ดัน5วิทยาลัยเกษตร จัดการน้ำเพื่อชุมชน

31 พ.ค. 2563 | 02:49 น.

“คุณหญิงกัลยา” เดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อชุมชน ดัน 5 วิทยาลัยเกษตรฯ นำร่อง เตรียมสร้างต้นแบบ สร้างคนเป็นผู้ประกอบการ

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช

 

นางดรุณวรรณ  ชาญพิพัฒนชัย โฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า หลังจากที่ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แต่งตั้งคณะทำงานโครงการจัดการน้ำเพื่อชุมชนโดยคุณหญิงกัลยาตามแนวพระราชดำริ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำเพื่อชุมชน สืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9 ช่วยเกษตรกร ให้มีน้ำใช้ แก้ปัญหาความยากจน เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น


 
ขณะนี้โครงการดังกล่าวได้มีความคืบหน้าไปจากเดิม โดยจะเริ่มต้นทำโครงการในพื้นที่ของวิทยาลัยเกษตรที่มีความพร้อมก่อน โดยในเบื้องต้นมี 5 วิทยาลัยที่ได้แสดงเจตจำนงในการทำโครงการนำร่องได้แก่วิทยาลัยเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร มหาสารคาม ร้อยเอ็ดและศรีสะเกษ เพื่อสร้างโมเดลต้นแบบการเก็บน้ำไว้ใต้ดิน ก่อนขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ 

 


 

ดรุณวรรณ  ชาญพิพัฒนชัย

 

นางดรุณวรรณ กล่าวว่า เป้าหมายของการขับเคลื่อนโครงการ นอกจากจะใช้พื้นที่ของวิทยาลัยเกษตรและประมงที่มี 47 แห่งทั่วประเทศแล้ว ยังจะขยายผลไปยังชุมชนพื้นที่ใกล้เคียง โดยให้วิทยาลัยเกษตรทำหน้าที่เป็นแกนนำหลักด้านองค์ความรู้ที่จะได้รับการถ่ายทอดจากผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำในชุมชน ที่เป็นคณะทำงานของโครงการ โดยจะมีศูนย์เรียนรู้ภายในวิทยาลัยเพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการสำหรับชลกร มีการจัดทำหลักสูตรพร้อมจัดอบรมครูอาชีวเกษตรและแกนนำนักเรียน ที่จะนำมาพัฒนาเป็นชลกร คือผู้ทำงานด้านการจัดการน้ำสำหรับชุมชนต่อไปในอนาคต เพื่อทำหน้าที่แนะนำคนในชุมชน ช่วยสอนชาวบ้านให้มีความรู้เรื่องการจัดการน้ำในชุมชน ให้สามารถดำเนินการต่อเองได้

 

โดยคุณหญิงกัลยาได้ให้แนวทางกับคณะทำงานไว้ว่า “การบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน มีหลักสําคัญตามพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงตรัสไว้ว่า …ต้องมีน้ำ น้ำบริโภคและน้ำใช้ น้ำเพื่อการเพราะปลูก เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้…และจะใช้สามแนวทางตามแนวพระราชดำริ ที่ได้ทรงพระราชทานไว้คื

 

1. มีที่ให้น้ำอยู่ 2.มีที่ให้น้ำไหล และ 3. เก็บน้ำไว้ใต้ดิน ทั้งนี้ คณะทำงานโครงการฯ จะเริ่มต้นสำรวจพื้นที่เพื่อใช้สำหรับเก็บน้ำไว้ใต้ดิน เนื่องจากขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝน จึงต้องรีบดำเนินการให้ทันเพื่อเร่งกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ โดยจะใช้หลักการธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ประหยัด เพื่อให้ชาวบ้านมีน้ำใช้ในการประกอบอาชีพ และจะพัฒนาไปยังขั้นตอนอื่น ๆ ต่อไปตามลำดับ