โควิดระบาด แต่ศูนย์กำไล EM ศาล ทำงาน 24 ชม.

05 เม.ย. 2563 | 04:14 น.

ศูนย์กำไล EM ยกระดับสิทธิพื้นฐานประกันตัว ผู้ต้อง-จำเลย ยังทำงานต่อเนื่องป้องกันเหยื่ออาชญากรรม ดูแลคุมจำกัดพื้นที่

 

นายสราวุธ เบญจกุล

 

วันที่ 5 เม.ย.63 นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 (COVID-19) รวมถึงการบังคับใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แต่ในส่วนของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลยซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 

 

โดยเฉพาะการทำงานของเจ้าหน้าที่ภายในศูนย์ควบคุมการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของบุคคลในการปล่อยชั่วคราวหรือที่เรียกว่า "ศูนย์ EM" ที่ทำหน้าที่มอนิเตอร์การใช้งานกำไลติดข้อเท้า EM ตามที่ศาลสั่งให้ติดผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งเป็นการยกระดับคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลย ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัวให้สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงเหยื่ออาชญากรรมและความสงบสุขของสังคม ด้วย โดยเจ้าหน้าที่ยังคงทำหน้าที่มอนิเตอร์ การใช้งานกำไลติดข้อเท้า EM ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด เพื่อให้การจำกัดเขตพื้นที่หรือช่วงเวลาการเดินทางให้เหมาะสมต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป จากข้อมูลของศูนย์ EM ณ วันที่ 4 เม.ย. 63 ศาลทั่วประเทศได้มีคำสั่งให้ใช้ EM แก่ผู้ต้องหา/จำเลย รวม 3,668 เครื่อง

 

นายสราวุธ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ศาลแพ่งมีนบุรี ก็เป็นอีก 1 ศาลที่มีคำสั่งให้เลื่อนคดีจัดการพิเศษ และคดีนัดสืบพยานต่อเนื่องออกไปก่อน ซึ่งอาจจะกระทบทนาย คู่ความ และประชาชน ที่มาใช้บริการศาลแพ่งมีนบุรี


โดยในส่วนของการบริหารจัดการคดีศาลยุติธรรมก็ได้พยายามไม่ให้เกิดผลกระทบการชะลอ หรือการชะงักทางคดี ดังนั้นคู่ความสามารถตรวจสอบวันนัดตามคำสั่ง แจ้งยืนยันวันนัด หรือขอเปลี่ยนแปลงวันนัดได้ ภายในวันที่ 8 เม.ย.63 ส่วนคดีที่นัดฟังคำพิพากษา , คำสั่ง หรือคำวินิจฉัย คู่ความไม่จำต้องเดินทางมาศาล และหากต้องการใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกา สามารถยื่นได้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่เบอร์ 02-171-4111 ต่อ 1216 , 1217 , 1513 หรือ 089-201-0711 หรือเว็บไซต์ศาลแพ่งมีนบุรี https://civilmbc.coj.go.th/ 

 

อย่างไรก็ตาม คดีศาลแพ่ง เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ หรือทุนทรัพย์ ซึ่งประชาชนอาจจะมีความกังวล ดังนั้นศาลยุติธรรม ได้สนับสนุนใช้เทคโนโลยีสารสนเทศรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ หรือ D-Court มาสนับสนุนการทำงานของศาล และสร้างความสะดวกให้กับคู่ความในคดี เช่น การใช้ระบบยื่นฟ้องคดีแพ่ง-ส่งคำให้การ-เอกสารผ่านระบบ e-Filing เป็นต้น ซึ่งเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนอีกรูปแบบ โดยไม่ต้องเดินทางมาศาล