ภัยจากโควิด ทำเศรษฐกิจยับเยิน

05 เม.ย. 2563 | 09:01 น.

อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยบทความ ภัยจากโควิด ทำเศรษฐกิจยับเยิน พร้อมแนะรัฐฯใช้มาตรการด้านการคลังและการเงินอย่างรวดเร็วเพื่อบรรเทาผลกระทบ

ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนบทความเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก “ภัยจากโควิด  ทำเศรษฐกิจยับเยิน” ระบุว่า


“ผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจมีความรุนแรงและฉับพลันอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นในนิวยอร์กลดลงได้ถึง 35% ภายในเวลา 2 เดือน  จะทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัว 2.2% คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะหดตัว 5.3% จะสาหัสสากรรจ์ไม่แพ้วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว”

 

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปีนี้กลายเป็นวิกฤตการณ์ที่ทำให้โลกเสียหายอย่างรุนแรงมาก

 

ในอดีต โลกเคยเผชิญกับการระบาดอย่างรุนแรงของโรคร้ายต่างๆ มาหลายครั้งหลายครา เมื่อ 670 ปีที่แล้ว มีกาฬโรคระบาดครั้งใหญ่ (The Black Death) คร่าชีวิตผู้คนในยุโรปไปเป็นจำนวน 20 กว่าล้านคน คิดเป็นเกือบหนึ่งในสามของประชากรของยุโรปในยุคนั้น

 

ในช่วงปี ค.ศ. 1817 ถึง 1824 เกิดอหิวาตกโลกเริ่มในอินเดีย แล้วระบาดไปทั่วเอเชีย อัฟริกาตะวันออก และแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นผลทำให้ผู้คนล้มตายไปหลายล้านคน โรคนี้ระบาดเข้ามาในประเทศไทยซึ่งตรงกับยุคสมัยรัชกาลที่สอง ทำให้มีคนตายในกรุงเทพฯ มากถึงประมาณ 30,000 คน ซึ่งก็นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประชากรในกรุงเทพฯ ขณะนั้นประมาณหนึ่งถึงสองแสนคน ว่ากันว่ามีคนตายมากจนเผาไม่ทันต้องกองศพไว้ที่วัดสระเกศและปล่อยให้ “แร้งวัดสระเกศ” มาทึ้งศพเหล่านั้น

 

ในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ. 1918-1919) มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่เรียกว่า Spanish flu ทำให้ผู้คนล้มตายไปหลายสิบล้านคน ส่วนใหญ่ในยุโรป  โรคนี้ระบาดเข้ามาในประเทศไทยด้วย โดยกระทรวงมหาดไทยในยุคนั้นรายงานว่าในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2461 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2462 มีคนไทยติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่มากถึง 2.5 ล้านคน (27% ของประชากรสมัยนั้น) ตายประมาณ 9 หมื่นคน (3.5% ของจำนวนผู้ป่วย) 

 

ในศตวรรษที่ 21 โรคระบาดร้ายแรงส่วนใหญ่เกิดจากไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งถึงแม้ว่าจะแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็วกว่าเดิม แต่ผู้ป่วยที่เสียชีวิตก็มีจำนวนลดลงมากเมื่อเทียบกับในอดีต ตัวอย่างเช่น การระบาดของ SARS (2002-03) และ MERS (2015-ปัจจุบัน) คร่าชีวิตมนุษย์ไปไม่กี่พันคน ทั้งนี้  คงเป็นเพราะเทคโนโลยีในการป้องกันและรักษาโรคระบาดเหล่านี้ดีขึ้น 

 

สถานการณ์ในช่วงสี่เดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนจะชี้ให้เห็นว่าไวรัสโควิด-19 สามารถแพร่เชื้อไปได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางมากกว่าไวรัสตัวอื่นที่โลกเคยเผชิญมาก่อน  โดยมีจุดเริ่มในปลายปีที่แล้วที่เมืองหวู่ฮั่นของจีน และภายในไม่ถึงสามเดือนก็แพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมไม่น้อยกว่า 170 ประเทศ

 

ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ (วันที่ 5 เมษายน 2563) จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกสูงกว่า 1.2 ล้านคนแล้ว และมีคนตายจากการติดเชื้อกว่า 60,000 คน จะเห็นได้ว่า ถึงแม้อัตราการตายอาจจะยังไม่สูง แต่อัตราการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อสูงมากเป็นทวีคูณ และยังไม่มีแนวโน้มลดลง

 

ผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะสั้น เกิดจากความพยายามและมาตรการของภาครัฐในประเทศต่างๆ ที่จะระงับและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยระดมใช้ทรัพยากรด้านสาธารณสุขไปในการตรวจหาเชื้อและการรักษาพยาบาลผู้ป่วยเพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยล้มตายจากโรคระบาด นอกจากนั้น ยังมีการจำกัดหรือห้ามการเดินทาง/เคลื่อนย้ายของผู้คน (การปิดเมือง หรือ lockdown) รวมทั้งการสร้างระยะห่างในสังคม (social distancing)   ซึ่งเหล่านี้เริ่มก่อนที่จีน  แล้วขยายวงออกไปในประเทศอื่นๆ ที่ได้รับเชื้อในเวลาต่อมา


สาขาเศรษฐกิจแรกที่ได้รับผลกระทบคือการท่องเที่ยวระหว่างประเทศและกิจการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สายการบิน  บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ต่อมามาตรการ “ปิดเมือง” ทำให้สถานศึกษา สถานบันเทิง และร้านค้าอื่นๆ ต้องปิดกิจการเพิ่มเติม ก่อให้เกิดการว่างงานทันทีเป็นจำนวนมาก  

 

ในสหรัฐฯ ปรากฏว่ามีผู้ว่างงานยื่นขอเงินประกันสังคมการว่างงานในสัปดาห์ที่ 3 และ 4 ของเดือนมีนาคมเป็นจำนวนมากถึง 10 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ 

 

ในประเทศไทย จนถึงวันที่ 4 เมษายนนี้ มีผู้ลงทะเบียนขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล (จ่ายเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน) เป็นจำนวนมากถึงกว่า 20 ล้านคน ทั้งนี้ ยังไม่รวมแรงงานในระบบประกันสังคมที่จะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนประกันสังคมอีกหลายล้านคน

 

ผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจมีความรุนแรงและฉับพลันอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน Nouriel Roubini นักเศรษฐศาสตร์ที่เคยพยากรณ์วิกฤติเศรษฐกิจในอดีต ได้ตั้งข้อสังเกตว่าโควิด-19 นี้มีผลทำให้ดัชนีตลาดหุ้นในนิวยอร์คลดลงได้ถึง 35% ภายในเวลา 2 เดือน เทียบกับในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่ดัชนีหุ้นนิวยอร์คลดลง 30% ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี

 

Economist Intelligent Unit พยากรณ์ว่าโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัว 2.2% ในปีนี้ โดยประเทศส่วนใหญ่จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและหดตัวตั้งแต่ต่ำกว่า 1% ไปจนถึง 7% ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยเองในปีนี้จะหดตัว 5.3% วิกฤติเศรษฐกิจปีนี้ดูจะสาหัสสากรรจ์ไม่แพ้วิกฤติแฮมเบอเกอร์เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว

 

เพื่อบรรเทาปัญหาการว่างงานและการปิดกิจการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง รัฐบาลของประเทศที่ได้รับผลกระทบได้ใช้มาตรการทางการคลังเพื่อชดเชยรายได้ของผู้ว่างงาน และให้เงินช่วยเหลือแก่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในรูปของเงินให้เปล่า การลดหย่อนภาษี และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รัฐบาลไทยเพิ่งออกมาตรการเพื่อชดเชยผลกระทบของโควิด-19 โดยใช้เงินทั้งหมดรวมกันมากกว่า 1.6 ล้านล้านบาท รัฐบาลสหรัฐฯ ก็เพิ่งออกมาตรการในลักษณะเดียวกันและใช้เงินทั้งหมดมากถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นจำนวนเงินช่วยจากภาครัฐที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศ

