"มาดามเดียร์"จี้ขันนอตแบงก์พาณิชย์ เร่งปล่อยกู้ซอฟต์โลนถึงมือ SMEs

24 พ.ค. 2563 | 11:55 น.

"มาดามเดียร์" โพสต์เฟซบุ๊ก เผยลงพื้นที่พร้อม5ส.ส.พปชร. SMEs ร้องสินเชื่อซอฟต์โลนของรัฐยังไม่ถึงมือ ต้องแบกภาระต้นทุนหลังแอ่น จี้แบงก์ชาติขันนอตแบงก์พาณิชย์รีบพิจารณาปล่อยเงินกู้ถึงมือผู้ประกอบการโดยเร็ว

น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี

 

น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊ก  ภายหลังลงพื้นที่ พร้อมด้วย ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 5 คน  เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ SMEs ที่บริษัทไทย เทราพี เทเบิ้ล จำกัด ซี่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงแรมและสปา ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 โดยตรง เนื่องจากโรงแรมและสปาถูกสั่งปิด ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อส่งสินค้าและยกเลิกออเดอร์   โดยมีข้อความว่า 

 

เดียร์และเพื่อน ส.ส. ลงพื้นที่รับฟังปัญหาธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบจากพิษวิกฤตไวรัสโควิด-19 

 

ถึงแม้ พี่ฟ้า เจ้าของธุรกิจ SME บริษัท ไทยเทราพี เทเบิ้ล จก. อาจจะไม่ได้เป็นผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว หรือธุรกิจที่ต้องปิดกิจการตามคำสั่ง Lock Down ของภาครัฐ แต่ก็ได้รับผลกระทบเต็มๆ จนทำให้กิจการขาดสภาพคล่อง เกือบไปต่อไม่ไหว เพราะกลุ่มลูกค้าเป็นธุรกิจโรงแรม ร้านสปา นวดตัว แม้ไม่ได้ถูกสั่งปิดกิจการแต่ออเดอร์สินค้าใหม่ในวิกฤตเช่นนี้ คงไม่ต้องพูดถึง นั่นยังไม่รวมถึงลูกค้าเก่าที่ก็ล้วนขอเลื่อนการชำระเงินจากการสั่งซื้อสินค้าออกไป ทำให้กิจการที่ต้องประสบปัญหาด้านการเงินไปโดยอัตโนมัติ

 

ถึงอย่างนั้นพี่ฟ้าก็ยังใจสู้  พยายามดิ้นรนหาทางออกทางธุรกิจเพื่อนักษาพนักงานให้มีงานทำโดยหวังพึ่งเงินกู้จากวงเงินสินเชื่อ Soft Loan ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สนับสนุนวงเงินสินเชื่อจำนวน 500,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ ธ.พาณิชย์ ไปปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 2%  เพื่อมาต่อลมหายใจธุรกิจของตัวเอง และเพื่อช่วยประคับประคองดูแลชีวิตพนักงานในยามลำบาก

 

พี่ฟ้า ยื่นคำขอสินเชื่อจำนวนเงิน 3,000,000 บาท ทว่ากลับได้รับการอนุมัติวงเงินในส่วนของสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (2%) ของ ธปท. เพียง 360,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. ที่กำหนดให้กู้เงินใหม่ได้ไม่เกิน 20% ของยอดสินเชื่อคงค้างที่มีอยู่กับสถาบันการเงิน 

 

"มาดามเดียร์"จี้ขันนอตแบงก์พาณิชย์ เร่งปล่อยกู้ซอฟต์โลนถึงมือ SMEs

 

ดังนั้น ยอดเงินขอสินเชื่อส่วนต่างที่เหลือ ธนาคารพาณิชย์ จึงแนะนำให้พี่ฟ้าไปขอ 1)สินเชื่อ(O/D) ที่อัตราดอกเบี้ยMRR+ (ได้รับการเสนอประมาณ 10%) แทน นอกจากนี้พี่ฟ้ายังต้องแบกต้นทุน 2)ค่าธรรมเนียมจัดการสินเชื่ออัตรา 3.25%  3)ค่าสำรวจและประเมินหลักทรัพย์ค้ำประกัน 4)ค่าธรรมเนียมจดจำนองที่ดิน 1% ทั้งหมดนี้ ผู้ประกอบการเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขอสินเชื่อจากธนาคาร

 

