“เอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูต” มีรายละเอียดอะไรบ้าง เช็กได้ที่นี่

15 ก.ค. 2563 | 08:26 น.

เปิดรายละเอียด “เอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูต” จากอนุสัญญาระหว่างประเทศ 2 ฉบับ และ พระราชบัญญัติ 2 ฉบับ ที่ไทยและนานาชาติจะต้องเคารพ

จากกรณีของ “ทหารอียิปต์” พบว่าติดโควิด-19 ที่จังหวัดระยอง และลูกของอุปทูตประเทศซูดาน วัย 9 ขวบ ที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร 

 

นำมาสู่การตั้งคำถามและเรียกร้องของสังคมว่าทำไมรัฐบาลจึงไม่ดำเนินการทางกฎหมาย หรือจัดการด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดกับทหารอียิปต์ หรือสถานทูต เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลไทยไม่นิ่งดูดาย ป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำรอยขึ้นมาอีกในอนาคต

 

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูล “เอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูต” เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้ร่วมกัน ที่ระบุในกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติเอกสิทธิและความคุ้มกันทางกงสุล พ.ศ. 2541 และ พระราชบัญญัติเอกสิทธิและความคุ้มกันทางทูต พ.ศ. 2527 และข้อมูลจาก “ความคุ้มกันทางทูต” จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุว่า

 

ความคุ้มกันทางการทูต (diplomatic immunity) เป็นความคุ้มกันทางกฎหมายประเภทหนึ่งที่มีให้แก่ผู้แทนทางทูต เอกสิทธิ์นี้เป็นการรับประกันว่าผู้แทนเหล่านั้นอยู่พ้นจากการบังคับใช้กฎหมายและอำนาจศาลของประเทศผู้ให้ความคุ้มกัน (หรือเรียกว่า "รัฐผู้รับ")  อย่างไรก็ตาม ความคุ้มกันนี้ไม่ครอบคลุมถึงการถูกเนรเทศออกนอกประเทศ ประเทศผู้ให้ความคุ้มกันมีสิทธิเด็ดขาดที่จะเนรเทศผู้แทนทางทูตใดๆ ออกจากประเทศของตนได้ตามเห็นสมควร 

 

ความคุ้มกันทางทูตได้รับการจัดหมวดเป็นกฎหมายระหว่างประเทศตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961 ซึ่งทุกประเทศในโลกได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญานี้ อย่างไรก็ตามพบว่าในบางภูมิภาค หลักความคุ้มกันทางทูตมีประวัติศาสตร์ย้อนไปยาวนานกว่านั้นนับพันปี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดีตทูตเปิดข้อมูลละเอียดอ่อนปมทหารอียิปต์-เด็กซูดานติดโควิด

สถานทูตอียิปต์ ออกแถลงการณ์

นายกฯ โกรธ “ทหารอียิปต์” ซัดไม่รับผิดชอบ สั่งทบทวนผ่อนคลายทุกสถานทูต

 

ความคุ้มกันทางทูตเริ่มปรากฎขึ้นในยุโรปยุคใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เมื่อนักการทูตยุโรปต่างตระหนักว่าความคุ้มกันจากการถูกดำเนินคดีเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งที่จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ทางทูตเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ในปีค.ศ. 1709 รัฐสภาอังกฤษได้ให้ความคุ้มกันทางทูตแก่ชาวต่างประเทศเป็นครั้งแรก นั่นก็คือเคานต์อังเดร มาเตรียฟ (Andrey Matveyev) ทูตจากรัสเซีย

ส่วนขอบเขตความคุ้มกันทางการทูตตามกฎหมาย ระบุโดยนำบางส่วนของความคุ้มกันทางทูตในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961 ได้แก่: 

-    สถานที่ทางทูต ได้รับความคุ้มกันจากการถูกบุกรุก

-    สถานที่ทางทูต เครื่องตกแต่ง และทรัพย์สินที่อยู่ในสถานที่นั้น ตลอดจนพาหนะของผู้แทนฯ ได้รับความคุ้มกันจากการถูกตรวจค้น บังคับคดี และอายัด

-    ตัวผู้แทนทางทูตตลอดจนทรัพย์สินของผู้แทนทางทูต ได้รับการยกเว้นภาษีส่วนกลางของรัฐผู้รับ (เช่น ภาษีเงินได้, ภาษีศุลกากร, ภาษีสรรพสามิต)

