เปิดรายงาน ครม. "ข้าราชการ" ขอเพิ่มค่าโทร-ค่าเน็ต ถ้าจะให้ Work From Home

06 ก.ค. 2563 | 01:17 น.

เปิดรายงาน "Work From Home" ส่วนราชการ-รัฐวิสาหกิจ ช่วงโควิด พบมีข้อจำกัดความพร้อมของคน อุปกรณ์ไม่พร้อม อินเตอร์เน็ตมีปัญหา สั่งงานด่วนไม่ได้

ในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ โควิด 19 หน่วยงานราชการ รวมทั้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ก็ได้ร่วมมือกันในการอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ ด้วยการ "การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home)"

 

ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ สำนักงานก.พ. เป็นเจ้าภาพหลักในการติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการ Work form Home ของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ทราบอุปสรรคปัญหา 

โดยสำนักงานก.พ.ได้รายงานผลต่อครม.มาแล้ว 6 ครั้ง และเมื่อวันอังคารที่ 30 มิ.ย. 63 ก็มีการรายงานอีกครั้งเป็นครั้งที่ 7 โดยเริ่มจาก รายงานของส่วนราชการ ระบุว่า 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดข้อมูลทุจริต หน่วยงานราชการไทย

ข้าราชการมหาดไทยสละเงินเดือน50% ตั้งกองทุนช่วยโควิด

"เยียวยาเกษตรกร" พ่นพิษ แฉ "ขรก.-รัฐวิสาหกิจ" รับเงิน 5,000

"ตรวจสอบสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ"  การรักษาพยาบาลข้าราชการ ได้ที่นี่

รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 7 ข้อมูล ณ วันที่ 23 มิถุนายน 2563 ซึ่งได้รับข้อมูลจาก 146 ส่วนราชการ คิดเป็น 99% ของส่วนราชการทั้งหมด (147 ส่วนราชการ) สรุปข้อมูลดังนี้

 

1. ส่วนราชการ 84 % (123 ส่วนราชการ) มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ และส่วนราชการ 38% (55 ส่วนราชการ) กำหนดให้มีจำนวนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง 50% ขึ้นไป (ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งมี 60 ส่วนราชการ คิดเป็น 41%)  โดยในจำนวนนี้มีส่วนราชการ 14% (21 ส่วนราชการ) มอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งมี 23 ส่วนราชการ คิดเป็น 16%) ทั้งนี้ มีการมอบหมายให้ปฏิบัติงานที่บ้านในหลายรูปแบบ เช่น ปฏิบัติงานที่บ้านสลับกับการมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการวันเว้นวัน สัปดาห์ละ 1 วัน สัปดาห์ละ 2 วัน สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เป็นต้น

 

ส่วนราชการ 16% (23 ส่วนราชการ) มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทุกคนปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งมี 16 ส่วนราชการ คิดเป็น 10%)

 

2. การเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ

ส่วนราชการกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานเมื่อจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ โดยส่วนใหญ่ 45% กำหนดการเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานเป็น 3 ช่วงเวลา คือ เวลา 7.30 – 15.30 น. เวลา 8.30 – 16.30 น. และเวลา 9.30 – 17.30 น. ส่วนราชการ 12% (17 ส่วนราชการ) กำหนดให้เหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานมากกว่า 3 ช่วงเวลา และส่วนราชการ 16% (23 ส่วนราชการ) ไม่ได้กำหนดให้มีการเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงาน

 

ส่วนราชการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามวันเวลาปกติในบางลักษณะงาน โดยลักษณะงานส่วนใหญ่ คือ งานให้บริการประชาชน งานพิจารณา อนุมัติ/อนุญาต งานด้านการข่าวและประชาสัมพันธ์ งานสนับสนุน เช่น การเงิน ธุรการรับ – ส่งเอกสาร เป็นต้น 

 