นี่คือต้นทุนการเงินของผู้ประกอบการที่ไม่เคยมีหนี้เสีย ในอดีตก่อนเกิดวิกฤตธุรกิจมีสภาพคล่องพอเลี้ยงธุรกิจพนักงานต้องเผชิญ และไม่ต้องการสร้างภาระหนี้สินให้ตัวเอง แต่ในช่วงที่ยากลำบากยากเย็น กลับต้องแบกต้นทุนทางการเงินที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น

 

 นั่นยังไม่นับรวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยอื่น ที่ต่างก็ล้วนประสบปัญหาในลักษณะใกล้เคียงกันคือ เข้าไม่ถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ บ้างก็ได้รับแจ้งว่าสินเชื่อดังกล่าวเต็มแล้ว อาจเพราะความเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่ก็ดี หรือสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัตินั้นไม่เพียงพอต่อความจำเป็นดังเช่นในกรณีพี่ฟ้า ล้วนถูกผลักภาระให้ไปเจอต้นทุนทางการเงินในการพยุงธุรกิจที่สูงลิ่วในยามที่ธุรกิจประสบปัญหา 

 

นโยบายวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 500,000 ล้านบาทที่ ธปท.มีมาตรการออกมานั้นเป้าหมายหลักทางนโยบายคือต้องการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประกอบการ SME ที่แบกรับภาระต้นทุนด้านการพนักงาน และยอดขายที่ลดลงจากภวะสุดวิสัยถือเป็นนโยบายที่ดี และถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเยียวยาธุรกิจ 

 

แต่การนำนโยบายไปปฏิบัติงานนั้นอาจยังมีช่องว่างให้เห็นอยู่มาก จึงจำเป็นต้องตั้งทีมขึ้นมาเกาะติดการปฏิบัติงานตามนโยบายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพ เงินก้อนหนึ่งต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น อาจไม่มีความหมายสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ แต่สำหรับคนตัวเล็กถือว่าสำคัญอย่างยิ่งค่ะ

 

อีกทั้งการสื่อสารที่ยังคงเกิดความสับสนต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารและประชาชน จึงอยากให้ ธปท. เร่งติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดของธนาคารพาณิชย์เพื่อให้เงิน soft loan ดังกล่าวถูกกระจายไปถึงผู้ประกอบการที่เดือดร้อนอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

 

หากเห็นว่า แนวปฏิบัติ หลักเกณฑ์ เงื่อนไขหนึ่งเงื่อนไขใด มีปัญหาในทางปฏิบัติ และเป็นตัวที่สร้างปัญหาให้กับกลุ่มเป้าหมาย จำเป็นต้องเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขอย่างทันท่วงที เพราะนโยบายที่ดีอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติได้ กรณีของsoft loan คือตัวอย่างหนึ่งของปัญหาที่เห็นได้ชัด

 

นอกจากนี้เดียร์ขอสนับสนุนให้รัฐมีโครงการแนะแนวผู้ประกอบการ SME เพื่อให้สามารถปรับแผนธุรกิจตนเองตามวิถี New Normal ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมใหม่ของโลกใบนี้ที่ปรับเปลี่ยนไป พ่วงเข้าไปด้วย เพราะความรู้ของเอสเอ็มอีแต่ละรายมีไม่เท่ากัน โดยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นทางสายกลางภายใต้กระแสที่เปลี่ยนแปลง ที่ให้เราดำเนินธุรกิจอย่างพอประมาณด้วยหลักของเหตุและผล ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงในธุรกิจและทรัพย์สิน

"มาดามเดียร์"จี้ขันนอตแบงก์พาณิชย์ เร่งปล่อยกู้ซอฟต์โลนถึงมือ SMEs

 

นอกจากกำลังใจที่มีให้กันตลอดมาและตลอดไปแล้ว เดียร์และเพื่อนๆ ส.ส. จะผลักดันโครงการและนโยบายต่างๆ จากภาครัฐ เพื่อให้เราทุกคนสามารถร่วมดูแลซึ่งกันและกันในยามทุกข์ยาก เพื่อให้คนไทยเข้มแข็งจนก้าวข้ามปัญหาได้สำเร็จ และจะเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนที่ประสบปัญหาเดือดร้อน ประชาชนที่ประกอบอาชีพโดยสุจริตและไม่ย่อท้อต่อปัญหาที่เกิดขึ้นค่ะ