วิกฤติโควิดทุบเศรษฐกิจไทยสาหัส

06 เม.ย. 2563 | 23:45 น.

“ชัชชาติ” เผยส่งผลคนตกงาน 5 ล้านคน GDP ลดลง6% ชี้แก้ปัญหาโรคระบาดให้เด็ดขาด

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมาโพสต์ข้อความว่า วิกฤติโควิดครั้งนี้ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างรุนแรง มากกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 ในครั้งนั้นเรามีปัญหากับสถาบันการเงินและบริษัทใหญ่ๆที่มีการกู้เงินดอลลาร์จากต่างประเทศเยอะในขณะที่ภาคการเกษตร ภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออก ยังพอช่วยประคองเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะเมื่อค่าเงินบาทในตอนนั้นอ่อนลงอย่างมาก ทำให้เราส่งออกสินค้าต่างๆ และการท่องเที่ยวดีขึ้น

 

แต่มาวิกฤติครั้งนี้ ผลกระทบที่รุนแรงกลับเป็นด้านการท่องเที่ยว เกษตรกรรมและการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักสำหรับ GDP ของประเทศไทยในปัจจุบัน แถมวิกฤติครั้งนี้ยังส่งผลกระทบทั่วโลก แม้แต่ภาคการผลิตและส่งออกก็ชะลอตัวจากคำสั่งซื้อที่ลดลงด้วย ผลกระทบดังกล่าวจะมีผลต่อคนจำนวนมาก และอาจมีคนตกงานถึง 5 ล้านคน และ GDP ของปีนี้ลดลงมากกว่า 6%

 

วิกฤติโควิดทุบเศรษฐกิจไทยสาหัส

ณ เวลานี้ หัวใจที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยกู้วิกฤติของประเทศในครั้งนี้คือ มาตรการของภาครัฐ ที่ต้องเร่งดำเนินการในการช่วยเหลือคนและสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจในการเดินหน้าต่อไป จากที่ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ผมคิดว่าหัวใจสำคัญของมาตรการของรัฐคือ

 

1.ต้องแก้ปัญหาเรื่องการระบาดให้เด็ดขาด ต้นตอของวิกฤติคือการระบาดของไวรัสโควิด ถ้าระบาดไม่จบ วิกฤติไม่จบ ต้องให้ผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องโรคระบาดและการสาธารณสุขจริงๆ รับผิดชอบด้านนี้ เรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศที่ทำได้ดี เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์

 

2.การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ต้องมีขนาดใหญ่และเพียงพอต่อการช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจที่จำเป็น ตัวเลขที่หลายๆประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือสิงคโปร์ใช้ในขั้นต้นคือ 10% ของ GDP ซึ่งถ้าเราใช้มาตรฐานเดียวกันจะอยู่ที่ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งเรายังมีกรอบวงเงินหนี้สาธารณะที่สามารถใช้ได้ และไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากต่างประเทศ (IMF)

 

3. มาตรการต้องครอบคลุมประชาชนที่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม เกษตรกร ลูกจ้าง อาชีพอิสระ เจ้าของกิจการ โดยรัฐต้องคิดให้ครบถ้วน ไม่ใช่การคิดแยกส่วนเป็นแต่ละกระทรวง ทำให้เกิดความสับสน ว่าใครได้ ใครไม่ได้ ปัจจุบัน เกษตรกร ลูกจ้าง SMEs ดูแลด้วยคนละหน่วยงาน ไม่เห็นในภาพรวม ประชาชนจำนวนมากต้องมารอลุ้นว่าจะได้รับความช่วยเหลือหรือไม่

4. ต้องรวดเร็ว ทันความต้องการ การช่วยเหลือต้องรวดเร็ว ใช้ช่องทางที่มีประสิทธิภาพ เช่น กลไกต่างๆของภาคธุรกิจหรือเอกชนที่มีอยู่แล้ว หลีกเลี่ยงการตั้งหน่วยงานของรัฐที่อาจยังไม่พร้อมมาดูแล และเป็นการเพิ่มความโปร่งใส ลดขั้นตอน มีการเงื่อนไขกำหนดให้กว้าง ตรวจสอบได้และรวดเร็ว ค่าใช้จ่ายของประชาชนไม่ได้หยุด ความช่วยเหลือต้องลงไปให้เร็วที่สุด 

 

5. ต้องชะลอการเลิกจ้างให้มากที่สุด เมื่อแรงงานถูกเลิกจ้าง โอกาสจะกลับมาเข้าสู่ระบบยาก เสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูง ต้องพยายามช่วยให้ธุรกิจเลิกจ้างให้น้อยที่สุด เพราะสุดท้ายถ้าถูกเลิกจ้าง รัฐก็ต้องช่วยอยู่ดี แนวคิดเดียวกับการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย แทนที่จะมารักษาผู้ป่วย อาจอยู่ในรูปแบบที่รัฐช่วยออกเงินเดือนในบางส่วนและแตกต่างกันตามผลกระทบของแต่ละธุรกิจ เช่น ท่องเที่ยว โรงแรม การบิน ถูกกระทบมากกว่าธุรกิจอื่น

 

6. ต้องให้ความช่วยเหลือที่สอดคล้องกับความต้องการ เช่น สถานการฐณ์ปัจจุบัน ธุรกิจขนาดเล็ก SMEs อาจไม่ได้ต้องการ Soft Loan เพราะหนี้ปัจจุบันก็เยอะอยู่แล้ว เขาต้องการเงินช่วยเหลือมากกว่าการเพิ่มหนี้ หรือการช่วยรับภาระดอกเบี้ยให้ประชาชน และการชะลอการจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆไม่จำเป็นต้องเร่ง เพราะผู้รับเหมากับราชการได้รับผลกระทบน้อย งบประมาณต้องลงตรงประชาชนให้มากที่สุด

 

เวลานี้คือจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของอนาคตประเทศที่จะพลาดไม่ได้ กระสุนเรามีจำกัด ถ้ายิงพลาดเป้า ไม่มีโอกาสแก้ตัวแล้ว หวังว่าภาครัฐจะเลือกใช้คนที่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องเหล่านี้อย่างมืออาชีพและนำพวกเราผ่านวิกฤติไปได้