พลิกประวัติศาสตร์ 6 ปี รัฐประหาร

22 พ.ค. 2563 | 07:50 น.

ครบรอบ 6 ปี รัฐประหาร ที่ คสช. ยึดอำนาจ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุติปมขัดแย้ง ความรุนแรงทางการเมืองที่โหมกระหน่ำประเทศอย่างแสนสาหัสลงได้โดยไม่เสียเลือดเสียเนื้อภายในระยะเวลาอันสั้น

วันนี้เมื่อ 6 ปีก่อนหลายคนคงจำกันได้เป็นห้วงเวลาที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติความขัดแย้งอย่างหนักหน่วงมากที่สุดยุคหนึ่ง นักการเมืองเห็นแก่พวกพ้อง ยึดประโยชน์ตัวเองเป็นหลัก เกิดวาทกรรม “นิรโทษกรรมสุดซอย” ประชาชนแตกแยกทางความคิด เกิดความวุ่นวายไปทั่ว หาทางออกให้กับประเทศไม่ได้ จนนำไปสู่การทำ รัฐประหาร ยึดอำนาจ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์สำคัญทางการเมืองไทยที่ถูกบันทึกไว้

เมื่อ คสช.ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้น นำคณะ ผบ.เหล่าทัพ ซึ่งประกอบด้วย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.), พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ., พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. และ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รอง ผบ.สส. และ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฎิมาประกร ผบ.สส. ประกาศยึดอำนาจ ทำรัฐประหาร ยุติความขัดแย้งของสังคมแบบไม่สูญเสียเลือดเนื้อภายในเวลาไม่กี่วัน

หมากทุกตัวถูกจัดวางเอาไว้อย่างแยบยล โดย พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. หัวหน้าคสช.ในขณะนั้น เริ่มจากการยึดอำนาจด้วยการประกาศกฎอัยการศึก โดยส่งกำลังทหารลงพื้นที่ตั้งแต่ตีสองของวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 จัดตั้งเป็น กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (กอ.รส.) แล้วประกาศพ.ร.บ.กฎอัยการศึก ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) ตอนตีสาม ประกาศจุดประสงค์ ให้ หัวหน้าส่วนราชการเข้ารายงานตัวเพื่อประชุมแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น พุ่งไปที่คีย์แมนสำคัญทั้ง 7 ฝ่าย ให้เข้าร่วมประชุมพร้อมกันที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดี-รังสิต ตั้งโจทย์ 5 ข้อให้ทุกฝ่ายร่วมกันขบคิดเพื่อหาทางออกให้กับประเทศในขณะนั้น โดยมีคำถามสำคัญ 5 ข้อ คือ

1.ปฏิรูปก่อน หรือ เลือกตั้งก่อน

2.ทำประชามติว่า จะเลือกข้อไหนก่อน

3.การตั้งนายกฯคนกลาง โดยยึดกรอบกฎหมายสามารถทำได้หรือไม่

4.การตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล โดยวุฒิสภา

5.ให้ กปปส. กับ นปช. ยุติการชุมนุม

รุ่งขึ้น(21 พฤษภาคม 2557)สถานที่เดิมโดยตัวแทนของฝ่ายรัฐบาลที่เข้าประชุมในวันนั้น ประกอบด้วย นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม นายวราเทพ รมช.ศึกษา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม และนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลังเข้าห้องประชุมร่วมกัน ทุกคนถูกยึดโทรศัพท์หลังจากที่มีภาพบรรยากาศการประชุมเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กออกสู่สาธารณะ ในขณะที่ผลการหารือเพื่อหาทางออกให้กับประเทศดูมืดมนเมื่อทุกฝ่ายไม่สามารถหาข้อยุติของเรื่องนี้ได้

ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รองหัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชชัย เลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์

ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค นายจุติ ไกรฤกษ์ นายศิริโชค โสภา นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์

ตัวแทนของ กปปส. ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข

ตัวแทนของ นปช. ประกอบด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นางธิดา ถาวรเศรษฐ นายวีระกานต์ มุกสิกพงษ์ และนายก่อแก้ว พิกุลทอง

