไรนั้น ต้องมี 2 องค์ประกอบคือ ประการที่ 1.กระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ภายใต้ไวรัสโคโรนา ที่ต้องบริหารอย่าให้มันแพร่เชื้อมาเป็นระลอกสอง ที่เป็นการแพร่เชื้อเป็นจุดๆหรือ “ทาร์เก็ต ล็อกดาวน์” ประการที่ 2.ในการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องให้ทันเวลาไม่เช่นนั้นจำนวนคนที่จะเจ๊งมากขึ้น  และประการที่3. การฟื้นตัวต้องเป็นลักษณะมีความเป็นเอกภาพ ซึ่งตอนนี้รัฐบาลจากหลายๆพรรค จะต้องทำคู่ขนานกัน ต้องเยียวยาให้ฟื้น  ขณะที่คนตกงานก็ต้องเยียวยาด้วย 

 

เมื่อรัฐบาลได้มาตรการที่ต้องรีบทำแล้ว  ที่สำคัญต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพมาก เพราะงบประมาณที่เรามีอยู่เป็นตัวจำกัดขอบเขตเพราะเรามีงบประมาณอยู่ 3 กอง ประกอบด้วย กองที่หนึ่ง จะหมดในเดือนกันยายนนี้แล้ว งบเก่าที่มีจำนวน 8.8 หมื่นล้านบาท และพ.ร.ก.เงินกู้1.9ล้านล้านบาท และงบประมาณปี 2564 จำนวน 3.3ล้านล้านบาท ซึ่งประมาณ 6 แสนล้านบาทเป็นงบลงทุน ที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้น

 

อีกส่วนหนึ่งเป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน  การใช้งบประมาณทั้ง 3 กองมันติดเพดานแล้ว  เพราะหนี้สาธารณะของงบประมาณทั้ง 3 กอง เท่ากับ5.9  % ของจีดีพี ทำให้รัฐบาลมีข้อจำกัดในการใช่งบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงต้องใช้งบให้มีประสิทธิผล  อีกทั้งส่วนหนึ่งต้องมาช่วยคนตกงาน ซึ่งอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่ รัฐบาลจึงต้องรีบทำ

 

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำอีกคือ การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน อันนี้ต้องสอดคล้องกับเศรษฐกิจหลังยุคโควิด -19  รัฐบาลจะต้องรีบทำในหลายเรื่อง ประกอบด้วย หนึ่ง การพัฒนาเทคโนโลยี ที่จะพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน  ซึ่งมาตรการนี้ดูในงบใหม่น้อยมาก  ในอุตสาหกรรมอนาคตมีเพียง 900 ล้านบาท  

 

สอง. มาตรการในการรองรับภูมิรัฐศาสตร์ ที่กำลังเปลี่ยนแปลง เรื่องจีนกับอเมริกา ต้องดำเนินมาตรการเพื่อเผชิญปัญหาที่จะกระทบกับเรา ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับการทำข้อตกลงเอฟทีเอ ซึ่งไทยยังไม่มี   สาม. ภายใต้มาตรการนี้ต้องมีการร่วมมือกับอาเซี่ยน การพัฒนาขีดความสามารถเพื่ออำนาจต่อรองไม่ใช่เรื่องง่าย ยกตัวอย่างเรื่องธุรกิจทีเกี่ยวข้องกับสุขภาพ ในอียูมีการเตรียมการปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโรคภัยไข้เจ็บจะมีหลายระลอก จะต้องไม่มีปัญหาเรื่องหน้ากากอนามัย  เราต้องเตรียมการรองรับเทคโนโลยีในด้านสุขภาพ