ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ เสนอให้สู้โควิด -19 ทั้งรับและรุก

06 เม.ย. 2563 | 02:48 น.

ศ. ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

ศ. พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์

 

กล่าวไปแล้วในคราวก่อนว่า ภรรยา ศ. พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ เสนอให้เราเอาคนหายป่วย ที่มีภูมิต้านทานที่ตัวเองสร้างขึ้น กลับมาทำงาน อย่าปล่อยให้ “เสียของ” นอนกักตัวเองอยู่ที่บ้าน เพราะบัดนี้เขา “แข็งแรง” ทนต่อโควิด ไม่แพร่โควิด เป็นคนที่จัดว่าปลอดภัยต่อสาธารณะมากกว่าคนทั่วไปที่กำลังใส่หน้ากากทำงานอยู่

 

วันนี้ เธอ เสนอ แผนการ “คร่าวๆ” ในการเอาคนเหล่านี้มาทำงาน และแบ่งประชากรไทยออกเป็นกลุ่มๆ ที่จะต้องปฏิบัติต่อเขาแตกต่างกัน และเป็นแผนในการฟื้นเศรษฐกิจด้วย “รุกคืน” ทางเศรษฐกิจด้วย แม้ตนเองจะเป็นหมอ แต่เธอก็เตือนพวกเราว่า “ไม่อยากให้เรากังวลกันแต่การตั้งรับทางสาธารณสุข”

 

เริ่มจากทุกชุมชนทุกท้องถิ่นจะต้องทำทะเบียนประชากรของตน โดยแบ่งคนเป็น 3 กลุ่ม:

กลุ่มที่ 1 กลุ่มคน”ปลอดภัย” ดังที่กล่าวมาแล้ว คือ คนที่มีภูมิคุ้มกันโรคและปลอดเชื้อโควิด-19  โดยต้องได้รับการยืนยันว่ามีภูมิต้านทาน(antibody)  และ ไม่มีเชื้อโควิด-19 (antigen) แล้ว  เอาเขามาเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมให้เข้าสู่ภาวะปกติ และเลือด (พลาสม่า) ของเขายังจะเป็นแหล่งช่วยสนับสนุนการผลิตเซรุ่มในการช่วยรักษาโรคให้คนไข้คนอื่นๆ  ได้ด้วย
                 

คนเหล่านี้มีมากกว่าที่เรามีในสถิติ คือมีคนที่รักษาหายแล้ว 674 เมื่อวันที่ 5 เมษายน นี้ แต่ในความเป็นจริงต้องมีจำนวนมากกว่านั้น เพราะในหนึ่งคนที่มีรายงานว่าเป็นโรค จะมีคนที่เป็นโรคแต่ไม่มีใครทราบอยู่ ประมาณ 6 เท่า ของผู้ที่ตรวจว่ามีเชื้อโควิด-19 คือราว 13,000 คน ต้องควานหาคนเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด ด้วยการตรวจ antibody พวกเขาครับ
                

ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์  เสนอให้สู้โควิด -19  ทั้งรับและรุก

 

กลุ่มที่ 2 กลุ่มคน”ปลอดเชื้อ” คือคนที่ยังไม่เคยติดเชื้อ แต่ก็แน่นอนคือยังไม่มีภูมิคุ้มกัน  คนเหล่านี้ คือคนส่วนใหญ่ในสังคม ก็ให้เขาปฏิบัติหลักการ Social distancing อย่างเข้มงวด ต่อไป
                

กลุ่มที่ 3 กลุ่มคนที่ “เป็นโรค” คนเหล่านี้ต้องถูกกักกันอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้ไปปล่อยเชื้อโควิด-19 ให้กับคนอื่น คนที่เป็นน้อยๆ ต้องกักตัวประมาณ 14-21 วัน ก็จะมีภูมิคุ้มกันแล้ว หลังจากนั้นตรวจหาเชื้อโรค (antigen) ถ้าไม่มีก็สามารถเลื่อนเป็นกลุ่ม “ปลอดภัย” ได้ ส่วนคนที่มีอาการหนัก เรารักษาให้เต็มที่ ช่วยชีวิตให้ได้มากที่สุด

