จับตา สภา ถก พรก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้าน

26 พ.ค. 2563 | 22:53 น.

สภา ถก พรก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้าน 3 ฉบับรวด รับมือวิกฤติโควิด

นับตั้งแต่วันนี้ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคมที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา พรก.กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตราขึ้นเพื่อใช้รับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ซึ่งทั้งหมดประกาศลงราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมาแล้ว

เมื่อพลิกดูรายละเอียดของ พรก.เงินกู้ ทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งประกอบด้วย 1.พรก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งในบัญชีแนบท้าย พรก.ฉบับนี้ ระบุว่า จัดสรรไปดำเนินโครงการต่างๆ แบ่งเป็น แผนงานทางการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท แผนงานช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกรและ ผู้ประกอบการ วงเงิน 555,000 ล้านบาท และแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยครอบคลุมโครงการดูแลสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่ ได้แก่ สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุชน และสนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่ วงเงิน 400,000 ล้านบาท

2.พรก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยออก Soft Loan เพื่อดูแลภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs วงเงิน 5 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 2 มาตรการย่อย ได้แก่ 1.สินเชื่อใหม่ 5 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% สำหรับ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท 2.ธพ. และ SFIs พักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ระยะเวลา 6 เดือน ให้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท

และ 3.พรก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงินวงเงิน 4 แสนล้านบาท โดยตั้งกองทุนรวม Corporate Bond Liquidity stabilization Fund หรือ BSF และให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว

จะเห็นได้ว่า มีเพียง พรก.ฉบับแรกเท่านั้นที่ใช้เงินกู้ ขณะที่ 2 ฉบับหลังเป็นการใช้สภาพคล่องของ ธปท. ภายใต้ พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านนี้ จะกระจายการกู้เงินไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งเป็นการเฉพาะ รัฐบาลจะทยอยกู้เงินตามความต้องการการใช้เงิน ซึ่งมี 2 โครงการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินกู้จำนวนดังกล่าวไปแล้ว นั่นคือ การเยียวยาประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ โดยเมื่อวันที่ 16 พ.ค.2563 ได้ทำการกู้เงินไปแล้ว 170,000 ล้านบาท ผ่านตั๋วสัญญาใช้เงินและพันธบัตรออมทรัพย์ และเครื่องมืออื่นที่จะทยอยตามมา  

อย่างไรก็ดี การกู้เงินดังกล่าวนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้เงินถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น เศรษฐกิจเดินต่อได้ เงินงบประมาณปี 2564 เพียงพอที่จะดูแลขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องกู้จนครบทั้ง 1 ล้านล้าน ตรงกันข้ามถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น หากกู้เงินครบ 1 ล้านล้านบาท ภายใน 30 กันยายน 2564 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จะสามารถกู้ได้ตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้ นักการเงินการคลัง คาดว่า หนี้สาธารณะของไทย ณ 30 กันยายน 2564 จะอยู่ที่ 57.96% ของ GDP ยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังที่ประกาศกำหนด Debt / GDP ไว้ที่ 60% ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นช่วงที่หนี้สาธารณะประเทศสูงที่สุด คือ 59.9% ภายหลังเมื่อเศรษฐกิจดีและการมีวินัยในเรื่องหนี้ทำให้ปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 41.4% ของ GDP

พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563