คดีบอส อยู่วิทยา “สมัคร เชาวภานันท์” ทนายความเปิดปากครั้งแรก

03 ส.ค. 2563 | 04:33 น.

“สมัคร เชาวภานันท์” ทนายความประจำครอบครัวนายเฉลิม อยู่วิทยา เปิดปากครั้งแรกคดีบอส

เรื่องราวต่างๆในคดีบอส อยู่วิทยา หรือ บอสกระทิงแดง ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อดังที่ก็กำลังเป็นข่าวครึกโครมอยู่ในขณะนี้ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า หนึ่งในคีย์แมนคนสำคัญที่เรียกได้ว่า มีส่วนช่วยให้ “วรยุทธ” หรือ “บอส อยู่วิทยา” รอดคดี เห็นทีจะหนีไม่พ้น “สมัคร เชาวภานันท์” ทนายความประจำครอบครัวนายเฉลิม อยู่วิทยา

 

“สมัคร เชาวภานันท์” เป็นทนายความประจำครอบครัวนายเฉลิม อยู่วิทยา บิดานายวรยุทธ อยู่วิทยา และอยู่เบื้องหลังการรอดคดีชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อใน “ทุกข้อกล่าวหา” ของ "บอส อยู่วิทยา" จากเงื่อนปมต่างๆ ทั้งประเด็นการซิ่งรถเฟอร์รารี่ ความเร็วขณะขับขี่ การร้องขอความเป็นธรรม จนกระทั่งล่าสุด คือ กรณีการเสียชีวิตของ “จารุชาติ มาดทอง” พยานปากเอกในคดีดังกล่าวที่มีการพุ่งเป้าอย่างหนักไปที่ครอบครัวอยู่วิทยา 

 

ทำให้ “สมัคร” ยอมเปิดปากครั้งแรก โดยเริ่มที่กรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ของสภาผู้แทนราษฎร หลายคณะเรียกเข้าชี้แจงต่อกมธ.ฯ เพราะสงสัยต่อการทำหน้าที่ครั้งมีตำแหน่งในฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) แต่กลับไปเชื่อมโยงในคดีนายวรยุทธ ขับรถยนต์ชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือจาก กมธ.ฯ ทั้งนี้ ช่วงนี้ตนอยู่ระหว่างพักฟื้นหลังจากผ่าตัดสมอง และวันที่ 5 ส.ค.นี้ มีนัดเข้าพบหมอเพื่อติดตามการรักษา 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

" วิชา'รับขอนายกฯเองอายัดศพ'พยานคดีบอส" ไขปมเสียชีวิต

ญาติมอบศพ “จารุชาต มาดทอง” พยานคดี “บอสอยู่ วิทยา” ให้ชันสูตร

“อนุสรณ์” ชี้คดี “บอส อยู่วิทยา” ตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำ

วินาทีปะทะ! เฟอร์รารีวิ่งเร็วกว่ามอเตอร์ไซค์เท่าไหร่?

 

ดังนั้น หากจะให้เข้าชี้แจงนั้นจะไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม กรณีที่กมธ.ฯ ของสภาฯ เชิญชี้แจงนั้นไม่หนักใจและพร้อมเข้าชี้แจง

ถัดมาข้อสงสัยที่ถูกกมธ.ตั้งคำถาม ต่อการใช้กลไกของสนช. เพื่อให้มีผลต่อคดี สมัคร ชี้แจงว่า ตนพ้นตำแหน่ง ส.ว. หลังการปฏิวัติเมื่อปี 2557 ไม่เคยเข้ายุ่งเกี่ยวใดๆในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมถึงไม่เคยเข้าเป็นที่ปรึกษาของกมธ.คณะใด การยื่นเรื่องร้องขอความเป็นธรรมให้กับนายวรยุทธ โดยมีนายธนิต บัวเขียว ทนายความ เป็นผู้นำยื่นนั้น ตนรับทราบและให้ได้คำปรึกษา

 

สำหรับเป้าหมายการยื่นขอความเป็นธรรมกับกมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและกิจการตำรวจ สนช.ครั้งนั้น เนื่องจากว่า อัยการที่ทำคดีซึ่งเป็นผู้หญิงมีตำแหน่งเป็นรองอัยการนั้นเข้าข่ายทำงานมิชอบเพราะจะยื่นฟ้องคดีโดยใช้ความเร็วรถที่ 177 กิโลเมตร (กม.)ต่อชั่วโมง ทั้งที่มีข้อมูลระบุถึงอัตราความเร็วรถนั้นไม่เร็วเกิน 80 กม.ต่อชั่วโมง ดังนั้น จึงต้องร้องขอความเป็นธรรม

 

“การพิจารณาของกมธ. ผมทราบเพียงว่า ทางกมธ. ได้เชิญนักวิชาการ คือ นายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์ประจำและหัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มาให้ข้อมูลเรื่องขอความเร็วเท่านั้น และในสำนวนของคดี ไม่มีปรากฏว่า ได้อ้างอิงข้อมูลจากทางกมธ.ฯ ของสนช." นายสมัคร กล่าว

