ถอดรหัส มท.สั่งผู้ว่าฯยกระดับสู้โควิด

06 เม.ย. 2563 | 01:46 น.

* วันที่ 5 เมษายน ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 102 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รักษาหายเพิ่ม 62 ราย ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสม 2,169 ราย รักษาหายรวม 674 ราย เสียชีวิตรวม 23 ราย * คนไทยในต่างประเทศเดินทางกลับไทย พบมีผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่ง * สถิติผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดสูงขึ้น ครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ ภูเก็ตยอดผู้ป่วยพุ่งติดอันดับ 3 รองจาก กทม.และนนทบุรี * มหาดไทยสั่งการทุกจังหวัดพร้อมยกระดับปฏิบัติการสู้ไวรัสโควิด-19 เตรียมมาตรการและดูแลประชาชน

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น แม้ประชาชนส่วนใหญ่จะอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ขณะรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เพิ่มความเข้มข้นอย่างมีขั้นตอน ล่าสุดประกาศห้ามออกนอกบ้านในเวลา 22.00-04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน หลังมาตรการล็อกดาวน์ ปิดสถานบริการ ห้างร้านทั้งหมดเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อและร้านอาหารแผงลอยแต่เน้นนำกลับไปรับประทานที่บ้าน เพื่อลดความหนาแน่น ลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา

 

ถอดรหัส มท.สั่งผู้ว่าฯยกระดับสู้โควิด

 

ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ไต่ระดับจากไม่เกินสิบในช่วงต้นที่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุเริ่มปรากฏตัว มาถึงจุดผกผันเมื่อพบผู้ติดเชื้อจากสนามมวยลุมพินี จากสถานบันเทิง และร่วมพิธีทางศาสนา ดันยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็นหลายสิบและทะลุร้อย บวกกับคนไทยที่ทำงานในกรุงเทพมหานครและจากต่างประเทศหนีโควิด-19 กลับบ้านเกิดในต่างจังหวัด ส่งผลให้สถานการณ์การแพร่ระบาดจากที่มีเพียงกรุงเทพมหานครและไม่กี่จังหวัด วันนี้กระจายไป 66 จังหวัดแล้ว 

 

ที่สุดกระทรวงมหาดไทยโดยนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวง ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมกำหนดมาตรการและดูแลประชาชน กรณีการยกระดับปฏิบัติการยับยั้งโควิด-19 โดยให้จัดเตรียมพื้นที่รองรับการกักกันตัวของจังหวัด (Local Quarantine) ให้มีความพร้อม โดยสามารถพิจารณาใช้พื้นที่ของภาคเอกชนได้ ทั้งในส่วนที่จัดทําเป็นสถานที่กักกันตัว โรงพยาบาลสนาม คลังเก็บอาหาร เครื่องดื่ม จุดรับบริจาค จุดประชาสัมพันธ์ให้ข่าวรวมทั้งกําหนดผู้ให้ข่าวที่ชัดเจน หากจังหวัดใดมีข้อจํากัดเรื่องงบประมาณในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ให้รีบรายงานกระทรวงมหาดไทย เพื่อจะได้ดําเนินการขยายวงเงินต่อไป

ก่อนนั้นหลังประกาศตัวเลขผู้ป่วยใหม่ล่าสุด ณ วันที่ 5 เมษายน เพิ่ม 102 ราย หลังจากต่ำ 100 มาหลายวัน กระทั่งรศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีความห่วงกังวลต่อจำนวนผู้ป่วยใหม่ที่เพิ่มขึ้น

 

“ตอนนี้เรามีคนไข้หนักที่ต้องนอนแอดมิตในไอซียูอยู่เกือบๆ 100 เตียง โดยเราเหลือจำนวนเตียงที่จะรองรับได้อีกไม่มาก แต่ขอไม่เปิดเผยตัวเลข”

 

ทุกหน่วยงานพยายามกันอย่างเต็มที่เพื่อจะขยายเตียงไอซียูเพื่อรองรับผู้ป่วยหนักให้มากที่สุดเท่าที่เราสามารถจะทำได้

 

แต่ต้องเข้าใจกันด้วยว่า การขยายเตียงไอซียูนั้น ไม่ใช่แค่หาพื้นที่ หาเตียง หาเครื่องมือเครื่องไม้อย่างเครื่องช่วยหายใจและหยูกยาเท่านั้น สิ่งที่เป็นปัญหาหนักคือ เรามีบุคลากรแพทย์พยาบาล และบุคลากรสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยหนักจำกัดมาก ถึงมีเตียงมีอุปกรณ์แต่คนดูแลไม่พอ ยังไงก็ไม่สามารถดูแลผู้ป่วยหนักได้

 

“ตามที่วางแผนกันอย่างเต็มที่ เราพอจะขยายเตียงและเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยหนักได้บ้าง ตามกำหนดจะขยายได้ภายในปลายเดือนนี้และปลายเดือนหน้า เพราะต้องจัดเตรียมสิ่งต่างๆ มากมาย”

 

จึงเสนอยุทธศาสตร์การต่อสู้ในระยะสั้นของไทยนั้น ขั้นต่อไปคือมุ่งที่จะเสริมความเข้มข้นของมาตรการเพื่อให้แตะเส้น 10% ให้ได้โดยเร็วภายใน 2-3 สัปดาห์ถัดจากนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเตียงไอซียูไม่เพียงพอ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ จึงอยากให้รัฐบาลและประชาชนต้องช่วยกันซื้อเวลาให้ระบบสาธารณสุขของเราสามารถจัดเตรียมการขยายให้ได้ทัน

ถอดรหัส มท.สั่งผู้ว่าฯยกระดับสู้โควิด

กองทัพก็ออกมาบอกว่าเตรียมพื้นที่ที่พร้อมปรับและสร้างโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด รวมทั้งเตรียมพื้นที่คลังเก็บสินค้าด้วย

 

นี่สะท้อนว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ไม่น่าไว้วางใจ และไม่แน่ว่าเร็วๆนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาจยกระดับมาตรการขั้นสุด นั่นคือประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ตามที่เคยบอกไว้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ระบุในหนังสือสั่งการผู้ว่าฯ ในข้อปฏิบัติที่ 2  

 

ชี้แจงทําความเข้าใจกับประชาชน และทุกภาคส่วนถึงความจําเป็นในการปฏิบัติการ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยให้ประชาชนอยู่ในที่พํานักไม่เคลื่อนย้าย/เดินทาง อีกทั้งมอบหมายภารกิจหน้าที่แก่ส่วนราชการ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ปกครองท้องที่ ถึงภารกิจและแนวทางการปฏิบัติงาน ตลอดจนกําหนดแผนเผชิญเหตุและซักซ้อมแนวทาง การปฏิบัติให้มีความเข้าใจร่วมกัน

 

รวมทั้งวางมาตรการควบคุมการกักตุนสินค้า หากพบการกระทำผิด ดำเนินตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตลอดจนวางแผนจัดระบบการขนส่งสินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค สิ่งของจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน มีการกำหนดจุดบริการอาหาร เครื่องดื่ม เพื่อดูแลประชาชน ถึงระดับหมู่บ้านและชุมชน

 

ถือเป็นการส่งสัญญาณชัดว่าจากนี้ไปรัฐบาลจะสู้กับไวรัสโควิดอย่างเต็มรูปแบบ หวังให้การแพร่ระบาดอยู่ในขอบเขตที่ทีมแพทย์สามารถควบคุมได้ ที่สำคัญหวังจะจบศึกในเวลารวดเร็วเพื่อให้สังคมและเศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าต่อไป