 

ธนาคารกลางของหลายประเทศเร่งเสริมสภาพคล่องทางการเงิน โดยลดดอกเบี้ยนโยบาย (ซึ่งก็ต่ำอยู่แล้ว) และอัดฉีดเงินเข้าระบบเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อเอื้ออำนวยต่อการกู้ยืมของธุรกิจและผู้บริโภคซึ่งอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่

ผมเห็นด้วยกับมาตรการของรัฐที่จะลดผลกระทบและเยียวยาผู้เสียหายจากโควิด-19 ซึ่งต้องถือว่าเป็นภัยธรรมชาติที่อุบัติขึ้นอย่างไม่คาดคิดมาก่อน รัฐบาลควรจะใช้มาตรการทางด้านการคลังและการเงินอย่างรวดเร็วและในขนาดที่มากพอที่จะบรรเทาผลกระทบได้ เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยล้มตายจากโรคระบาด และการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมที่อาจจะบานปลายออกไปได้

 

อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่ามาตรการเหล่านี้จะทำให้ภาระหนี้ทั่วโลกสูงขึ้นอย่างมาก ธนาคารโลกเพิ่งเตือนไว้เมื่อต้นเดือนมกราคมปีนี้ว่า ภาระหนี้โดยรวมของโลกอยู่ในระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์คือประมาณ 230% ของจีดีพีโลก เฉพาะหนี้ในประเทศกำลังพัฒนาก็มีภาระสูงถึง 170% ของจีดีพี ซึ่งอยู่ในระดับที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ทางการเงิน เช่นที่เกิดขึ้นในอดีตมาแล้วหลายครั้ง

 

แต่ตอนนี้คงไม่ใช่เวลาที่จะมาถกเถียงกันว่ารัฐบาลจะต้องขาดดุลและกู้ยืมมากขึ้นดีหรือไม่ เพราะผมเห็นว่ารัฐบาลของทุกประเทศมีภาระหน้าที่ที่จะต้องยื่นมือเข้ามาแทรกแซงและแก้ไขสถานการณ์ให้ผ่านพ้นปัญหาโรคระบาดนี้ไปก่อน

 

คำถามยอดฮิตตอนนี้ก็คือ “เมื่อไหร่โควิด-19 จึงจะหมดไปเสียที?” คงยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ตราบใดที่ตัวเลขการติดเชื้อยังพุ่งขึ้นทุกวัน

 

ประสบการณ์ในเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ ที่เผชิญกับการระบาดของ Spanish flu เมื่อ 100 ปีก่อน ชี้ให้เห็นว่า การใช้มาตรการ social distancing ทำให้อัตราการตายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  กรุงนิวยอร์กเป็นเมืองแรกๆ ที่นำเอามาตรการนี้มาใช้แต่เนิ่นๆ และใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน  เมืองส่วนใหญ่มีจุดสูงสุด (peak) ของจำนวนคนตายจากโรคระบาดประมาณ 6 - 8  สัปดาห์นับจากวันแรกที่มีรายงานจำนวนคนตาย และสามารถลดการตายลงเหลือใกล้ศูนย์ภายในสัปดาห์ที่ 24 หรือ 6 เดือน

 

ถ้าเรามองโลกในแง่ดี ก็น่าเชื่อได้ว่ามาตรการ social distancing และเทคโนโลยีด้านการแพทย์ในปัจจุบันคงใช้ได้ดีกว่าเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ซึ่งก็หมายความว่า สำหรับประเทศไทยที่เริ่มมีการติดเชื้อประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ เราก็น่าจะผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปได้ภายใน 5 - 6 เดือนหลังจากนั้น คือไม่เกินกลางเดือนสิงหาคมนี้

 

ในระหว่างนี้ ขอให้พวกเราร่วมมือกับมาตรการ social distancing โดย “อยู่บ้าน ลดเชื้อ เพื่อชาติ”  อีกทั้งส่งกำลังเงินและกำลังใจไปช่วยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้พวกเราทุกคนได้อยู่รอดปลอดภัย