 

การยื่นเรื่องต่อ กมธ. ไม่คาดหวังให้มีผลเปลี่ยนแปลงคดี อีกทั้งในทางการต่อสู้ รายงานของกมธ.ของสภาฯ ไม่มีผลใดๆ ต่อสำนวนการสืบสวนสอบสวนของอัยการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วนพยานที่อยู่ในสำนวนจำนวน 2 รายนั้น ยืนยันว่า มีตั้งแต่ต้น ไม่ใช่นำเข้ามาภายหลัง

 

กรณีของ นายจารุชาติ มาดทอง พยานที่ขับรถยนต์กระบะ เป็นพยานฝ่ายตำรวจ ที่เข้าให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่หลังเกิดเหตุครั้งแรกหลังเกิดเหตุ และให้ปากคำเพิ่มเติมอีกครั้งราว ปี 2560 หรือ ปี 2561 เป็นครั้งที่สอง หลังจากที่ทนายความของนายวรยุทธร้องขอให้ตามตัวมาให้ปากคำเพิ่มเติม 

สำหรับสาระการให้ปากคำนั้นเป็นประโยชน์กับทาง คุณวรยุทธ เนื่องจากระบุว่า ในวันเกิดเหตุนายจารุชาตขับรถยนต์กระบะแซงรถยนต์เฟอร์รารี่ของนายวรยุทธ ใช้ความเร็วประมาณ 80 กม.ต่อชั่วโมง ดังนั้น ทำให้เห็นว่า รถเฟอร์รารี่นั้นทำความเร็วที่ไม่เกิน 80 กม.ต่อชั่วโมงเท่านั้น หากเร็วกว่านั้นรถกระบะจะไม่สามารถแซงได้ นอกจากนั้นแล้วปากคำยืนยันว่า รถจักรยานยนต์ของ ด.ต.วิเชียรนั้นเปลี่ยนช่องทางจราจรจากช่องแรกไปช่องสามแบบกะทันหัน

 

“การตายของนายจารุชาติ ซึ่งเป็นพยานฝ่ายตำรวจ ผมว่า มีพิรุธ แต่เมื่อเขาเสียชีวิตแล้ว ในทางคดีสามารถนำข้อมูลที่เขาเบิกความในชั้นสอบสวนต่อสู้ต่อไปได้ อย่างไรก็ดี ในคดีนี้มีพยาน 2 คนนั้นผมยืนยันว่า เขาทั้งคู่ไม่รู้จักกันมาก่อน”นายสมัคร กล่าว

 

สำหรับกรณีของพล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร อดีตนายทหารนั้น ยอมรับว่า ทราบภายหลังเกิดเหตุว่า เป็นผู้ที่เห็นเหตุการณ์อีกคนเพราะมีคนสนิทของนายเฉลิมรับทราบจากการพูดคุยในวงสนทนาในงานเลี้ยงหนึ่ง จากนั้นได้ร้องขอให้มาเป็นพยานให้

 

ส่วนกรณีที่คดีนี้ในภาพรวมใช้เวลานานและกว่าจะทราบผลช้า เพราะมีการร้องขอความเป็นธรรมประมาณ 7-8 ครั้ง และการร้องขอความเป็นธรรมเฉพาะการยื่นเรื่องไปอัยการสูงสุดและตำรวจนั้นกินเวลาอย่างน้อย 5 เดือน อย่างไรก็ตาม ในการสรุปสำนวนของคดี ไม่ทราบว่า ตำรวจตั้งข้อหาว่า นายวรยุทธฆ่าคนตายเพราะรูปคดีไม่เป็นเช่นนั้น แต่หากผลสอบยืนยันว่า ผิดจริง พร้อมจะชดใช้

 

“รายละเอียดของคดีนั้น เป็นความลับของคู่ความ โดยมารยาทและจริยธรรมของทนายความนั้นไม่สามารถพูดได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากทางครอบครัว ซึ่งผมอึดอัดมาก อยากพูดให้สังคมรับรู้ข้อเท็จจริง เพราะขณะนี้กระแสสังคมวิจารณ์ไปในทางที่วิจารณ์ด่าทอ มากกว่าพูดถึงข้อเท็จจริงของคดี แต่ถึงแม้อยากอธิบาย แต่ทำไม่ได้ อย่างไรก็ตามผมทราบว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นนั้นทางครอบครัวเตรียมทำแถลงการณ์เพื่อชี้แจงรายละเอียดกับสังคม ส่วนจะเป็นเมื่อใดนั้นขอให้ติดตามอีกครั้ง” นายสมัคร กล่าว

 

ถามว่ากรณีที่เกิดขึ้นหากมั่นใจว่า ไม่ใช่กระทำโดยเจตนา ทำไมนายวรยุทธถึงหนี นายสมัคร ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลและออกความเห็น

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ 'สมัคร' เปิดปากครั้งแรกคดีบอส 'ซิ่งเฟอร์รารี่-ทำไมหนี' ?