ด้านตัวแทนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ เข้าร่วมหารือ ท่ามกลางกองทัพสื่อมวลชนที่ได้รับอนุญาตให้สังเกตการณ์อยู่เพียงภายนอกอาคารเท่านั้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวก่อนการประชุมตอนหนึ่งว่า สิ่งที่ตนเองเป็นห่วง คือ เราไม่สามารถปล่อยให้มีปัญหากันต่อไป หรือ มีความข้อขัดแย้งต่อไปโดยไม่มีทางออกอยากให้เริ่มที่ตัวของตัวเองก่อน คือ พร้อมทำทุกอย่างให้เกิดความสันติสุขโดยเร็ว ทุกท่านให้เกียรติกองทัพ และการประกาศกฎอัยการศึกนั้น คิดว่า หลายท่านมีข้อขัดแย้ง แต่เรียนว่า จะทำอย่างเต็มที่เพื่อที่จะให้เกิดความสงบสุข และไม่ต้องมากังวลแทนตนเพราะไม่ว่าจะผิดหรือถูกอย่างไร ผมรับผิดชอบทุกประการ เพราะผมเป็นคนที่เกิดในแผ่นดินนี้ เป็นหนี้แผ่นดิน ก็จำเป็นจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้ และพยายามใช้อำนาจความมั่นคงเป็นหลัก แต่มีความเกี่ยวพันกันในหลายมิติ หากก้าวล่วงอะไรไปบ้างหรือใช้อำนาจอะไรไปบ้างต้องขออภัย ยืนยันว่า ผมให้เกียรติทุกท่านเสมอ

หลังการประชุมผ่านไปเพียง 2 ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งให้หยุดพักการประชุม เนื่องจากแต่ละฝ่ายไม่ยอมรับความคิดเห็นของกันและกัน ยึดข้อเสนอของตัวเองเป็นหลัก

กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางออกจากสโมสรทหารบก ด้วยรถประจำตำแหน่งไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) จากนั้นได้ตามกันออกไปเป็นขบวน พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. และพล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รองผบ.สส.

กระทั่งเวลาประมาณ 16.40 น.มีทหารจาก พล.ม.2 รอ.ร.1 นำรถจีเอ็มซี 3 คัน มาปิดทางเข้าออกสโมสรทหารบก อีก 2 คันปิดที่ทางแยกไปยังอาคารกำลังเอก สถานที่ทำงานของสื่อมวลชน มีทหารพร้อมอาวุธครบมือยืนกันนักข่าวและช่างภาพ และให้ไปรวมตัวที่อาคารกำลังเอกเพื่อรอฟังแถลงการณ์ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. 

จากนั้นมีการเสริมกำลังทหาร พร้อมรถบรรทุกเข้าปิดทางเข้าออกสโมสรทหารบก มีกำลังทหารนอกเครื่องแบบได้นำรถตู้ 5คัน ขึ้นมาบริเวณด้านหน้าสโมสรทหารบก และเข้าล็อกตัวแทนนำทั้งหมดขึ้นรถไปควบคุมตัวภายในบ้านพักรับรอง ร.1 รอ. และใช้มาตรการควบคุมสูงสุดเข้าควบคุมพื้นที่ 

ต่อมาเวลา 17.07 น.พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ.พร้อมด้วย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. และ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รอง ผบ.สส. ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เรื่องการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ

“ตามสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กทม. เขตปริมณฑล และพื้นที่ต่างๆ ของประเทศในหลายพื้นที่เป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บและเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัวจนอาจจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเขาสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรักความสามัคคีเช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกพวกทุกฝ่าย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 เวลา 16.30 น. เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนทุกคนอยู่ในความสงบ ดำเนินวิถีชีวิตและประกอบอาชีพต่อไปตามปกติ ให้ข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ปฏิบัติหน้าที่ ตามระเบียบแบบแผนของทางราชการดังที่เคยปฏิบัติ สำหรับข้าราชการ ทหาร ตำรวจ อาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ส่วนราชการต่างๆ ที่ได้มีอาวุธเพื่อใช้ในราชการของหน่วย ห้ามเคลื่อนย้ายกำลังและอาวุธโดยเด็ดขาด เว้นแต่จะได้รับคำสั่งจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่เพียงผู้เดียวสำหรับคณะทูตานุทูต สถานกงสุล องค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งชาวต่างประเทศที่พำนักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะได้ให้ความคุ้มครอง และขอยืนยันว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ยังเป็นไปตามปกติตามที่รัฐบาลชุดเดิมได้ดำเนินการไว้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะยึดมั่นในความจงรักภักดีและจะปกป้อง เทิดทูน ดำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทย และทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง ประกาศ ณ วันที่ 22 พ.ค. 2557”

จบสิ้นภารกิจสำคัญในเวลาไม่กี่วันจากการประกาศกฎอัยการศึก ขยับเป็น ยึดอำนาจ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ แบบเบ็ดเสร็จ