-    สถานที่ของคณะผู้แทนฯ ได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและภาษีที่ดิน

-    กระดาษ เอกสารต่าง ๆ ของคณะผู้แทน จะถูกละเมิดมิได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด และเวลาใด

-    หีบห่อสัมภาระส่วนตัวของผู้แทนทางทูตได้รับการยกเว้นจากการถูกตรวจตรา

-    การสื่อสารของคณะผู้แทนฯ ได้รับความคุ้มครองให้เป็นไปโดยเสรี มิอาจถูกปิดกั้น

-    ตัวผู้แทนทางทูต ได้รับความคุ้มกันจากการถูกละเมิด ถูกจับกุม หรือถูกกักขัง

-    ผู้แทนทางทูต ได้รับความคุ้มครองให้พ้นจากอำนาจศาลของรัฐผู้รับ ทั้งในทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครอง

 

ส่วนฉบับที่สองคือ อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ปี 2506 (1963 Vienna Convention on Consular Relations) ซึ่งมีข้อกำหนดแตกต่างกับอนุสัญญาฉบับแรกที่ใช้กับระดับทูตเล็กน้อย ได้แก่

 

ความคุ้มกัน

- สถานที่ทางกงสุลจะถูกละเมิดมิได้ รวมทั้งสถานที่ทางกงสุลและเครื่องเรือน ทรัพย์สินและพาหนะของสถานทำการทางกงสุลจะได้รับความคุ้มกันจากการเรียกเกณฑ์ไม่ว่าในรูปแบบใด 

- เจ้าพนักงานกงสุลจะต้องไม่ถูกจับกุมหรือกักขังในระหว่างการดำเนินคดี เว้นแต่ในกรณีอาชญากรรมที่ร้ายแรง 

 

เอกสิทธิ์

- เจ้าพนักงานกงสุลจะได้รับยกเว้นจากภาษีอากรทั้งปวงของชาติ ท้องถิ่น หรือเทศบาล ในส่วนบุคคลหรือในทรัพย์สิน ยกเว้นภาษีบางประเภท เช่น ภาษีทางอ้อมชนิดที่ตามปกติรวมอยู่ในราคาของสินค้าหรือบริการแล้ว ภาษีอากรเก็บจากเงินได้ส่วนตัว รวมทั้งผลได้จากทุนซึ่งมีแหล่งที่มาในรัฐ เป็นต้น 

หน้าที่

- เจ้าพนักงานกงสุลมีหน้าที่เคารพกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ และไม่แทรกแซงในกิจการภายในของรัฐผู้รับ 

- เจ้าพนักงานกงสุลอาชีพจะต้องไม่ประกอบกิจกรรมทางวิชาชีพหรือพาณิชย์ในรัฐผู้รับเพื่อ ผลกำไรส่วนตัว

 

ดังนั้นเมื่อ ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับข้างต้น จึงได้ตรากฎหมายภายในเพื่ออนุวัติการ ได้แก่

1. พ.ร.บ. ว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูต พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นกฎหมายอนุวัติการของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต พ.ศ. 2504

2. พ.ร.บ. ว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางกงสุล พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นกฎหมายอนุวัติการของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล พ.ศ. 2506

 

สำหรับตำแหน่งที่ได้รับเอกสิทธิ์นี้ ทางการทูต คือ กลุ่มนักการทูตหรือเจ้าหน้าที่ทูต (Diplomat) ซึ่งมีหลากหลายตำแหน่งตามลำดับชั้นดังนี้

1. เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม (Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary)

2. อัครราชทูต (Minister)

3. อุปทูต (Chargé d’Affaires)

4. อัครราชทูตที่ปรึกษา (Minister Counsellor)

5. ที่ปรึกษา (Counsellor)

6.เลขานุการเอก (First Secretary)

7. เลขานุการโท (Second Secretary)

8. เลขานุการตรี (Third Secretary)

9. นายเวร (Attaché)

10. กงสุลใหญ่ (Consul General)

11. กงสุล (Consul)

12. รองกงสุล (Vice Consul)

13. กงสุลกิตติมศักดิ์ (Honorary Consul)

