วิกฤติ? แพทย์-เตียง ICU ไม่พอรับผู้ป่วยโควิด

08 เม.ย. 2563 | 05:15 น.

 

แม้ประชาชนส่วนใหญ่ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ลดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่จำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละวันในไทย ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และในภูมิภาค ทำให้รัฐบาลตัดสินใจประกาศห้ามประชาชนออกนอกบ้านในเวลา 22.00-04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563

ล่าสุดมีผู้ไม่หวังดีปล่อยข่าวในโลกโซเชียลว่า รัฐบาลเตรียมประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง แม้ต่อมารัฐบาลออกมาปฏิเสธข่าว แต่ประชาชนส่วนหนึ่งยังหวาดหวั่นไม่น้อย กลายเป็นที่มาของการแห่กักตุนอาหารและของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน 

 

มท.เข้มรับมือไวรัสระบาด

ตัวเลขเมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 38 คน รวมผู้ป่วยสะสม 2,258 คน รักษาหายเพิ่ม 31 คน รวม 824 คน เหลือผู้ป่วย 1,408 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน สะสมเป็น 27 ราย 

จากตัวเลขดังกล่าวดูเหมือนผู้ติดเชื้อลดลงจากก่อนหน้านี้ แต่พบว่ามีประชาชนส่วนหนึ่งยังฝืนคำสั่งห้ามประชาชนออกนอกบ้านในเวลา 22.00-04.00 น. ส่งผลให้นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมกำหนดมาตรการและดูแลประชาชน 4 ข้อ ได้แก่

1. จัดเตรียมพื้นที่รองรับการกักกันตัวของจังหวัด ให้มีความพร้อม โดยสามารถพิจารณาใช้พื้นที่ของภาคเอกชนได้ ทั้งในด้านการจัดทำเป็นสถานที่กักกันตัว ร.พ.สนาม คลังเก็บอาหาร เครื่องดื่ม จุดรับบริจาค จุดประชาสัมพันธ์ให้ข่าว รวมทั้งกำหนดผู้ให้ข่าวที่ชัดเจน

ส่วนข้อ 2 ถึงข้อง 4 สาระโดยสรุปคือ การชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนและทุกภาคส่วนให้อยู่ในที่พำนัก ไม่เคลื่อนย้าย/เดินทาง  มอบหมายภารกิจและแนวทางปฏิบัติ ให้หน้าที่แก่ส่วนราชการ/หน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง กำหนดแผนเผชิญเหตุ

ตลอดจนวางมาตรการควบคุมการกักตุนสินค้า วางแผนจัดระบบการขนส่งสินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อดูแลประชาชนถึงระดับหมู่บ้าน/ชุมชนให้ชัดเจน และกำหนดในแผนปฏิบัติการ

 

 

“แพทย์-เตียง”รองรับไม่พอ

การออกประกาศของกระทรวงมหาดไทย เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือขั้นสูงสุดดังกล่าว สอดคล้องกับ ความเห็นของ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.พญ. ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี มีความห่วงกังวลต่อจำนวนผู้ป่วยใหม่ที่เพิ่มขึ้น

“ตอนนี้เรามีคนไข้หนักที่ต้องนอนแอดมิทในไอซียูอยู่เกือบๆ 100 เตียง โดยเหลือจำนวนเตียงที่จะรองรับได้อีกไม่มาก แต่ขอไม่เปิดเผยตัวเลข” ทุกหน่วยงานพยายามกันอย่างเต็มที่เพื่อจะขยายเตียงไอซียูเพื่อรองรับผู้ป่วยหนักให้มากที่สุดเท่าที่เราสามารถจะทำได้ แต่ต้องเข้าใจกันด้วยว่า การขยายเตียงไอซียูนั้น ไม่ใช่แค่หาพื้นที่หาเตียง หาเครื่องมือเครื่องไม้ อย่างเครื่องช่วยหายใจและหยูกยาเท่านั้น

