ศรีสุวรรณยื่นผู้ตรวจส่งศาลชี้ ส.ว.เห็นชอบ“สุชาติ” นั่งป.ป.ช.

04 มิ.ย. 2563 | 04:55 น.

ศรีสุวรรณ ยื่นผู้ตรวจการฯส่งศาลวินิจฉัย “สุชาติ” นั่งป.ป.ช.ได้หรือไม่ เหน็บได้รับแต่งตั้งหนีไม่พ้นถูกครหามีผลประโยชน์ทับซ้อน คล้ายนาฬิกาบิ๊กป้อม เล็งเล่นงานส.ว. 219 คน ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หากศาลวินิจฉัยผิด

   ศรีสุวรรณยื่นผู้ตรวจส่งศาลชี้  ส.ว.เห็นชอบ“สุชาติ” นั่งป.ป.ช.

 

วันนี้ (4 มิ.ย.63) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย  เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบและเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง วินิจฉัยว่าการที่สำนักเลขาธิการวุฒิสภา และคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ส่งรายชื่อนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข  อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช.) ซึ่งพ้นจากตำแหน่งมายังไม่ครบ 10 ปี จึงมีลักษณะต้องห้ามตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 11( 18)ให้วุฒิสภาเห็นชอบเป็นว่าที่กรรมการป.ป.ช. เข้าข่ายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่  เนื่องจากนายสุชาติจากตำแหน่งมายังไม่ครบ 10 ปี

 

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การที่ที่ประชุมวุฒิสภาวันที่ 26 พ.ค.เห็นชอบให้นายสุชาติ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมอัยการ ผู้พิพากษาศาลมีนบุรี เป็นบุคคลที่เหมาะสมเป็นกรรมการป.ป.ช. แทนตำแหน่งที่ว่าง  แต่เนื่องจากว่านายสุชาติเคยเป็นสนช. ในช่วงตั้งแต่ 11 ต.ค. 57 ซึ่งในกฎหมายป.ป.ช.ปี 2561 ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า บุคคลที่จะมาเป็นกรรมการป.ป.ช.นั้นจะต้องไม่เป็นสมาชิกส.ส.  วุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองในระยะ 10 ปีก่อนดำรงตำแหน่ง ดังนั้นการที่นายสุชาติเพิ่งพ้นจากการเป็นสนช.ได้เพียง 1 ปีที่ผ่านมา  จึงน่าจะมีลักษณะต้องห้ามตามพ.ร.ป.ว่าด้วยป.ป.ช. 2561 ในมาตรา 11(18) โดยชัดเจน

 อีกทั้งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไม่น่าจะต้องการบุคคลที่มีหน้าที่นิติบัญญัติในการออกกฎหมายมาบังคับใช้เข้าไปมีผลประโยชน์ได้เสียในองค์กรต่างๆ หรือแม้แต่องค์กรอิสระ  รัฐธรรมนูญจึงพยายามกำหนดระยะห่างเอาไว้เป็นเวลา 10 ปี ดังนั้นการที่ส.ว.ทั้ง 219 คน ลงคะแนนโหวตเห็นชอบนายสุชาติ น่าจะขัดแย้งต่อกฎหมายป.ป.ช. และขัดรัฐธรรมนูญ  

               

“ต้องอย่าลืมว่านายสุชาติได้เป็นสนช.โดยการแต่งตั้งของคสช.ในสมัยนั้น และปัจจุบันหัวหน้าคสช.ก็คือนายกรัฐมนตรี การจะเข้าไปดำรงตำแหน่งป.ป.ช.ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เข้าไปตรวจสอบการทุจริตของข้าราชการ นักการเมือง ก็อาจถูกครหาได้ว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วก็อาจเป็นเรื่องเหมือนที่หลายคนวิพากษ์นาฬิกาบิ๊กป้อม ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรสุดท้ายก็มีการวินิจฉัยว่า เป็นการยืมใช้ของเพื่อน  ซึ่งผมเองก็เป็นนักกฎหมายดูแล้วไม่สามารถจะวิฃจารณ์เป็นอย่างอื่นได้

 

 ดังนั้นประเด็นการรับรองนายสุชาติ มาเป็นกรรมการป.ป.ช.เข้าใจว่าน่าจะขัดพ.ร.ป.ว่าด้วยป.ป.ช.โดยชัดเจน  และถ้าหากเรื่องนี้เป็นที่ยุติในชั้นศาลว่านายสุชาติไม่สามารถดำรงตำแหน่งป.ป.ช.ได้ ผมก็จะดำเนินการเอาผิดกับ  ส.ว.ทั้ง 219 คนที่รับรองนายสุชาติฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบด้วย”
 

 

นายศรีสุวรรณ  กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินควรจะต้องส่งศาลปกครองเพราะเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้มีอำนาจ  ไม่ใช่เรื่องขัดแย้งในทางกฎหมายขัดแย้งที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ  อีกทั้งในอดีตเคยมีสนช.นำเรื่องที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและศาลมีคำวินิจฉัยว่า คณะกรรมการสรรหาไม่สามารถจะวินิจฉัยได้และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่รับเรื่อง เมื่อมีบรรทัดฐานในเรื่องนี้แล้ว การจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกก็อาจจะปฏิเสธ

 

  อย่างไรก็ตามหากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าอาจจะไม่ใช่อำนาจของศาลปกครองแต่เป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือหน่วยงานอื่นใดก็ขึ้นอยู่กับผู้ตรวจการแผ่นดินจะวินิจฉัยต่อไปเพื่ออย่างน้อยเรื่องนี้จะได้เป็นที่ยุติของสังคมไม่ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์หาที่ยุติไม่ได้