บ่วงกรรม‘ยิ่งลักษณ์’ คดีติดตัวเพียบ

04 ก.ค. 2563 | 02:00 น.

 

นับตั้งแต่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  ซึ่งไม่มาฟังคำพิพากษา  คดีจำนำข้าว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 อ้างเหตุ “นํ้าในหูไม่เท่ากัน” ต่อมาวันที่ 27 กันยายน 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาให้จำคุก “ยิ่งลักษณ์” กำหนด 5 ปี แต่จำเลยหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับ เพื่อบังคับตามคำพิพากษา

 

ทว่าจนถึงวันนี้ “ยิ่งลักษณ์” ใช้ชีวิตหรูหรา สุขสบายในต่างแดน ไม่ต่างจากพี่ชาย ทักษิณ ชินวัตร ที่หลบหนีคดีไปพำนักต่างประเทศ หนีคดีอาญาอีกหลายคดี

 

คดี“ถวิล”มัดยิ่งลักษณ์

 

ล่าสุดมีความคืบหน้าคดีที่อดีตนายกฯหญิงคนเดียวและคนแรกของไทย ใช้อำนาจโอน นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้มาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ซึ่งการกระ ทำดังกล่าวเป็นเหตุให้นายถวิลได้รับความเสียหาย และเป็นการกระทำ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ซึ่งเป็นเครือญาติของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) 

 

โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา เห็นว่า การกระทำของ “ยิ่งลักษณ์”  มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 

 

และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจ ในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 

 

ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 ส่วนผู้ถูกกล่าวหาอื่นเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป และให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็น พร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ ไปยัง “อัยการสูงสุด” เพื่อดำเนินการฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เอา ผิด “ยิ่งลักษณ์” ตามฐานความผิดดังกล่าว 

 

 

ค้างพิจารณาอีก 8 คดี 

ที่ผ่านมา นางสาวยิ่งลักษณ์ เคยถูกร้อง 15 คดีต่อป.ป.ช. แม้คดีส่วนหนึ่งป.ป.ช.ตีตกไป แต่ยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช. อีก 8 คดี ได้แก่ 

 

                    บ่วงกรรม‘ยิ่งลักษณ์’ คดีติดตัวเพียบ

 

1.คดีที่ “ยิ่งลักษณ์” ถูกแจ้งข้อหาร่วมกับ นายทักษิณ ชินวัตร นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ กรณีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ล็อต 2 รวมทั้งมีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ปัจจุบันถูกคุมขังตามคำพิพากษาให้จำคุก 42 ปี ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560) ข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์ และกลุ่มเอกชนเครือสยามอินดิก้า รวม 71 ราย พัวพันคดี โดยพบเส้นทางเงินในคดีนี้ประมาณ 9.6 หมื่นล้านบาท และอายัดแคชเชียร์เช็คไว้หลายร้อยใบ มูลค่ากว่า 1.8 พันล้านบาท

 

2. ถูกกล่าวหาละเว้นไม่ลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชา กรณี รมว.มหาดไทย (นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กับพวกปราศรัยรุนแรง-แบ่งแยกประเทศ  

 

3. คดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อนุญาตให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยแพร่ภาพและเสียง รายการ “มวยไทยวอริเออร์ส” ที่มาเก๊า โดยมีเจตนาแพร่ภาพการกล่าวเปิดงานของ ทักษิณ ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนที่มีลักษณะที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน   

 

4. ออกหนังสือเดินทางให้ “ทักษิณ” มิชอบ  

 

5. คดีรํ่ารวยผิดปกติ กรณีครอบครองนาฬิกาเรือนละ 2.5 ล้านบาท  

 

6. คดีรํ่ารวยผิดปกติกรณีเกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าว   

 

7. คดีร่วมกับคณะรัฐมนตรีรวม 34 ราย ถูกกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติไม่ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของ ประเทศ จำนวน 1,921,061,629 บาท กรณีจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบทางจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2548-2553 โดยไม่มีอำนาจ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ และช่วยเหลือพวกพ้องของตนเองนั้น

 

 

และ 8. ถูกกล่าวหากู้เงินบริหารจัดการนํ้า 3.5 แสนล้านบาท โดยกู้เงินหลังจากเมื่อพ้นกําหนดระยะเวลาตามที่กฎหมาย กําหนด ประเด็นการดําเนินโครง การเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ม.57 วรรค 2 ม.67 วรรค 2 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542   

และที่แก้ไข เพิ่มเติม ม.103/7 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และประเด็นประโยชน์ให้กับเอกชนบางราย ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จ จริง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง

คดีทั้งหมดอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช. หาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ต้องส่งไปที่อัยการสูงสุด เพื่อฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจฉัยในขั้นตอนสุดท้าย

แม้ “ยิ่งลักษณ์” จะหลบหนีอยู่ต่างประเทศ แต่กระบวน การยุติธรรมก็ต้องเดินหน้าต่อไปตามปกติ เพื่อที่จะได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,589 หน้า 10 วันที่ 5 - 8 กรกฎาคม 2563