สำหรับกรณีของทหารอียิปต์นั้น ถือเป็นช่องโหว่ของความไว้ใจจากการให้เอกสิทธิ์เพิ่มเติมในสถานการณ์ของการระบาดโควิด-19 ที่รัฐบาลเองไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมเฉพาะตัวที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในการควบคุมโรค จนทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงต่อสื่อมวลชนถึงพฤติกรรมของกลุ่มของทหารอียิปต์ว่า “รับปากแล้วไม่มีความรับผิดชอบ และไม่นึกถึงต่อส่วนรวม” 

 

ความไว้ใจที่ถูกทำลายด้วยตัวแทนทางการทูตเพียงคนเดียวอย่างทหารอียิปต์ จึงเป็นผลตัวแทนทางการทูตทั้งหมดถูกยกเลิกสิทธิพิเศษบางประการที่รัฐบาลมอบให้ทั้งหมดจำนวน 3 ข้อ ตามมติที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา ดังนี้

1.ทบทวนมาตรการผ่อนคลายมาตรการกักกันของบุคคลในคณะทูต โดยเฉพาะคู่สมรส บิดามารดา หรือบุตรของบุคคลดังกล่าว

2.ให้กระทวงการต่างประเทศดำเนินการยกเลิกการอนุญาตการบินเข้าของเที่ยวบินของกองทัพอากาศอียิปต์ที่ได้รับอนุญาตแล้วจำนวน 8 เที่ยวบิน 17-20 และ 25-29 ก.ค.

3.ให้ชะลอการอนุญาตการเดินทางเข้ามาในประเทศแบบผ่อนคลายมาตรการ State Quarantine ตามข้อกำหนดฉบับที่ 12 (2) , (3) , (11) ไปก่อน และมีการทบทวนมาตรการควบคุมให้มีการรัดกุมรอบคอบ จึงให้มีการดำเนินการต่อไป

 

เมื่อตรวจสอบลงรายละเอียดลึกลงไปใน “ข้อกำหนด ฉบับที่ 12 เรื่องข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหาราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558”   เกี่ยวกับการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ที่ประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 พบว่า ชะลอการอนุญาตการเดินทางเข้ามาในประเทศแบบผ่อนคลายมาตรการ State Quarantine ตามข้อกำหนดฉบับที่ 12 (2) , (3) , (11) ไปก่อน ตามมติของ ศบค. ครั้งนี้ จะประกอบด้วย

-    ผู้มีเหตุยกเว้นหรือเป็นกรณีที่นายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไข สถานการณ์ฉุกเฉินกำหนด อนุญาต หรือเชิญให้เข้ามาในราชอาณาจักรได้ตามความเป็น โดยอาจกำหนดเงื่อนไขและเงื่อนเวลาก็ได้

-    บุคคลในคณะทูต คณะกงสุล องค์การระหว่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐบาลหรือหน่วยงาน ของรัฐต่างประเทศ ซึ่งมาปฏิบัติงานในประเทศไทย หรือบุคคลในหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นตามที่ กระทรวงการต่างประเทศอนุญาตตามความจำเป็น ตลอดจนคู่สมรส บิดามารดา หรือบุตรของบุคคล ดังกล่าว

-    ผู้ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามข้อตกลงพิเศษ (special arrangement) กับต่างประเทศ
ข้อ 2 มาตรป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อควบคุมดูแลให้ผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรปฏิบัติตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา และหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนดไว้โดยเคร่งครัด และให้ผู้ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานควบคุมโรคติดต่อสั่งหรือกำหนดเป็นเงื่อนไขในการเดินทาง หรือการเข้ามาในราชอาณาจักร รับการแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต ณ สถานที่ที่และตามระยะเวลา ซึ่งทางราชการกำหนด หรือปฏิบัติตามระบบการตรวจสอบการเดินทางในราชอาณาจักร หรือการใช้แอปพลิเคชันติดตามตัว เพื่อให้มาตรวจหาเชื้อเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการติดเชื้อก็ได้

 

ที่มา

- วิกิพีเดีย

- ราชกิจจานุเบกษา : พระราชบัญญัติว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันทางทูต พ.ศ. ๒๕๒๗

ราชกิจจานุเบกษา : พระราชบัญญัติว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันทางกงสุล พ.ศ. ๒๕๔๑