"เกียรติ"ยก"ไต้หวัน"กรณีศึกษาสกัดโควิด

09 เม.ย. 2563 | 13:08 น.

นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว Kiat Sittheeamorn หัวข้อ ไต้หวัน : กรณีศึกษาที่น่าสนใจ ระบะว่า ณ วันที่ 9 เมษายน 2563 ตัวเลขสะสมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกอยู่ที่ 1,457,989 ราย ไต้หวันมีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมอยู่ที่ 379 ราย นอกจากนี้ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็ยังประเมินภาพรวมเศรษฐกิจของไต้หวันว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี ผมจึงขอถือโอกาสนี้นำประสบการณ์และมาตรการต่าง ๆ ที่นำไปใช้แล้วได้ผลค่อนข้างดี มาเล่าสู่กันฟัง

"บทเรียนจาก SARS"

บทเรียนจาก SARS ทำให้ไต้หวันรู้ว่าจะต้องดำเนินการอะไรบ้างเพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงที โดยที่

-ไต้หวันเริ่มตรวจอุณหภูมิร่างกายของผู้โดยสารที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่นและประเทศจีนตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม
-มีการแยกตัวและตรวจหาเชื้อในกลุ่มผู้ที่มีประวัติการสัมผัสร่างกายกับผู้ติดเชื้อ
-เคร่งครัดในเรื่องการบังคับกักกัน ติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสี่ยงโดยใช้เทคโนโลยีสแกนรหัสบาร์โค้ด และใช้ “รั้วอิเล็กทรอนิกส์” ในการใช้เป็นกรอบเฝ้าระวัง

ด้วยเหตุผลเรื่องค่าใช้จ่าย ไต้หวันเองก็ไม่ได้ทำการตรวจหาเชื้อแบบ “ปูพรม” เช่นกัน แต่ใช้วิธีการเลือกตรวจหาเชื้อเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งก็คือผู้ที่มีอาการตั้งแต่เล็กน้อยถึงมาก หรือมีประวัติสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ดังนั้นความเสี่ยงจากการติดเชื้อในลดลงตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยไม่จำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (State of Emergency) หรือ Lockdown

ลักษณะเฉพาะที่นำไปสู่ความสำเร็จของไต้หวันในการจัดการกับโควิด-19 มีอยู่ 3 ด้านด้วยกัน คือ 1) การบริหารจัดการด้านสังคมและภาครัฐ 2) ด้านความชำนาญทางการแพทย์และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ และ 3) ด้านความร่วมมือกับภาคเอกชนและอุตสาหกรรม

1) การบริหารจัดการด้านสังคมและภาครัฐ

1.1) รัฐบาลจัดการกับการเผยแพร่ข่าวปลอม (Fake News) ด้วยโทษปรับมูลค่าสูงมาก
1.2) รัฐบาลแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ทุกวัน เพื่อให้สังคมรับรู้ข้อมูลและสถานการณ์ล่าสุด และให้รายการโทรทัศน์และวิทยุเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโควิด-19 ทุกชั่วโมง เพื่อให้ประชาชนทราบว่าไวรัสแพร่ระบาดทางใด และจะป้องกันตนเองได้อย่างไร
1.3) มีการออกข้อกำหนดเกี่ยวกับสินค้าหน้ากากอนามัย โดยผู้ใหญ่ซื้อได้ไม่เกิน 3 ชิ้นต่อสัปดาห์ และเด็กไม่เกิน 5 ชิ้นต่อสัปดาห์ รวมถึงควบคุมราคาหน้ากากอนามัยให้เหมาะสม
1.4) รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณไปกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน หรือประมาณ 110,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
1.5) รัฐบาลให้การช่วยเหลือ SMEs โดยหากบริษัทใดมีรายได้ลดลงต่ำกว่า 50% รัฐบาลจะช่วยจ่าย 50% ของเงินเดือนพนักงาน

2) ด้านความชำนาญทางการแพทย์และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ

2.1) เรียนรู้บทเรียนจาก SARS สถาบันการแพทย์ต่าง ๆ เริ่มเตรียมตัวรับมือสภาวะฉุกเฉินตั้งแต่เนิ่น ๆ
2.2) สถาบันการแพทย์ทุกแห่งต้องเพิ่มสต็อกอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ให้เพียงพอและอยู่ได้อย่างน้อย 30 วัน
2.3) มีโรงพยาบาลพิเศษสำหรับผู้ป่วยโควิด-19

3) ด้านความร่วมมือกับภาคเอกชนและอุตสาหกรรม

3.1) รัฐบาลสั่งห้ามส่งออกหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดแคลน
3.2) รัฐบาลขอความร่วมมือให้บริษัทผลิตหน้ากากอนามัยเพิ่มปริมาณและสายการผลิต และประสานกับภาคอุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักร/อุปกรณ์เพื่อรองรับการเพิ่มสายการผลิตอย่างรวดเร็ว ทำให้ปริมาณการผลิตต่อวันของหน้ากากอนามัยในไต้หวันเพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านชิ้นในเดือนมกราคม เป็น 13 ล้านชิ้นในเดือนเมษายน ด้วยเหตุนี้ไต้หวันจึงสามารถบริจาคหน้ากากอนามัยให้กับประเทศอื่น ๆ ได้
3.3) ผู้ประกอบการโรงแรมเสนอให้ใช้ห้องพักในการกักกันตัว
3.4) มีการใช้แอปพลิเคชั่นสำหรับการกำกับดูแลทุกด้าน เช่น แอปพลิเคชั่นระบุตำแหน่งร้านค้าที่มีหน้ากากอนามัยขาย มีการลงทะเบียนผู้ซื้อและกำหนดปริมาณตามนโยบายของรัฐ เป็นต้น

"เกียรติ"ยก"ไต้หวัน"กรณีศึกษาสกัดโควิด

จากบทเรียนในการแพร่ระบาดของโรค SARS ทำให้ไต้หวันสามารถดำเนินมาตรการรองรับที่ประเมิน เตรียมความพร้อม และเริ่มดำเนินการตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยที่เศรษฐกิจของประเทศ ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ และความเป็นอยู่ของประชาชนได้รับผลกระทบไม่มากเช่นประเทศอื่นในขณะนี้

เช่น ตรวจอุณหภูมิผู้เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคม ร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มการผลิตหน้ากากอนามัย

รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลที่ครบถ้วนและโปร่งใส และจริงจังกับการจัดการกับข่าวปลอม

ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ เช่น การใช้แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ การติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสี่ยงด้วยการสแกนรหัสบาร์โค้ด

การสร้าง “รั้วอิเล็กทรอนิกส์” เพื่อใช้เป็นกรอบเฝ้าระวัง

ตัวอย่างเหล่านี้คือเหตุผลว่าทำไม ณ วันนี้ ไต้หวันถึงประสบความสำเร็จมากที่สุดในการจัดการกับไวรัสโควิด-19 และได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยที่สุด

ผมว่าน่าสนใจมากเลยนะครับ..! ลองอ่านดูครับ..!!