ยื่นนายกฯ ถอด 13 สมุนไพรไทยจากวัตถุอันตราย

15 ก.ค. 2563 | 07:34 น.

“วัชระ” ถูกกลุ่มแม่บ้านสั่ง ให้มายื่น นายกรัฐมนตรี ถอด 13 สมุนไพรไทยออกจากรายชื่อวัตถุอันตราย

หลังจากที่ “คณะกรรมการวัตถุอันตราย”เตรียมกำหนดให้พืชสมุนไพรไทย 13 ชนิด ที่ประกอบด้วย สะเดา, ตระไคร้หอม, ขมิ้นชัน, ชิงข่า, ดาวเรือง, สาบเสือ, กากเมล็ดชา,พริก, คื่นช่าย, ชุมเห็ดเทศ,ดองดึง และ หนอนตายหยาก เป็น “วัตถุอันตรายชนิดที่ 1” เกิดเสียงคัดค้านตามมาอย่างมากโดยเฉพาะจากกลุ่มแม่บ้านที่ใช้สมุนไพรไทยเหล่านี้ไปประกอบเป็นอาหาร

ในวันนี้ (15 กรกฎาคม) ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ เข้ายื่นจดหมายพร้อมนำ ต้นตะไคร้หอม,สะเดา,ข่า,ขมิ้นชัน,คื่นฉ่าย และสมุนไพรที่ ถูกคณะกรรมการวัตถุอันตรายขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายมามอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  โดยยื่นผ่าน นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ค้านประกาศสมุนไพร 13 ชนิด "สะเดา-ขมิ้นชัน-พริก" เป็นวัตถุอันตราย

เล็งถอน 13 พืชสมุนไพร ออกจากวัตถุอันตราย

ทำความรู้จัก “ตะไคร้” หลังจ่อถูกขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตราย

 

เนื้อหาในจดหมายได้ขอให้ถอดพืชสมุนไพร 13 รายการออกจากบัญชีวัตถุอันตรายทุกประเภท ซึ่งเป็นผลมาจากกรณีที่ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่กำหนดให้พืชสมุนไพร 13 ชนิด (คือ สะเดา ชา,ตะไคร้หอม,ขมิ้นชัน,ขิง,ข่า,ดาวเรือง,สาบเสือ,กากเมล็ดชา,พริก,คื่นช่าย,ชุมเห็ดเทศ,ดองดึง,และหนอนตายหยาก) เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 2 ให้ขยับเป็นประเภทที่ 1 นั้น

 

ตนขอคัดค้านประกาศของคณะกรรมการวัตถุอันตรายดังกล่าว และไม่เห็นด้วยในการประกาศให้พืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตราย ไม่ว่าเป็นประเภทที่ 1 หรือ 2 ก็ตาม เพราะพืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิด ไม่ใช่ “วัตถุ”(วัตถุตามพจนานุกรมไทย พ.ศ.2560 หมายถึง “สิ่งของ”) พืชสมุนไพรเป็นสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่วัตถุ และเป็นสมุนไพรพื้นบ้านมาแต่โบราณกาลใช้ในการประกอบอาหารนานาชนิด และมีผลในการรักษาโรคแผนโบราณ

 

นายวัชระ ยังกล่าวด้วยว่า "การประกาศพืชสมุนไพร 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตราย สร้างภาพพจน์เสียหายให้ประเทศในสายตาของนานาชาติ ซึ่งสมุนไพรทั้ง 13 ชนิด ไม่เป็นวัตถุอันตรายหรือมีอันตรายใดๆต่อผู้บริโภคเลยแม้แต่น้อย จึงสงสัยมากว่าข้าราชการมีเหตุผลอย่างไรในการนำพืชสมุนไพรพื้นบ้านไปขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตราย เป็นการจำกัดสิทธิ์ สร้างความยุ่งยากให้กับเกษตรกรหรือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนใหญ่ในอนาคตหรือไม่ ข้าราชการไม่ควรสร้างความยุ่งยากหรือออกระเบียบกฎหมายให้กระทบต่อวิถีชีวิตปรกติของพี่น้องประชาชน นายกรัฐมนตรี ต้องยกเลิกการขึ้นทะเบียนสมุนไพรเป็นวัตถุอันตรายทันที อย่าให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อรัฐบาลมากไปกว่านี้

 

 

ทั้งนี้ เราขอหยิบยกประโยชน์ของ “ตะไคร้”  1 ใน 13 พืชสมุนไพรไทย มาเป็นตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพและความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในเรื่องนี้ ประโยชน์ของตะไคร้ นั้นมีมากมาย เช่น นำมาใช้ทำเป็นน้ำตะไคร้หอม น้ำตะไคร้ใบเตย ช่วยดับร้อนแก้กระหายได้เป็นอย่างดี ช่วยในการบำรุงและรักษาสายตา ทั้งยังมีส่วนช่วยในการบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง มีส่วนช่วยในการบำรุงสมองและเพิ่มสมาธิ และสามารถนำมาใช้ทำเป็นยานวดได้

นอกจากนี้ยังช่วยแก้ปัญหาผมแตกปลาย (ต้น), มีฤทธิ์เป็นยาช่วยในการนอนหลับ การปลูกตะไคร้ร่วมกับผักชนิดอื่นๆ จะช่วยป้องกันแมลงได้เป็นอย่างดี ทั้งยังสามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของสารระงับกลิ่นต่างๆ ต้นตะไคร้ยังช่วยดับกลิ่นคาวหรือกลิ่นคาวของปลาได้เป็นอย่างดี กลิ่นหอมของตะไคร้สามารถช่วยไล่ยุงและกำจัดยุงได้เป็นอย่างดี เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์จำพวกยากันยุงชนิดต่าง ๆ เช่น ยากันยุงตะไคร้หอม และสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิด เช่น เครื่องปรุงอบแห้ง ตะไคร้แห้งสำหรับชงดื่ม นำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย เป็นต้น มักนิยมนำมาใช้ในการประกอบอาหารหลายชนิด เช่น ต้มยำ และอาหารไทยอื่นๆเพื่อเพิ่มรสชาติ