 

ควบคู่กันไป นะครับ เธอแนะให้พวกเราช่วยวางแผนการขับเคลื่อนประเทศเราให้กลับสู่ภาวะปกติทางเศรษฐกิจ ในขณะที่โควิดยังระบาด หรือเริ่มซาลงไปบ้าง เราจะมุ่งเป้าไปที่ส่วนไหน เรื่องอะไร มากที่สุด ยกตัวอย่าง :
              

หากต้องการให้ความมั่นใจในการดูแลคนเปราะบาง หมายถึงคนแก่ คนที่มีโรคอันตรายอื่นๆ อยู่แล้วให้ปลอดภัยสูงสุด ก็ให้เลือกคัดเอาคนจากกลุ่มที่ 1 และ กลุ่มที่ 2 มาทำการเรียนรู้เพิ่มเติม สร้างให้เป็นผู้บริบาลผู้สูงอายุ และ ผู้ดูแลผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโควิด-19 
              

หรือ หากเราต้องการกู้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยเร็ว  ก็เลือกเมืองจำนวนหนึ่งมาเป็นเมืองปลอดโควิด-19  ควบคุมการเข้าออกเมืองเหล่านี้ให้เข้มงวด เช่น หัวหิน พัทยา ภูเก็ต สมุย กระบี่ เชียงใหม่ สุโขทัย เป็นต้น แล้วเอาคนกลุ่มที่ 1 และ 2 เข้าสู่ภาคบริการ เช่น คนขับรถ ไกด์ เจ้าหน้าที่บริการในโรงแรม ร้านอาหาร และอื่นๆ  ในทางกลับกัน คนที่จะมาท่องเที่ยวในเมืองเหล่านี้ได้ต้องเป็นคนที่ได้รับการ”รับรอง”ว่าปลอดโควิด-19 แน่นอน ทำที่พักดีๆ เป็นขั้นเป็นตอนก็ได้ เช่น เริ่มจากโรงแรมที่บริการดีให้คนที่จำเป็นมากักตัวเองในช่วง quarantines 14 วัน และต่อด้วยโรงแรมสำหรับคนปกติทั่วไปที่มาเที่ยวมาทำงาน ทำแบบนี้จะได้แต่นักท่องเที่ยวคุณภาพดีที่ปลอดจากโควิด

 

หรือ เมืองที่ทำการค้าขายเป็นหลักคนเหล่านี้ ต้องใช้คนในกลุ่มที่ 1 มาทำเท่านั้น เพราะเขามีภูมิต้านทานโรคอยู่แล้ว แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าสร้างบรรยากาศการค้าขายแบบโชว์ของโดยระบบ digital เป็นหลักและส่งเสริมการซื้อขายออนไลน์ 

 

สุดท้าย คุณหมอจิรพรย้ำว่า รัฐบาลและแต่ละเมือง แต่ละชุมชน จะต้องเอาไปประยุกต์ใช้ ดูว่าแต่ละที่จะทำอะไรได้มากน้อยเพียงไร เป็นไปได้แค่ไหน  ทุกฝ่ายจะต้องคิดถึงโอกาส ด้วย อย่าจมอยู่กับอุปสรรค แต่ที่เธอพูดอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะให้เราทำกันอย่างประมาท เธอฝากว่าขอให้ทำอย่างดีที่สุดก็แล้วกัน ปิดช่องโหว่ให้มากที่สุด และถ้าเกิดมีปัญหาขึ้นมาในระหว่างปฏิบัติ ก็ต้องรีบปรับปรุงหรือแก้ไขต่อไป

 

ฟังดูแล้ว ก็น่าคิดตาม น่าเอาไปลองทำดูนะครับ ใครคิดต่อเติมเสริมให้ดีกว่านี้ได้ ก็เชิญเลยครับ ด้วยความห่วงใยในคนไทยด้วยกัน !