สปสช.ฟัน 18 คลินิกชุมชนทุจริต เบิกค่ารักษาพยาบาลเกินกว่า 74 ล้าน

09 ก.ค. 2563 | 10:39 น.

สปสช.ฟัน 18 คลินิกชุมชนทุจริต เบิกค่ารักษาพยาบาล บัตรทอง เกินกว่า 74.39 ล้านบาท

หลังจากที่บอร์ด สปสช.มีมติเรียกคืนเงินเบิกเกินจาก 18 คลินิกชุมชนไปแล้วนั้น วันนี้ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าล่าสุดว่า นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยในการแถลงข่าวเรื่อง บอร์ด สปสช. ตั้งคณะกรรมการสางปัญหา “18 คลินิกทุจริตเบิกเงินคัดกรองโรคกองทุนบัตรทอง” ตอนหนึ่งว่า กรณีการตรวจพบการทุจริตของคลินิกทั้ง 18 แห่งนั้นเกิดขึ้นจากระบบตรวจสอบการเบิกจ่าย หรือ audit ของ สปสช. ที่ให้ความสำคัญในการสร้างความมั่นใจกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งในด้านระบบบริการและระบบบริหารจัดการ

สำหรับกรณีดังกล่าว สปสช.ได้มีการตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่วันที่ 14-15 ส.ค. 2562 และได้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการทางการทันที โดยวันที่ 26 ก.ย. 2562 คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มีมติระงับการจ่ายเงินและขยายผลการตรวจสอบเพิ่มเพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจากการตรวจเอกสารกว่า 2 แสนฉบับ พบว่า มีการเบิกจ่ายรวมกว่า 74.39 ล้านบาท ในช่วงวันที่ 29-30 ต.ค. 2562

ขณะเดียวกันเรื่องได้ผ่านการพิจารณามาเป็นลำดับชั้น จนในที่สุดวันที่ 1 เม.ย. 2563 คณะอนุกรรมการพิจารณาหักค่าใช้จ่าย ได้มีมติ 6 ข้อ ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการทั้งในส่วนของการเรียกเงินคืน แจ้งความดำเนินคดี รวมถึงยกเลิกสัญญากับหน่วยบริการทั้งหมด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จัดหนัก! สปสช.เรียกคืนเงินคลินิกชุมชน 18 แห่ง เบิกเงินเกินงาน-แจ้งความคดีอาญา

“กระบวนการอย่างเป็นทางการได้เริ่มต้นตั้งแต่หลังตรวจเจอ และมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ โดยคณะกรรมการหลายคณะที่มีองค์ประกอบหลากหลายภาคส่วนในการดูแล จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการประวิงเวลาใดๆ ซึ่งการดำเนินงานจะต้องให้ความรอบคอบ โดยเฉพาะการดำเนินคดีทางกฎหมาย และในวันนี้ก็ได้ดำเนินการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า พร้อมกันนี้ยังได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้น โดยมีอัยการเป็นประธาน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายเป็นกรรมการ เพื่อให้ตรวจสอบปัญหาในกระบวนการที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อยกเลิกการเป็นหน่วยบริการแล้ว สปสช.ยังได้มีการเตรียมรองรับประชาชนที่ใช้บริการอยู่เดิมไปยังหน่วยบริการอื่น โดยไม่ให้มีความเดือดร้อนอีกด้วย

นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ที่ผ่านมาในการจัดสรรงบประมาณของ สปสช. มีกระบวนการกำกับดูแล โดยหน่วยบริการจะต้องเก็บเอกสารหลักฐานไว้เพื่อตรวจสอบทั้งในด้านคุณภาพและการเบิกจ่ายชดเชย ขณะเดียวกันก็มีการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อความสะดวกในการเบิกจ่ายเงินชดเชย

ทั้งนี้ สปสช. ได้มีกระบวนการตรวจสอบถึง 3 ขั้นตอน โดยขั้นแรกคือการใช้โปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์ในการตรวจความถูกต้องของข้อมูล หากประมวลผลแล้วตรงกับเงื่อนไข ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งหากถูกต้องก็จะมีการจ่าย แต่หากพบว่าไม่สมเหตุสมผลก็จะไม่จ่าย หลังจากนั้นก่อนที่จะโอนเงิน ก็จะมีขั้นตอนการตรวจสอบก่อนโอนอีกครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าการจ่ายนั้นถูกต้อง

“งบกองทุนหลักประกันสุขภาพนั้นมาจากภาษีประชาชน เราตระหนักดีถึงความสำคัญในการควบคุมการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกรณีการทุจริตที่เกิดขี้นนั้น มีเจตนาทำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อหวังการจ่ายเงินชดเชย จึงตรวจสอบโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้ แต่ สปสช. ยังมีระบบ audit หรือระบบการตรวจสอบบัญชีในการเรียกตรวจสอบเอกสารเป็นประจำทุกปี” นพ.การุณย์ กล่าว

นพ.การุณย์ กล่าวว่า ระบบ audit การจ่ายเงินจะมีใน 2 รูปแบบ คือ การสุ่มตรวจประมาณปีละ 3-5% กับอีกรูปแบบคือการเลือกตรวจหน่วยบริการที่เข้าเกณฑ์ตามเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งจากการ audit ทำให้พบกับคลินิกทั้ง 18 แห่ง ที่มีการทำข้อมูลน่าสงสัยว่าจะไม่ใช่ข้อเท็จจริง และมีการตกแต่งข้อมูลเพื่อส่งเบิก จึงได้มีการขยายผลตรวจสอบเอกสารราว 2 แสนฉบับ จนพบว่ามีความผิดปกติจริง และในการ audit ทุกปี จะมีการพบข้อมูลความผิดพลาด 2 ลักษณะ คืออาจเกิดจากความประมาทเลินเล่อ โดยไม่ตั้งใจ ซึ่งจะต้องมีการเรียกมาทำความเข้าใจก่อนเรียกเงินคืน กับอีกกรณีคือมีเจตนาทุจริต หรือกระทำผิดซ้ำ ซึ่งในกรณีนี้นับเป็นข้อหาร้ายแรง 

“สิ่งสำคัญคือต้องแยกว่ามีเจตนาหรือไม่ ฉะนั้นจึงจะเห็นได้ว่าในระบบมีการตรวจสอบทั้งก่อนจ่าย และหลังจ่ายก็ยังมีการตามไปตรวจ ซึ่งที่ผ่านมาในกรณีงบส่งเสริมป้องกันโรคนั้นมีการให้บริการเป็นจำนวนมาก จึงอาจเป็นช่องทางการทุจริตได้ ดังนั้นในอนาคตจะมีการวางแผนให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยนอกจากการ audit แล้ว ยังจะต้องมีการพิสูจน์ยืนยันตัวตนก่อนเข้ารับบริการ หรือการใช้ Digital ID ต่างๆ ซึ่งขณะนี้ได้มีการนำร่องแล้วร่วมกับธนาคารกรุงไทย และโรงพยาบาลศิริราช หากประสบผลสำเร็จก็จะนำมาขยายผลสู่ทั้งประเทศ เพื่อให้การบริหารงบกองทุนนั้นมีประสิทธิภาพ ไม่รั่วไหล” นพ.การุณย์ กล่าว