วิกฤติ? แพทย์-เตียง ICU ไม่พอรับผู้ป่วยโควิด

สิ่งที่เป็นปัญหาหนักคือ เรามีบุคลากรแพทย์พยาบาล และบุคลากรสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยหนักจำกัดมาก ถึงมีเตียงมีอุปกรณ์แต่คนดูแลไม่พอ ยังไงก็ไม่สามารถดูแลผู้ป่วยหนักได้ “ตามที่วางแผนกันอย่างเต็มที่ เราพอจะขยายเตียงและเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยหนักได้บ้าง ตามกำหนดจะขยายได้ภายในปลายเดือนนี้และปลายเดือนหน้า เพราะต้องจัดเตรียมสิ่งต่างๆ มากมาย คนไทยต้องช่วยชะลอคนป่วยอย่าให้แตะ 3,000 คนช่วงสงกรานต์ เพื่อซื้อเวลาเตียงไอซียูไม่พอรองรับ 

ส่อง“แพทย์-เตียง ICU”

จะเห็นได้ว่า ปัญหาที่ ทางแพทย์หวาดหวั่นไม่น้อยคือ ปัญหา “เตียงไอซียู” ไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วยอาการรุนแรง ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต  ข้อมูลในระบบสาธารณสุขไทย พบว่า ความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ในสังกัดกระทรวง สาธารณสุข กรุงเทพมหานคร(กทม.) และ ส่วนภูมิภาค มีแพทย์รวม 22,231 คน ในจำนวน นี้มีอายุรแพทย์ติดเชื้อ 42 คน แพทย์ระบาดวิทยาติดเชื้ออีก 59 คน ส่วนจำนวนพยาบาลทั่วประเทศ มี 142,494 คน

 

 

ขณะที่จำนวนเตียงที่จะรองรับผู้ติดเชื้อ และป่วยระยะรุนแรงที่ต้องรักษาในห้องความดันลบมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณผู้ป่วยโควิด

ยกตัวอย่างจากจำนวนเตียงคนไข้ใน ร.พ.สังกัดกระทรวง สาธารณสุขทั่วประเทศ แยกเป็นเตียง Bed capacity (เตียงรองรับผู้ป่วยทั้งหมด) 218 เตียง, Cohort ward เตียงแยกผู้ป่วยติดเชื้อ 143 เตียง Single isolation (ห้องแยกผู้ป่วย เดี่ยว) 50 เตียง และ AIIR (Airborne infection isolation room) ห้องสำหรับโรคติดต่อทางอากาศ ความดันลบ มีเพียง 25 เตียง 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ใน กทม. แม้จะมีเตียงรองรับผู้ป่วยทั้งหมด 58 เตียง แต่มีห้องสำหรับโรคติดต่อทางอากาศ ความดันลบ ซึ่งเป็นห้องสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เพียง 2 ห้องเท่านั้น แต่นับว่าโชคดีที่ยังมีห้องดังกล่าวในมหาวิทยาลัยอีก 29 ห้อง และ ร.พ.ในค่ายทหาร มี 14 เตียง แต่ ร.พ. เอกชนไม่มีทั้งห้องสำหรับโรคติดต่อทางอากาศ และห้องแยกผู้ป่วยเดี่ยว

มาตรการ social distancing หรือ ระยะห่างทางสังคม อาจดูได้ผลจริง แต่ก็ยังไม่มาก และไม่สามารถประเมินคนเหล่านั้นได้ว่าติดเชื้อจริงหรือไม่ เพราะบางรายไม่แสดงอาการ ดังนั้น การตรวจแบบปูพรมเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาการแพร่ระบาด แต่ในสถานการณ์ ณ ขณะนี้ บุคลากรทางการแพทย์ ของเรามีจำกัด และเหนื่อยหล้าจากภารกิจอันท้าทายนี้

ดังนั้น ถ้าคนไทยยังไม่คำนึงถึงตนเอง ครอบครัว และสังคมส่วนร่วม เราอาจจะอยู่กับโรคนี้ไปอีกนาน จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกัน ยารักษาที่พียง หรือทุกคนติดหมด แล้วมีภูมิคุ้มกันเอง... 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3564 หน้า 12 วันที่ 9 -11 เมษายน 2562