ตำรวจต้องตอบ! ทันตแพทย์ยันเลิกใช้ “โคเคน” ทำฟันตั้งนานแล้ว

31 ก.ค. 2563 | 06:35 น.

ทันตแพทย์ยัน ยาชา “ลิโดเคน” เป็นยาคนละกลุ่มกับ “โคเคน” ที่ปรากฏในข่าว “บอส อยู่วิทยา” ทายาทกระทิงแดงที่ชนแล้วหนีเป็นคดียืดเยื้อถึง 8 ปี กระทั่งอัยการตัดสินไม่สั่งฟ้อง และตำรวจไม่ค้านแย้ง ทำให้ “บอส”หลุดทุกคดี เป็นที่ครหาของสังคมวงกว้างในขณะนี้ ทันตแพทย์ขอเรียกร้องให้พนักงานสอบสวนออกมาชี้แจงรายละเอียดที่มาของสารดังกล่าว ป้องกันสังคมเกิดความสับสน

 

เกี่ยวกับกรณีที่แพทย์ได้มีการตรวจพบสารแปลกปลอมในร่างกายของ นายบอส หรือ วรยุทธ อยู่วิทยา ตั้งแต่ช่วงหลังเกิดเหตุ “ชนแล้วหนี” ในปี 2555 โดยแพทย์ระบุสารดังกล่าวเกิดขึ้นในเลือดหลังจากการเสพ Cocaine (โคเคน) ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ แต่กลับไม่ปรากฎว่ามีการสั่งฟ้องกรณีสารแปลกปลอมในร่างกายดังกล่าว (อ่านข่าวประกอบ "หมอแท้จริง"ตีแผ่ ผลตรวจ "บอส อยู่วิทยา" พบโคเคนในร่างกาย) โดยพนักงานสอบสวนได้เข้าชี้แจงต่อกมธ.ตำรวจว่า ได้รับการยืนยันจากทันตแพทย์ว่า สารที่ตรวจพบในร่างกายนายวรยุทธ เกิดจาก การรักษาฟันที่มีส่วนผสมของสารโคเคน เป็นเหตุให้ไม่มีการสั่งฟ้องนั้น

 

ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงกรณีข้างต้นนี้ว่า ในปัจจุบัน เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและพัฒนาไปไกลมากแล้ว ดังนั้น จึงไม่มีการนำสารโคเคนที่ถูกระบุว่าเป็นสารเสพติด เข้ามาใช้เกี่ยวกับทางทันตกรรมอย่างแน่นอน

 

โดยปัจจุบัน ตัวยาที่ทางทันตกรรมใช้สำหรับการรักษาฟันในช่องปาก คือยาชา ชื่อว่า  Lidocaine ซึ่งเป็นยาชาใช้เฉพาะที่ และใช้ในปริมาณที่น้อยมาก ประมาณ 1.8 มล. อีกทั้งตัวยาจะออกฤทธิ์ไม่เกิน 6 ชั่วโมงเท่านั้น ก่อนจะหายไปและไม่สามารถตรวจพบในปัสสาวะได้

 

ด้วยเหตุนี้ จึงขอยืนยันว่า ยาชาที่ทางทันตกรรมใช้นั้น เป็นยาคนละกลุ่มกับที่ปรากฏตามข่าว ซึ่งเรื่องนี้ ทางพนักงานสอบสวนจะต้องชี้แจงรายละเอียดที่มาของสารดังกล่าว เพราะทำให้สังคมเกิดความสับสนเกี่ยวกับขั้นตอนการรักษาของแพทย์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทม์ไลน์คดี “บอส อยู่วิทยา” ทายาทกระทิงแดง ก่อนหลุดทุกข้อกล่าวหา

"บอส อยู่วิทยา" หมอแจง "โคเคนใช้ในการทำฟันจริงหรือ"

"หมอแท้จริง"ตีแผ่ ผลตรวจ "บอส อยู่วิทยา" พบโคเคนในร่างกาย

พลิกประวัติ “ดร.สายประสิทธิ์" ผู้ตรวจสอบความเร็วเฟอร์รารีของ “บอส อยู่วิทยา”

ข้อมูลดังกล่าวของทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม สอดคล้องกับโพสต์ล่าสุดของ ทันตแพทย์ ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาทันตแพทย์ชุมชน คณะทันตแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเลขาธิการมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ ที่ได้อธิบายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thongchai Vachirarojpisan ที่ระบุว่า ยาชาที่หมอฟันใช้ในปัจจุบันที่ขึ้นบัญชียาหลักแห่งชาติ คือ “ลิโดเคน”( Lidocaine) แม้จะลงท้ายด้วย “เคน” เหมือนกัน แต่เป็นคนละตระกูลกันกับ โคเคน

 

“โคเคนเคยใช้เป็นยาชา จัดอยู่ในตระกูล Esters ที่เคยใช้มาเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ปัจจุบันไม่มีหมอฟันคนใดในโลกใช้อีก เพราะว่าพบอาการแพ้ยาได้มากและมีฤทธิ์เสพติด ปัจจุบันยาชาที่หมอฟันใช้จะเป็นยาชาตระกูล Amides ที่พัฒนาขึ้นมา เช่น ลิโดเคน เมพิวาเคน อาติเคน ซึ่งปลอดภัยกว่า มีโอกาสพบการแพ้ยาชาได้น้อยมากๆๆๆ” ทพ. ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล ระบุ และย้ำว่า “โคเคน” ที่เป็นสารเสพติด กับ “ลิโดเคน” ที่ใช้เป็นยาชา อยู่กันคนละตระกูลกัน โครงสร้างทางเคมีก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ไม่ต้องห่วงว่า เวลาหมอฟันฉีดยาชาแล้ว จะตรวจพบโคเคนในกระแสเลือด

 

เช่นเดียวกับการยืนยันจากเพจเฟซบุ๊ก ห้องทำฟันหมายเลข 10 ที่ออกมาตอบข้อสงสัยของสังคมชัด ๆ อีกหนึ่งเสียงว่า ที่ผู้คนสงสัยว่า ยาชาลิโดเคน ที่ชื่อลงท้ายว่า "เคน" เหมือน ๆ กับ โคเคนนั้น จริงๆ แล้วโครงสร้างก็แตกต่างกัน  

 

ฉะนั้น คำถามที่ว่า ถ้าไปฉีดยาชา"ลิโดเคน"ทำฟันมา แล้วไปตรวจ"โคเคน"มันจะขึ้นผลหลอกว่ามีโคเคนหรือปล่าว จากการวิจัยขอบอกว่า “ไม่สามารถเกิดขึ้นได้” นั่นหมายถึง ถ้าตรวจเจอโคเคน(ในเลือด) นั่นก็คือโคเคน อย่ามาโบ้ยว่าเป็นยาชาของหมอฟัน