3. แนวทางการบริหารงานของส่วนราชการ

การกำกับดูแลและบริหารผลการทำงาน ทุกส่วนราชการกำหนดให้มีระบบรายงานผลงานผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 57 ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รายงานความก้าวหน้าของงานทั้งรายวันและรายสัปดาห์ ผ่าน Application LINE ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และ Google Form

 

การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานส่วนราชการมีการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานโดยส่วนใหญ่เลือกใช้ Application LINE  99%  Application Zone 68%  Microsoft Team 34% และ Cisco Webex 27% ตามลำดับ

 

4. ข้อจำกัดของส่วนราชการ ในการมอบหมายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่ 

- การขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์ปฏิบัติงานและสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 

- การขาดความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการใช้เทคโนโลยีในการปฏิบัติงาน 

- ความไม่สะดวกในการติดต่อสื่อสารและการประสานงานในกรณีเร่งด่วน 

- งานเกี่ยวกับเอกสารราชการที่ยังคงมีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้ง

 

5. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติงานใน-นอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่ 

- การสนับสนุนอุปกรณ์การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งและค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานที่บ้าน เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าบริการอินเทอร์เน็ต เป็นต้น 

- ในอนาคตควรให้มีนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการเพื่อลดปัญหาการจราจร มลพิษทางอากาศและลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคของหน่วยงานรัฐ

จากนั้นสำนักงาน ก.พ. ได้  รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ ระบุว่า 

 

รัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีจำนวน 55 แห่ง โดยผลสัมฤทธิ์ฯ ของรัฐวิสาหกิจในสัปดาห์ช่วงระหว่างวันที่ 15 - 19 มิถุนายน 2563 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ (ปฏิบัติงานที่บ้านหรือที่พักหรือสถานที่ตามที่รัฐวิสาหกิจกำหนด)

 รัฐวิสาหกิจ 41 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งและมีรัฐวิสาหกิจ 14 แห่ง ที่ให้พนักงานกลับมาปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามปกติแล้ว เพิ่มขึ้น 4 แห่ง จากสัปดาห์ก่อนหน้า (ช่วงระหว่างวันที่ 8 – 12 มิถุนายน 2563) ทั้งนี้ จากจำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดจำนวน 272,548 คน มีพนักงานและลูกจ้างปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งจำนวน 32,162 คน หรือคิดเป็น 12%

 

2. การปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ

รัฐวิสาหกิจ 33 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานเหลื่อมเวลา และมีรัฐวิสาหกิจยกเลิกนโยบายการปฏิบัติงานเหลื่อมเวลาเพิ่มขึ้น 1 แห่งจากสัปดาห์ก่อนหน้า (ช่วงระหว่างวันที่ 8 – 12 มิถุนายน 2563) โดยมีช่วงเวลาเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 6.00 น. – 10.30น.
    

3. แนวทางการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ

รัฐวิสาหกิจที่ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งมีการติดตามผลการปฏิบัติงานทั้งเป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ขึ้นอยู่กับประเภทของงาน ซึ่งรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีการกำกับ ติดตาม และบริหารผลการปฏิบัติงานผ่านแอปพลิเคชัน Line ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์และระบบการติดตามงานและการลงเวลาปฏิบัติงานที่องค์กรพัฒนาขึ้นเอง โดยรัฐวิสาหกิจยังคงใช้แอปพลิเคชัน Line มาสนับสนุนการปฏิบัติงานมากที่สุด 

 

ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจมีข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งว่า ควรเตรียมอุปกรณ์และระบบเพื่อรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งให้เพียงพอ และควรพัฒนาระบบการปฏิบัติงานขององค์กรให้สามารถรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ ซึ่งรวมถึงมีการจัดเก็บข้อมูลหรือเอกสารให้อยู่ในรูปแบบของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งควรพิจารณาลักษณะงานที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งเท่านั้น เช่น การให้บริการประชาชน และสำหรับงานอื่นที่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้ง ควรพิจารณาเปลี่ยนรูปแบบเป็นการปฏบัติงานนอกสถานที่ตั้งแทน

 

ที่มา 

รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 7 

รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