นับถอยหลัง 64 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ศาลชี้ชะตา‘เหมาเข่ง’

05 ส.ค. 2563 | 04:25 น.

เริ่มนับเวลาถอยหลังแล้ว สำหรับกรณี 64 ส.ส.ถูกร้อง “ถือหุ้นสื่อ”

 

วันที่ 4 ส.ค. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดไต่สวนพยานบุคคล คือ น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ และ นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล จากกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 82 แห่งรัฐธรรมนูญ รวม 2 สำนวน ใน 64 ส.ส.ถือครองหุ้นสื่อเข้าข่ายสมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ 

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย 7 ต่อ 2 ตัดสินให้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ขณะนั้น เข้าข่ายมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 42 (3) ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อใน บริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด 

 

คดี “ถือหุ้นสื่อ” นอกจากที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีของนายธนาธร ไปแล้ว ยังมีสำนวนคดีถือหุ้นสื่อที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญขณะนี้ อีก 64 ส.ส. ประกอบด้วยฝ่ายค้าน 32 ส.ส. และฝ่ายรัฐบาล 32 ส.ส. ซึ่งเป็นการตรวจสอบว่า ก่อนรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 มีคุณสมบัติขัดกับลักษณะต้องห้ามหรือไม่

 

จากประเด็นที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นคำร้องผ่านประธานสภาฯ ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตรวจสอบเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ของ  41 ส.ส.ฝั่งรัฐบาลว่า ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ 

 

กระทั่งวันที่ 26 มิ.ย. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งรับคำร้องวินิจฉัยเหลือจำนวน 32 คน แต่ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่ง 32 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลแบ่งเป็น พรรคพลังประชารัฐ 21 คน พรรคประชาธิปัตย์ 7 คน พรรคภูมิใจไทย 1 คน พรรคประชาภิวัฒน์ 1 คน พรรคชาติพัฒนา 1 คน และ พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 คน

 

ในจำนวนส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 32  คน ปรากฏชื่อ 2 รัฐมนตรีรวมอยู่ด้วยคือ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ถือครองหุ้นบริษัทแปซิฟิค เอ็กซ์คลูซิฟ ซิตี้ คลับ จำกัด และนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ถือครองหุ้น บริษัท พี.ที.รุ่งเรืองคอนกรีต จำกัด

 

                   นับถอยหลัง 64 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ศาลชี้ชะตา‘เหมาเข่ง’

 

ไม่ใช่แค่ฝั่งรัฐบาลเท่านั้น ฝั่งฝ่ายค้าน ก็ถูกนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นายทศพล เพ็งส้ม ส.ส.นนทบุรี พลังประชารัฐ ปฏิบัติการ “เอาคืน” ยื่นคำร้องต่อประธานสภาฯ ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยคุณสมบัติความเป็น ส.ส. ของ “32 ส.ส.ฝ่ายค้าน” ประกอบด้วย พรรคอนาคตใหม่ขณะนั้น 20 คน  เพื่อไทย 4 คน เพื่อชาติ 4 คน เสรี รวมไทย 3 คน และประชาชาติ 1 คน  เข้าข่ายถือหุ้นสื่อเช่นกันหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้ ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย.2562

 

 

หากนับเวลาขณะนี้ก็เป็นเวลา 1 ปี ที่คดียังอยู่ในขั้นตอนไต่สวนจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำลังพิจารณาเป็นรายบุคคล โดยศาลรัฐธรรมนูญพบว่า มี ส.ส.บางคนเคยทำรายการโทรทัศน์ ทำให้ศาลต้องเชิญ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัย 2 แห่ง มาให้ข้อมูลว่าจะเป็นการทำสื่อหรือไม่ 

 

หลังจากที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ไต่สวนผู้ถูกร้องเรียน 2 ราย ในวันที่ 4 ส.ค. 2563 แล้ว มีรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะไต่สวนผู้ถูกร้องเรียนอีก  2 ราย ในนัดถัดไป และจะเชิญคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัย 2 แห่ง มาให้ข้อมูล 

 

เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนเพียงพอ แล้ว หลังจากนั้นศาลจะนัดประชุมลงมติวินิจฉัยว่า ในจำนวน 64 ส.ส. มีใครบ้าง ที่เข้าข่าย “ถือหุ้นสื่อ” ทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็นส.ส. โดยที่ศาลไม่จำเป็นต้องไต่สวนผู้ถูกร้องครบทั้ง 64 คน แต่อย่างใด

 

ขีดเส้นใต้ไว้ตรงนี้ว่า ประเด็นสำคัญที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะถือเป็นหัวใจสำคัญในการพิจารณาตัดสินคือ “งบการเงิน” ที่มีรายได้เกิดจากการทำสื่อจริง แม้บางคนที่มีบริษัท จะระบุในหนังสือบริคณห์สนธิครอบคลุมถึงการประกอบกิจการ “สื่อ” แต่หากไม่ได้ทำสื่อจริง ก็จะไม่มีความผิดแต่อย่างใด

 

โดยคาดว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยทั้งหมดออกมาในช่วงเดือน ก.ย. 2563 นี้

 

สำหรับใครก็ตามที่ถูกศาลวินิจฉัยให้ “พ้น ส.ส.” สิ่งที่จะตามมาก็คือ “บทลงโทษ” ที่จะไปจบที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ตามมาตรา 151 ของพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส. ที่กำหนดไว้ว่า “ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะ ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. มีโทษจําคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับ 2 หมื่นถึง 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้นั้นมีกําหนด 20 ปี”

 

นอกจากนั้น ยังต้องขอให้ศาลมีคําสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินเดือนประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นๆ ในช่วงการเป็น ส.ส.ให้สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย

 

แต่เหนืออื่นใด หากใครหลุดจากเก้าอี้ ส.ส. ย่อมมีผลต่อเสียงส.ส.ในสภาฯ แน่นอน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลมีอยู่ 276 เสียง และฝ่ายค้านมี 211 เสียง 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,598 หน้า 10 วันที่ 6 - 8 สิงหาคม 2563